ฟิทช์คงอันดับกองทุนเปิดทหารไทยธนบดีที่ระดับ ‘AAA(tha)’/‘V1+(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 7, 2009 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับกองทุนภายในประเทศ (National Fund Rating) ของกองทุนเปิดทหารไทยธนบดี (TMBMF) ที่ระดับ ‘AAA(tha)’/‘V1+(tha)’ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด (TMBAM) ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว การประกาศคงอันดับกองทุนภายในประเทศของ TMBMF พิจารณาจากคุณภาพเครดิต การกระจายตัวและสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ลงทุนรวมถึงความสามารถของ TMBAM ในการบริหารจัดการกองทุน โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 TMBMF มีมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิอยู่ที่ 40.2 พันล้านบาท กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ที่ได้รับการจัดอันดับที่ระดับ ‘AAA(tha)’/‘V1+(tha)’ แสดงถึงความสามารถของกองทุนในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงที่สุดในด้านคุณภาพเครดิตของสินทรัพย์ที่ลงทุน ความเข้มงวดของนโยบายการลงทุนและความมั่นคงในการดำรงรักษาเงินลงทุนของกองทุนเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้อื่นๆในประเทศ วัตถุประสงค์การลงทุนของ TMBMF คือการให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ การรักษาเงินต้นที่ลงทุนและการดำรงสภาพคล่องในระดับสูง แนวทางการลงทุนของ TMBMF โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2550 โดยกองทุนต้องลงทุนอย่างต่ำร้อยละ 20 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุนในตราสารที่ออกโดยรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตราสารที่ค้ำประกันโดยรัฐบาล และลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 55 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุนในรูปเงินฝากธนาคารหรือตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงิน ในขณะที่การลงทุนในตราสารที่ออกโดยบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินถูกกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน TMBMF กำหนดอายุตราสารที่กองทุนสามารถลงทุนได้ไว้ไม่เกิน 92 วัน โดยมีข้อยกเว้นว่าสามารถลงทุนในรูปเงินฝากประจำหรือตั๋วสัญญาใช้เงินธนาคารที่มีกำหนดไถ่ถอนคืนมากกว่า 92 วันแต่ไม่เกิน 365 วัน ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน ในการบริหารจัดการสภาพคล่อง TMBMF ถูกกำหนดให้บริหารอายุถัวเฉลี่ยของตราสารของกองทุน (Weighted Average Maturity - WAM) ให้ไม่เกิน 60 วัน และจะต้องดำรงเงินสดและทรัพย์สินที่เทียบเท่าเงินสดไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน TMBMF สามารถลงทุนในตราสารต่างประเทศได้ โดยการลงทุนในตราสารต่างประเทศเหล่านี้จะต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนและมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในส่วนของอายุของตราสาร มูลค่าการลงทุนทั้งหมดอันดับเครดิตขั้นต่ำของตราสารและอันดับเครดิตขั้นต่ำของคู่สัญญาในสัญญาป้องกันความเสี่ยง ในการดำรงสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อให้มีคุณภาพอันดับเครดิตสูงสุด TMBMF ถูกกำหนดให้ลงทุนในตราสารที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นอย่างต่ำ ‘F1(tha)’ หรือตราสารที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่า นอกจากนี้ กองทุนต้องลงทุนในตราสารที่มีอันดับเครดิตระยะสั้น ‘F1+(tha)’ มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน ในขณะที่การลงทุนในรูปเงินฝากประจำในธนาคารที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นที่ระดับ ‘F1(tha)’ จะถูกกำหนดไว้ให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน TMBAM สามารถบริหารจัดการ TMBMF ได้ตามแนวทางการลงทุนที่กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าในบางช่วง สินทรัพย์ของกองทุนอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการลงทุนที่กำหนดไว้ แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุนที่ลดลงหรือนโยบายการลงทุนของกองทุนในขณะนั้นมีความระมัดระวังมากขึ้น โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 TMBMF มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารภาครัฐบาลและตราสารที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ ร้อยละ 50 และร้อยละ 72 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุนตามลำดับ ในขณะที่ตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 7 วัน รวมทั้งเงินสดคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน อายุถัวเฉลี่ยของตราสารของกองทุนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 38 วัน และสูงสุดที่ 50 วัน และที่ผ่านมา สัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ 10 อันดับแรกไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิของกองทุน TMBAM ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2539 เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนรวม โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 75 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 TMBAM มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 143.3 พันล้านบาทภายใต้ 61 กองทุนและมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับที่ห้าในธุรกิจกองทุนรวมเมื่อพิจารณาจากขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ฟิทช์มองว่า TMBAM มีระบบควบคุมตรวจสอบการลงทุนและการดำเนินงาน การเฝ้าติดตามการลงทุน และกระบวนการตัดสินใจในการเลือกลงทุนที่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้การปฏิบัติงานการลงทุนเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดเอาไว้ เกณฑ์ในการจัดอันดับกองทุนตลาดเงินที่ระดับ ‘AAA(tha)’ และ ‘AA(tha)’ ของฟิทช์ กำหนดไว้ว่ากองทุนจะไม่สามารถลงทุนในตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าตราสารในประเภท Tier 1 ซึ่งตราสารประเภท Tier 1 ประกอบด้วยตราสารที่ถูกจัดอันดับโดยฟิทช์ที่ระดับ ‘A(tha)’ หรือ ‘F1(tha)’ ขึ้นไปหรือตราสารที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่า อันดับความเสี่ยงของกองทุนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด (Volatility Rating) ที่ระดับ ‘V1+(tha)’ จะให้เฉพาะกองทุนที่ลงทุนในตราสารตลาดเงิน (money market) ที่ไม่มีแนวโน้มของการสูญเงินต้นถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ณ วันที่ 26 มกราคม 2552 ฟิทช์ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดอันดับกองทุนตลาดเงินฉบับร่าง ‘Exposure Draft: Global Money Market Fund Rating Criteria’ ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวสามารถหาได้จาก ‘www.fitchratings.com’ ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, ประมุข มาลาสิทธิ์, Vincent Milton +662 655 4755 ข้อมูลเปิดเผย: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ถือหุ้นรายละ 10% ในบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หมายเหตุ: อันดับเครดิตกองทุนภายในประเทศเริ่มจาก ‘AAA(tha)’ จนถึง ‘D(tha)’ บนมาตรการจัดอันดับในลักษณะเดียวกับการจัดอันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศ ในขณะที่อันดับความเสี่ยงของกองทุนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดเริ่มจาก ‘V1+(tha)’ (ผันผวนน้อยที่สุด) จนถึง ‘V10(tha)’ (ผันผวนมากที่สุด) ทั้งนี้อันดับกองทุนที่ให้กับกองทุนนี้เป็นอันดับกองทุนภายในประเทศซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนภายในประเทศเท่านั้น จึงไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกับกองทุนระหว่างประเทศได้ คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ