ญี่ปุ่นหนุนไทยเป็นฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2009 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์ ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเผย ญี่ปุ่นเล็งสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของอาเซียน เพราะมีความพร้อมด้านการผลิตที่ครบวงจร ด้านผู้ประกอบการไทยเองก็มองญี่ปุ่นและอาเซียนเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ ชดเชยยอดส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่หดตัวต่อเนื่อง คาดสิ้นปีส่งออกสิ่งทอน่าจะติดลบเป็น 0% ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มน่าจะติดลบเพียง 5 — 7% นายนพดล เปี่ยมกุลวนิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสิ่งทอไทย เปิดเผยว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มไม่ได้ขยายตัวมากนัก ในขณะที่ผ้าผืนมีอัตราการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าสิ้นปีนี้ ตัวเลขส่งออกสิ่งทอจะติดลบเป็น 0% ทั้งนี้ในปี 2552 ไทยเน้นส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 เพราะญี่ปุ่นกำลังผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของอาเซียน เนื่องจากไทยมีการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ ตลาดสำคัญอย่างญี่ปุ่น จีน และยุโรป มองอาเซียนเป็นภาพรวมและมองตรงกันว่าไทยมีความพร้อม ขณะที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา และลาว เน้นผลิตเครื่องนุ่งห่มอย่างเดียว ไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำรองรับ จึงไม่สามารถผลิตผ้าผืนได้ และแม้ว่าเวียดนามจะส่งออกมากกว่าไทย แต่นำเข้ามากเช่นกัน บวกกับมีความเสี่ยงด้านค่าเงิน ทำให้เวียดนามต้องบริหารค่าเงินให้อ่อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไทยได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยังเติบโตได้ เพราะอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำของเราเข้มแข็ง” “ไทยมีความถนัดด้านอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ โดยเฉพาะการผลิตผ้าผืน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตั้งแต่ทอผ้า ฟอก ย้อม พิมพ์ลายผ้า จนถึงตกแต่งสำเร็จ เพราะเราต้องผลิตผ้าใช้เอง เช่น ผ้าที่ใช้ในราชสำนัก จากเดิมนำเข้าจากอินเดีย แต่ภายหลังผลิตเองและพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาช่วยมากขึ้น สำหรับตลาดส่งออกผ้าผืนที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาเซียนซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเกือบเท่ายุโรป และตลาดที่กำลังเติบโตทดแทนสองตลาดแรก คือ ญี่ปุ่น แต่มีข้อแม้ว่าเราจะต้องไม่แข่งขันด้านราคา เพราะต้นทุนเราสูง ข้อได้เปรียบในการแข่งขันของเรา คือ คุณภาพ การออกแบบ ทักษะฝีมือ และวัฒนธรรมผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น ผ้าทอ OTOP ที่ภาครัฐกำลังให้การสนับสนุน ขณะที่ประเทศคู่แข่งเน้นนำเสนอสินค้าราคาถูกกว่าเป็นหลัก ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำมาแสดงในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair - BIFF & BIL) ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2552 ณ อาคาร Challenger 2-3 อิมแพค เมืองทองธานี ”และจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป การนำเข้า-ส่งออกสิ่งทอระหว่าง 10 ประเทศอาเซียนจะได้รับการยกเว้นภาษี (0%) ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่แรงงานถูกกว่าอย่างเวียดนามและกัมพูชาได้ ส่วนในแง่การส่งออก อย่างอินโดนีเซียที่มีการส่งออกไปยุโรปมากกว่า ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ถ้าผสานความร่วมมือกัน ไทยก็จะได้ตลาดยุโรปเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากความถนัดด้านอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำของอินโดนีเซียอีกด้วย โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากปิโตรเลียม เช่น อะคลิริค โพลีเอสเตอร์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าที่อื่น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสมาพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทออาเซียน (ASEAN Federation of Textile Industries หรือ AFTEX) ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอระหว่างประะเทศอาเซียนทั้งหมด ในส่วนของโครงการพัฒนาผ้าผืน ทางสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสิ่งทอไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยทางญี่ปุ่นจะจัดผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยฝึกสอนและดูแลการผลิตของโรงงานที่ผ่านการคัดเลือกให้สอดคล้องกับมาตรฐานและความต้องการของตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาผ้าผืนเวอร์ชั่นญี่ปุ่น โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้า และสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสิ่งทอไทย ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ได้มีการส่งทีมไปสำรวจความต้องการและแนวโน้มในตลาดญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ด้านแฟชั่น และด้านฟอกย้อม คอยให้คำปรึกษา เพื่อนำข้อมูลกลับมาเตรียมการผลิตและนำเสนอต่อผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair - BIFF & BIL) ในปีหน้า สำหรับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอนาคต นายนพดลเสนอว่า “ผู้ประกอบการไทยต้องมุ่งสร้างแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ชุดกีฬา หรือชุดชั้นใน ที่ประสบความสำเร็จในอาเซียนและเริ่มขยายเข้าจีน นอกจากจะตามให้ทันเทรนด์แฟชั่นของโลกแล้ว เราเองต้องพยายามเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดเทรนด์ด้วย ล่าสุดไทยร่วมกับอีก 20 ประเทศกำหนดเทรนด์ปี 2011 เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมการผลิตให้ตรงกับเทรนด์ จึงมั่นใจว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีช่องทางพัฒนาและขยายตัวได้อีกมาก” ด้านนายกาสชัย แจ่มขจรเกียรติ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยว่า “ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มปีละประมาณ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท และมีการว่าจ้างแรงงานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้ยอดส่งออกหดตัวอย่างมาก เฉพาะช่วงมกราคม-พฤษภาคม ปี 2552 ติดลบถึงร้อยละ 13.35 โดยตลาดที่ติดลบมากที่สุด คือ อเมริกา ร้อยละ 28 สวนทางกับตลาดญี่ปุ่นที่เติบโตถึงร้อยละ 13.28 อันเป็นผลมาจากการจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะทำให้โอกาสการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยในตลาดญี่ปุ่นมีมากขึ้น เพราะปัจจุบันภาษีนำเข้าสิ่งทอจะเหลือ 0% ตามข้อตกลงโดยผู้ผลิตของญี่ปุ่นเน้นผลิตสินค้าระดับบน ส่วนผู้ผลิตของไทยเน้นการผลิตสินค้าระดับกลาง จึงทำให้ไทยมีช่องทางที่จะเจาะตลาดสินค้าระดับกลางในญี่ปุ่นได้ บวกกับความร่วมมือของภาคเอกชน ทำให้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ยอดส่งออกรวมจะติดลบเพียงร้อยละ 5-7” นายกาสชัย กล่าวต่อไปว่า “ตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่น่าสนใจที่สุดสำหรับไทยในตอนนี้ คือ ญี่ปุ่น และอาเซียน เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและการออกแบบมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันนำเข้าจากจีนถึงร้อยละ 80 จึงต้องหาทางเลือกอื่นเพื่อป้องกันการผูกขาดและเป็นประโยชน์ในแง่การต่อรอง หลังการลงนามข้อตกลง JTEPA ไทยจึงกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นในการเป็นฐานการผลิตและส่งออก ประกอบกับทางสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทยได้เร่งทำความร่วมมือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น มีการของบสนับสนุนจากภาครัฐมาช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาด การออกแบบ และการผลิต ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้นเป็นลำดับ” “ในส่วนของอาเซียน เรามองว่าเป็นเป้าหมายสำคัญเช่นกัน เพราะประชาคมอาเซียนกำลังเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ ASEAN One คือ ให้ภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดรวมกันเป็นหนึ่ง มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนจะทำให้เกิดกำลังซื้อมหาศาล นอกจากนี้ยังจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและความสะดวกด้านกฎระเบียบต่างๆ อีกด้วย ซึ่งไทยมีทั้งความพร้อมและข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่จะรุกตลาดอาเซียนได้ดีกว่าประเทศในภูมิภาคอื่น” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-642-9620 บริษัท แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ