แมลงผสมเกสร ผู้ช่วยเพิ่มผลผลิตในไร่สบู่ดำ

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2009 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--โครงการ BRT นักวิจัย BRT ศึกษาความสามารถและความหลากหลายของแมลงที่ทำหน้าที่ช่วยผสมเกสรของสบู่ดำ เผยการมีแมลงช่วยให้สบู่ดำให้ผลผลิตที่ดีขึ้น ติดผลได้ เกือบ 100% ล่าสุดรวบรวมพบแมลงกว่า 107 ชนิด ช่วยผสมเกสรสบู่ดำ ชี้การลดการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรกรรม และบริเวณใกล้เคียง ร่วมกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศจะช่วยเพิ่มปริมาณและชนิดของแมลงผสมเกสรได้มากยิ่งขึ้น แมลงเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดและประชากรมากที่สุดบนโลกนี้ มีทั้งแมลงที่มีประโยชน์และก่อเกิดโทษ แต่แมลงที่ดีก็มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบนิเวศ โดยการทำหน้าที่ผสมเกสรพืชพัฒนาเกิดป็นผล เมล็ด ช่วยแพร่กระจายขยายพันธุ์พืช และเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ ก่อให้เกิดการพัฒนาหลากหลายของสายพันธุ์ และเกิดความต้านทาน ทนทาน ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม พืชบางชนิดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แมลงช่วยผสมเกสร ตัวอย่างเช่น สบู่ดำ พืชพลังงานที่มีความสำคัญของประเทศไทย น.ส.ชามา อินซอน นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สบู่ดำเป็นพืชที่มีดอกแบบแยกเพศ คือมีดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียแยกกันอยู่คนละดอกในช่อดอกเดียวกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยพาหะพาเอาละอองเรณูของเกสรเพศผู้ไปตกบนเกสรเพศเมียแล้วเกิดการผสมเกสร แต่เนื่องจากลักษณะละอองเรณูของสบู่ดำมีขนาดใหญ่ และมีความเหนียว ลมซึ่งเป็นพาหะที่ดีจึงไม่สามารถพัดเรณูให้ปลิวไปได้ หนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกสรของสบู่ดำได้ผสมกันแล้วเกิดเป็นผลจึงต้องมีแมลงเป็นสื่อที่จะช่วยพาเรณูไปสู่ปลายเกสรเพศเมีย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการติดผลได้เกือบ 100% ในดอกเพศเมีย ทำให้ได้ผลผลิตของสบู่ดำมากขึ้น จึงสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้เต็มที่ แมลงผสมเกสรจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศไทย จากการวิจัยเรื่อง แมลงผสมเกสรกลุ่มผึ้งของสบู่ดำในประเทศไทย โดย น.ส. ชามา อินซอน ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศ (โครงการ BRT) และ รศ.ดร.สาวิตรี มาไลยพันธุ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์แมลง จำนวน และการแพร่กระจายของแมลงผสมเกสร จากการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลแมลงผสมเกสรสบู่ดำ ในจังหวัดชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และลำพูน พบแมลงถึง 107 ชนิด ที่มีบทบาทในการผสมเกสร โดยสามารถแบ่งกลุ่มแมลงได้ 6 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผึ้ง ต่อ แตน มด กลุ่มแมลงวัน กลุ่มตั๊กแตน แมลงสาบ กลุ่มแมลงปีกแข็ง กลุ่มมวน และกลุ่มผีเสื้อ “การศึกษาจำนวนแมลงผสมเกสรที่กระจายอยู่ในแปลงสบู่ดำในแต่ละท้องที่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการผึ้งเพื่อช่วยการผสมเกสรดอกสบู่ดำได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนในการช่วยแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำในบางพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับพืชปลูกชนิดอื่นๆ เกษตรกรสามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์ผึ้งท้องถิ่นได้ เป็นการอนุรักษ์แมลงผสมเกสรในท้องถิ่นของตนให้มีความหลากหลายและมีปริมาณมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์แมลงควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร” น.ส. ชามา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของแมลงผสมเกสรกับสบู่ดำ เป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกัน แมลงช่วยให้สบู่ดำได้ผสมเกสรและติดผล สามารถนำไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นน้ำมัน ในขณะที่ดอกสบู่ดำได้ให้น้ำหวาน และเรณูเพื่อเป็นอาหารของแมลง เป็นความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานในระบบนิเวศ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการศึกษาวิจัยในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์เหล่านี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป **ภาพประกอบโดย บัณฑูร พานแก้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฝ่ายเลขานุการโครงการ BRT โทร. 0-2644-8150-4 ต่อ 557

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ