คณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่สำรวจโครงการของสำนักการระบายน้ำกทม.

ข่าวทั่วไป Thursday August 13, 2009 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. คณะอนุกรรมการฯ แนะสำนักการระบายน้ำปรับปรุงบ่อสูบและระบบท่อระบายน้ำเพื่อที่จะรองรับน้ำปริมาณมาก พร้อมทั้งทำงานให้เป็นระบบและเกิดความเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งดูแลให้ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม นายประเดิม บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ในฐานะประธานอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการของบประมาณรายจ่ายปี 53 ในหมวดโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองสวนอ้อย ของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร และคณะร่วมพื้นที่เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการของบประมาณของสำนักการระบายน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง ณ สถานีสูบน้ำคลองสวนอ้อย เขตพระโขนง สำหรับคลองสวนอ้อย เป็นคลองที่อยู่ในพื้นที่พระโขนงรับการระบายน้ำจากพื้นที่ ซ.สุขุมวิท 93 คลองขวางบน ซ.อ่อนนุช 24 และ 26 ถ.อ่อนนุช และบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้เคียงไหลลงสู่คลองพระโขนง ปัจจุบันที่ถนนอ่อนนุชมีประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำขนาดกำลังสูบ 1 ลบ.ม/วินาที สูบออกคลองพระโขนง และตามแผนงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดอ่อนเนื่องจากน้ำฝนปี พ.ศ. 2552-2555 โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ.สุมขุมวิท จากคลองพระโขนง — ซ.ลาซาล กำหนดให้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบระบายน้ำคลองสวนอ้อยและกองระบบคลอง ประธานคณะอนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอของบประมาณเพื่อปรับปรุงบ่อสูบและระบบท่อระบายน้ำเพื่อที่จะรองรับน้ำปริมาณมาก และจะเป็นการป้องกันน้ำท่วมในบริเวณแถวเขตพระโขนง เขตบางนา ถนนสุขุมวิท เพื่อที่จะให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายจุดที่ถือว่ามีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เห็นควรต้องมีการพิจารณาให้เกิดความเหมาะสมกับเนื้องาน อีกทั้งในส่วนของการวางแผนควรทำงานให้เป็นระบบและเกิดความเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งควรดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมโดยจะมุ่งเน้นจุดที่เป็นปัญหาหลักๆและวางแผนงานทำให้เสร็จเป็นส่วนๆ รวมทั้งเรื่องของการจัดตั้งงบประมาณควรจะต้องให้มีการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบมากกว่านี้เพื่อง่ายต่อการเรียกข้อมูลมาตวรจสอบอีกด้วย ทั้งนี้ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการฯแต่ละคณะได้ทำการพิจารณาในรายละเอียดของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายครบถ้วน จึงจะทำการสรุปข้อมูล เสนอต่อคณะกรรมการวิสามัญฯเพื่อพิจารณากลั่นกรองในรายละเอียด ก่อนนำเข้าที่ประชุมสภาฯทำการพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยมีกำหนดการพิจารณาเพื่อยกร่าง 45 วัน ก่อนมีการประกาศใช้ เป็นราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ