เสนอยกระดับโรงเชือดภาคใต้ ห่วงผู้บริโภคเสี่ยงโรคภัยรุมเร้า ทน.หาดใหญ่ส่อปิดโรงฆ่าสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday August 17, 2009 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สสส. ภาคใต้-นักวิชาการ สสส.ชี้ตลาดเนื้อสุกรภาคใต้เติบโต แต่ยังขาดมาตรฐานการฆ่า และชำแหละที่ถูกต้องตามหลักสุขศาสตร์ เหตุโรงฆ่าสัตว์ส่วนใหญ่ยึดรูปแบบเชือดสัมผัสพื้นเสี่ยงนำโรคสู่ผู้บริโภค เผยเสียดายโรงเชือดแบบถูกสุขลักษณะเทศบาลนครหาดใหญ่จ่อยุติ อ้างอุปสรรคการเมืองทำขาดทุนกระทบแผนยกระดับโรงฆ่าสัตว์สะดุด ดร. ผุสดี ตังวัชรินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในกระบวนการฆ่าและตัดแต่งซากสุกรที่ถูกสุขลักษณะและไม่ถูกสุขลักษณะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคใต้นับเป็นภูมิภาคหนึ่งซึ่งมีเกษตรกรประกอบอาชีพปศุสัตว์จำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรเพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งความต้องการของตลาดผู้บริโภคสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จึงได้สนับสนุนทุนเพื่อศึกษาใน โครงการวิจัย"การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในกระบวนการฆ่าและตัดแต่งซากสุกรที่ถูกสุขลักษณะและไม่ถูกสุขลักษณะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา”ระยะเวลา1 ปี (พ.ศ. 2550 — 2551) เพื่อศึกษา และร่วมพัฒนากระบวนการผลิตในโรงฆ่าสุกรที่ถูกต้องตามหลักสุขศาสตร์ ดร. ผุสดี กล่าวต่อว่าขั้นตอนการฆ่าและชำแหละสุกรในสังคมไทยปัจจุบันมีการจัดการกระบวนการได้2รูปแบบ โดยวิธีการแรกคือการฆ่าและชำแหละสุกรแบบบนพื้น สำหรับวิธีการนี้ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากการฆ่าและชำแหละบนพื้น ทำให้ซากสัมผัสกับพื้นและเกิดการปนเปื้อน ซึ่งลักษณะการฆ่าและชำแหละซากสุกรแบบนี้มักพบในโรงฆ่าขนาดเล็ก “ในบ้านเราส่วนใหญ่มักมีการชำแหละสุกรด้วยวิธีการแบบสัมผัสพื้นเกือบทั้งสิ้น ซึ่งในภาคใต้มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้นเนื่อจากกาดำเนินการชำแหละสุกรในลักษณะนี้ มีความสุ่มเสี่ยงในการนำโรคสู่ร่างกายผู้บริโภคได้สูงเนื่องจากการปนเปื้อนในขั้นตอนชำแหละที่ไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง”ดร. ผุสดี ระบุ ส่วนแบบที่สอง คือการฆ่าและชำแหละสุกรในแบบไม่สัมผัสพื้น หรือแบบแขวนซึ่งถือเป็นวิธีการที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐานสากล อีกทั้งช่วยลดอัตราเสี่ยงการปนเปื้อน สำหรับโรงงานแปรรูปสุกร (โรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครหาดใหญ่) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ถ.ปุณกัณฑ์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดำเนินการฆ่าและชำแหละซาก2วิธี คือแบบสัมผัสพื้นและไม่สัมผัสพื้น โดยในช่วงเวลา13:00 —17:00น. ดำเนินการฆ่าและชำแหละซากแบบไม่สัมผัสพื้น ซึ่งมีบริษัทเอกชนเป็นผู้เช่าดำเนินการทั้งนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 140 ตัว/วัน ส่วนในช่วงเวลา21:00 — 02:00 น. เป็นการฆ่าและชำแหละซากแบบสัมผัสพื้น โดยมีเขียงจากตลาดสดต่างๆ เป็นผู้เช่าดำเนินการ ทั้งนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 150 ตัว/วัน ดร.ผุสดุ กล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างการชำแหละบนพื้นจะทำให้เนื้อไม่สะอาดและมีโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์จะปะปนกับเนื้อสุกรผ่างทางบาดแผลจากการเชือด ส่วนการชำแหละแบบแขวนจะพบเชื้อปนเปื้อนในสัดส่วนที่น้อยกว่า “ขั้นตอนการเอาเครื่องในออกถือเป็นช่วงสำคัญและต้องระมัดระวังมากที่สุด เนื่องจากเป็นจุดวิกฤตที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสูง โดยเฉพาะเครื่องในขาวเป็นส่วนที่มีการสะสมจุลินทรีย์มาก เนื่องจากเป็นส่วนที่มีของเสีย เช่น อุจจาระ ดังนั้นการชำแหละแบบแขวน ซึ่งจะใช้ผู้ชำนาญทำคนเดียวในจุดนี้จึงดีกว่าแบบสัมผัสพื้นที่วางราบกับพื้นแถมยังใช้คนดำเนินการมากกว่า1 คนซึ่งโอกาสผิดพลาดมีสูง”ดร. ผุสดี กล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อที่พบการปนเปื้อนส่วนใหญ่ เช่น Escherichia coli Salmonella Listeria spp. หากปนเปื้อนในปริมาณที่มากจะก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบทางเดินหายใจ ดร.ผุสดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยยกระดับมาตรการการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ อีกทั้งยกระดับความเชื่อมั่นแก่ตลาดสุกรมากขึ้นอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายสำหรับชาวจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากเทศบาลนครหาดใหญ่ อยู่ระหว่างพิจารณาเกี่ยวกับการจัดการ โดยเฉพาะอาจยุติการดำเนินการ ซึ่งทำให้การเชือดและชำแหละเนื้อสุกรแบบแขวนอาจต้องพลอยหยุดลงไปด้วย อันเป็นสืบเนื่องมาจากประสบปัญหาด้านการเมือง ทางด้านนายบุญช่วย จังศิริวัฒนธำรง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครหาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของเทศบาลเมืองคอหงส์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนามาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ โดยที่ก่อนหน้านี้เทศบาลฯได้เข้าไปปรับปรุงและพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ จนสามารถผ่านการคัดเลือกและรับรองว่าเป็นโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานในการผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งหนึ่ง กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ยื่นให้กฎหมายตีความและพิจารณาการจัดเก็บภาษี รวมถึงค่าอาญาบัตรโรงฆ่าสัตว์ปรากฎว่าในทางกฎหมายเทศบาลนครหาดใหญ่จำเป็นต้องจ่ายค่าอาญาบัตรให้กับเจ้าของพื้นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์เป็นเงินจำนวนประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อปี “เทศบาลฯอาจต้องยกเลิกโรงฆ่าสัตว์ถาวร เนื่องจากไม่สามารถแบกรับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยกระดับให้โรงฆ่าสัตว์ได้มาตรฐานปลอดเชื้อโรค จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งไม่คุ้มค่าการลงทุนเนื่องจากภาษีต่างๆที่เป็นรายได้หลักกลับต้องจ่ายให้กับเจ้าของพื้นที่ ขณะเดียวกันหากย้ายที่ตั้งแห่งใหม่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะเทศบาลฯไม่มีพื้นที่รองรับ ทั้งนี้ยืนยันว่าการปิดกิจการจะไม่กระทบต่อพ่อค้า แม่ค้าเขียงหมู เนื่องจากสัดส่วนเนื้อหมูที่ผลิตมีเพียง30% เท่านั้น" นายบุญช่วย กล่าว แม่ค้าเขียงหมูรายหนึ่ง ในตลาดสด เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ระบุว่า เนื้อหมูที่ถูกส่งมาจากโรงฆ่าสัตว์สวนใหญ่จะเป็นการชำแหละแบบสัมผัสพื้น เนื่องจากต้นทุนต่ำประกอบกับ ชาวบ้านเคยชินกับรูปแบบนี้และที่ สำคัญเชื่อว่าจะทำให้เนื้อหมูเด้งดี ส่วนในข้อเท็จจริงที่ว่าอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคนั้นไม่ทราบเพราะหลังจากที่ได้รับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ก็จะล้างน้ำทำความสะอาดก่อนจำหน่าย “ขั้นตอนก่อนที่เนื้อหมูจะถูกส่งมาจากโรงเชือดจะสะอาดหรือไม่นั้นไม่ทราบแต่ทุกครั้งที่เจ้าของเขียงหมูได้รับเนื้อหมูเพื่อเตรียมรอจำหน่ายส่วนใหญ่จะล้างทำความสะอาดเนื้อหมู ,เขียง, มีด และอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนการจำหน่ายให้ลูกค้าเพื่อยืนยันว่าเนื้อหมูสะอาด” แม่ค้ารายเดิม กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0891203073 วนาลี จันทร์อร่าม โครงการประชาสัมพันธ์ สน.เปิดรับทั่วไป สสส.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ