สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเปิดแผนเชิงรุก เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยแข่งขันในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2009 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์ เผยผลสำเร็จโครงการพัฒนา “Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์” ได้รับรางวัล DE Mark จากกรมส่งเสริมการส่งออก พร้อมสานต่อ “Pilot Plant” และส่งเสริมคลัสเตอร์สิ่งทอทั่วประเทศ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยผลสำเร็จของโครงการ “นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์” พร้อมเร่งสานต่อโครงการโรงงานต้นแบบสิ่งทอในอุตสาหกรรมฟอกย้อม (Pilot Plant) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์สิ่งทอในจังหวัดสำคัญทั่วประเทศ คาดช่วยเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ล่าสุดเตรียมนำหลากหลายนวัตกรรมสิ่งทอฝีมือคนไทยอย่างเส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมผงถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวและเส้นใยกล้วย ซึ่งได้รับรางวัล Prime Minister Award กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอที่มีการออกแบบดี (DE Mark) จากกรมส่งเสริมการส่งออก โชว์ในงาน BIFF & BIL 2009 กลางเดือนสิงหาคมนี้ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า งานเร่งด่วนของสถาบันฯ คือ การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ตามแผนแม่บทปี 2551-2555 โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ ได้แก่ โครงการ “นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์” โครงการโรงงานต้นแบบสิ่งทอในอุตสาหกรรมฟอกย้อม (Pilot Plant) โครงการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานในส่วนภูมิภาค โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งทอเชิงลึก เป็นต้น สำหรับการดำเนินโครงการ “นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์” ในปี 2551 ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนค้นคว้าและวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย และวัตถุดิบในประเทศ มีส่วนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์ไหมใยสั้น (spun silk yarn) และการตกแต่งสำเร็จด้วยกาวไหม (sericin) ซึ่งใช้ผลิตเสื้อโปโลหลายรูปแบบ, ผลิตภัณฑ์เส้นใยไนล่อนยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย, ผลิตภัณฑ์ผ้าเฟอร์นิเจอร์พีพี (polypropylene) ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียรายแรกของไทย, ผลิตภัณฑ์ผ้าเคลือบสมุนไพรและซิงค์นาโนกันไรฝุ่นระดับ 300 เส้น/นิ้ว รายแรกของโลก, และโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมผงถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นช่วยดูดกลิ่นและดูดความชื้น และเส้นใยกล้วย ซึ่งมีความมันเงาสวยงาม สามารถนำไปปั่นผสมกับเส้นใยอื่นได้อย่างหลากหลายและผลิตเป็นเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีจุดขายในแง่การเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติได้ ทั้งนี้ เส้นใยทั้งสองชนิดได้รับรางวัล Prime Minister Award กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอที่มีการออกแบบดี (DE Mark) และจะเข้าร่วมประกวดรางวัล G-mark ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป ผล งานต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปจัดแสดงในงาน BIFF & BIL 2009 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย ในส่วนของโครงการ Pilot Plant ซึ่งเป็นโครงการ 3 ปี และได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบสิ่งทอ ฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่ง เพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ รวมถึงเพื่อร่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำสินค้าตัวอย่าง ซึ่งเป็นทางเลือกในการลองผิดลองถูกที่มีต้นทุนต่ำและคุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตผ้าฟอกย้อม รวมไปถึงผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็สามารถใช้บริการได้จากเครื่องจักร garment dyed (ตัดเย็บแล้วเสร็จก่อนนำมาฟอกย้อมสีภายหลัง) ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจใช้บริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การให้บริการของทางสถาบันฯ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใดๆ และสูตรสีที่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกใช้จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างเคร่งครัด นวัตกรรมที่เป็นผลจากความสำเร็จของโครงการนี้ ซึ่งจะนำไปจัดแสดงในงาน BIFF & BIL 2009 เช่นกัน ได้แก่ ผ้ากัญชง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตัดเย็บรองเท้าผ้าใบ converse ซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลก ผ้าตกแต่งสำเร็จด้วยไคโตซานสกัดจากเปลือกกุ้ง ที่ใช้ผลิตชุดชั้นในแอนไทแบคทีเรีย กรีนเท็กซ์ไทล์ จากเส้นใยกล้วย ซึ่งมีรางวัลจากกรมส่งเสริมการส่งออกประกันคุณภาพ เสื้อลายพราง เป็นต้น “ทางสถาบันฯ มีเครื่องมือและอุปกรณ์ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า lab scale ไว้ให้บริการอย่างครบครัน ความสะดวกดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานวิจัย ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าได้รวดเร็วและหลากหลายขึ้นด้วยต้นทุนที่ควบคุมได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการวิจัยและพัฒนาสินค้าเชิงพาณิชย์ ประโยชน์ในอีกด้านหนึ่ง คือ ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการให้เกิดการรวมกลุ่ม (คลัสเตอร์) เพื่อระดมสมอง เพิ่มอำนาจต่อรอง ทั้งในแง่การจัดซื้อวัตถุดิบ พลังงาน และการขาย ทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยได้อีกด้วย โดยมีสถาบันฯ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือต่างๆ” นายวิรัตน์ กล่าว นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้จัดตั้ง CDA Cluster Development Agency เป็นตัวเชื่อมระหว่างคลัสเตอร์กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งสถาบันทางการเงิน โดยซีดีเอทำหน้าที่แสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ทั้ง OEM และ ODM ล่าสุดได้ขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ ลำพูน สตูล สงขลา เป็นต้น ส่วนการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การพัฒนากลิ่นกล้วยไม้ในเนื้อผ้าของบริษัทอุดรซันไชน์ ซึ่งตัวอย่างเป็นการใส่จุดขายใหม่ให้กับภูมิปัญญาเดิมของผู้ประกอบการในท้องถิ่น “การร่วมมือผลิตของหลายโรงงานทำให้เกิดสินค้าที่ต่างจากท้องตลาด ขายได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้กลับไปพัฒนาในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมโครงการคลัสเตอร์แล้วประมาณ 80-90 โรงงาน” นายวิรัตน์ กล่าว “งานวิจัยของสถาบันฯ มุ่งตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น เสื้อผ้ายับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เสื้อผ้ากันยูวี เสื้อผ้าสำหรับแคมป์ปิ้ง ผ้าจีวรกันยุง โดยไม่ค้ากำไรจากการจดสิทธิบัตรทางการค้า แต่เน้นเพิ่มโอกาสการต่อยอดความรู้และพัฒนานวัตกรรมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ด้านฟอกย้อมสำหรับบริการผู้ประกอบการ สถาบัน นักเรียน/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย” เขากล่าว เกี่ยวกับสถาบันพัฒนาอุตสหากรรมสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีจากความคิดริเริ่มของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอทุกสาขา โดยความเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานส่งเสริม ให้ความช่วยเหลือ พัฒนา และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศทั้งระบบให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ สถาบันฯ จะขยายขอบข่ายการให้บริการครอบคลุมถึงผู้ประกอบการแฟชั่นในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-642-9620 บริษัท แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ