ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมชะลอต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 4, 2006 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมชะลอต่อเนื่อง เหตุภาคเอกชนยังกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ซ้ำสถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สอง เสนอรัฐช่วยเหลือ SMEs หาทางออกราคาน้ำมัน สร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อเรียกความมั่นใจของผู้ประกอบการ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 521 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 94.3 จาก 94.5 ในเดือนเมษายน 2549 ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีที่ได้มีค่าต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สองติดต่อกันนับจากเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 4 ใน 5 ปัจจัยปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และ ต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 109.7 108.0 113.6 และ 57.5 ในเดือนเมษายน เป็น 107.1 104.0 110.9 และ 54.6 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพียงตัวเดียวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของผลการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.7 ในเดือนเมษายน เป็น 101.8 ในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีการสำรวจ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลทำให้ภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ เนื่องมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่สินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องสถานการณ์ความ ไม่ชัดเจนทางการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเช่นกัน ซึ่งสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ลดลง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ทั้งด้านการเงิน การตลาดให้มากขึ้น และหาแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ผู้ประกอบการ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจดีขึ้น
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนพฤษภาคม 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดรับกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และ ยอดขายในประเทศ ลดลงจาก 101.7 120.1 และ 104.2 ในเดือนเมษายน เป็น 97.3 118.2 และ 97.6 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ขณะที่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินค้าคงเหลือ การจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต และ การลงทุนของกิจการ ลดลงจาก 118.3 109.8 130.2 และ 111.3 ในเดือนเมษายน เป็น 116.0 107.2 124.9 และ111.0 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจาก 104.9 94.4 102.4 ในเดือนเมษายน เป็น 102.1 86.8 และ 101.8 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และ สภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 106.5 115.7 และ 106.2 ในเดือนเมษายน เป็น 96.1 110.6 และ 105.9 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดขายในต่างประเทศ และ ราคาขาย เพิ่มขึ้นจาก 117.1 และ 132.8 ในเดือนเมษายน เป็น 119.9 และ 135.0 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 26 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง 16 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 19 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 13 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงจาก 86.7 เป็น 69.8 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 103.8 เป็น 93.3 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ลดลงจาก 134.0 เป็น 91.6 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ลดลงจาก 137.4 เป็น 104.5 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจาก 111.5 เป็น 94.6 อุตสาหกรรมยา ลดลงจาก 104.9 เป็น 77.6 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 123.3 เป็น 80.0 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ลดลงจาก 118.7 เป็น 91.0 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงจาก 105.6 เป็น 86.9 อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 124.5 เป็น 83.5 อุตสาห-กรรมน้ำตาล ลดลงจาก 110.7 เป็น 87.5 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ลดลงจาก 116.7 เป็น 84.9 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 117.4 เป็น 76.9 ในทางกลับกันมี 13 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 64.1 เป็น 76.4 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 69.4 เป็น 86.9 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 96.3 เป็น 120.5 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นจาก 77.6 เป็น 97.3 อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 86.2 เป็น 96.4 อุตสาหกรรม ปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 71.1 เป็น 103.7 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 74.7 เป็น 90.8 อุตสาหกรรม ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 65.4 เป็น 112.2 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 95.9 เป็น 112.6 อุตสาหกรรมรองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 68.7 เป็น 116.9 อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มขึ้นจาก 46.9 เป็น 87.4 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เพิ่มขึ้นจาก 88.7 เป็น 102.7 และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นจาก 116.7 เป็น 128.3
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 78.8 และ 104.0 ในเดือนเมษายน เป็น 85.2 และ 106.9 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 100.6 ในเดือนเมษายน เป็น 89.4 ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 90.1 99.0 และ 85.5 ในเดือนเมษายน เป็น 92.2 99.1 และ 94.2 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความ เชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 94.4 และ 115.4 ในเดือนเมษายน เป็น 77.2 และ 103.7 ตามลำดับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ