ระเบียบใหม่ว่าด้วยการจัดจำแนก ปิดฉลาก และบรรจุหีบห่อสารเคมีของ EU

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2009 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 หน่วยงานจัดการสารเคมีสหภาพยุโรป (ECHA) เปิดรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะต่อข้อเสนอการจัดจำแนกสารเคมีตามระเบียบว่าด้วยการจัดจำแนกและปิดฉลากสารเคมีและบรรจุหีบห่อสารเคมี (Regulation on Classification, Labelling and Packaging of Substances and Mixtures : CLP) เป็นเวลา 45 วัน ตามข้อเสนอของฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ จำนวน 4 รายการ ดังนี้ 1.) Di-tert-butyl-peroxide กรณีที่ใช้เป็นตัวเชื่อมของ Polymer Chains ใน Polymer Synthesis หรือการใช้เป็นสารตั้งต้นในการก่อให้เกิดปฏิกิริยา Polymerization Reaction โดยฝรั่งเศสได้เสนอให้จัดจำแนกอยู่ในกลุ่มสารพิษต่อระบบสืบพันธุ์ 2.) Gallium Arsenide กรณีที่ใช้การผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็ก- ทรอนิกส์ โดยฝรั่งเศสเสนอให้จัดจำแนกอยู่ในกลุ่มสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ Carcinogen Category 3 และเป็นสารพิษเนื่องจากเป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพหากมีการสัมผัสได้รับสารเป็นเวลานาน 3.) Indium Phosphide กรณีที่ใช้เป็นสารประกอบ Semiconducting ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยฝรั่งเศสเสนอให้จัดจำแนกอยู่ในกลุ่มสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสารพิษ เนื่องจากเป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพหากมีการสัมผัสได้รับสารเป็นเวลานาน 4.) Trixylyl Phosphate กรณีที่ใช้ในรูปของ Hydraulic Fluid ในอุตสาหกรรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยเนเธอร์แลนด์เสนอให้จัดจำแนกอยู่ในกลุ่มสาร เช่นเดียวกับ Indium Phosphide ตามข้อ 3.) นอกจากนี้ หากข้อเสนอการจัดจำแนกสารข้างต้นผ่านขั้นตอนการตัดสินใจให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว รายชื่อสารดังกล่าวจะถูกบรรจุไว้ในรายชื่อสาร Harmonized Classifications ในภาคผนวก 5 ส่วนที่ 33 ของระเบียบ CLP อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บริษัท Suppliers ของสารเคมีและส่วนผสมสารดังกล่าว มีพันธะตามกฎหมายในการประเมินความเป็นอันตรายของสารเคมีและการจัดจำแนกพร้อมทั้งปิดฉลากให้เหมาะสมก่อนวางจำหน่ายในตลาด EU แต่ประเทศสมาชิกหรือภาคอุตสาหกรรมอาจร้องขอให้มีการปรับรายชื่อสารเคมีได้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ กรณีที่ 1 หากสารเคมีเข้าข่ายเป็นสารอันตรายประเภท Carcinogenic, Mutagenic, Toxic for Reproduction และ/หรือ a Respiratory Sensitizer กรณีที่ 2 หากจัดเป็นสารชีวฆาต (Biocide) หรือยาฆ่าแมลง/ปราบศัตรูพืช (Pesticide) กรณีที่ 3 หากมีความจำเป็นต้องปรับการจัดจำแนกสารเคมีให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งสหภาพยุโรป เมื่อผู้จัดจำหน่ายได้จัดจำแนกสารเคมีชนิดเดียวกันให้อยู่ในประเภทที่แตกต่างกันหรือมีการจัดแบ่งไม่ถูกต้อง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสารเคมีไปยังตลาด EU ควรศึกษาและติดตามความคืบหน้าของระเบียบ CLP รวมทั้งประสานแจ้งผู้นำเข้าให้ปฏิบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดของระเบียบดังกล่าว โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามความคืบหน้าของฉบับนี้ ได้ที่เว็บไซต์ http://echa.europa.eu/ consultations/harmonised _cl _en.asp

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ