ก.ไอซีที แจงความพร้อมจัดซ้อมระบบเตือนภัยสึนามิครั้งที่ 4

ข่าวทั่วไป Tuesday August 18, 2009 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ก.ไอซีที นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบบเตือนภัย ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เปิดเผยว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมความพร้อมการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2552 ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2552 แล้ว โดยได้มีการประชุมจัดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อให้การเตือนภัยและอพยพหลบภัยเป็นไปตามแผน และสามารถดำเนินการได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ ซึ่งครั้งนี้เป็นการฝึกซ้อมครั้งที่ 4 ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ เตือนภัยฯ โดยครั้งแรกได้จัดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยฝั่งอ่าวไทยขึ้น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 จัดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยสึนามิ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เป็นการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยสึนามิ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเช่นกัน “การฝึกซ้อมระบบเตือนภัยฯ ประจำปี 2552 นี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยกรธรณี หน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที รวมทั้งภาคเอกชน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม กิจการร้านค้า และสมาคมวิทยุสมัครเล่น เป็นต้น” นายสือ กล่าว การฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิประจำปี 2552 จะจัดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ บ้านบางเบน จังหวัดระนอง บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา บ้านแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่ หาดปากเมง จังหวัดตรัง บ้านปากบารา จังหวัดสตูล และมีศูนย์อำนวยการอยู่ที่ หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมจะเป็นการซ้อมลักษณะเหมือนจริง คือ มีการสมมติเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่มีผลกระทบถึงประเทศไทย โดยแต่ละพื้นที่จะได้รับข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวจากห้องปฏิบัติการของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และทำการเปิดสัญญาณระบบเตือนภัยทั้ง 79 หอในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงมีการจำลองการประสานงานการปฏิบัติการสื่อสาร รับแจ้งเหตุ การแจ้งข่าว การรายงาน และการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดทั้ง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันด้วย นอกจากการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยแล้ว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังได้จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ของศูนย์บริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารร่วมไปด้วย เพื่อวางแผนและบริหารจัดการข่ายสื่อสารหลัก และข่ายสื่อสารสำรอง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างและซักซ้อมการปฏิบัติการของเครือข่ายอาสาสมัครด้านสื่อสารโทรคมนาคม ในการเป็นผู้กระจายข่าวการเตือนภัย และเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติในพื้นที่ประสบภัยในนาม “เพื่อนเตือนภัย” “การฝึกซ้อมครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบก่อนการฝึกซ้อมจริง โดยจะมีการติดตั้งป้ายคัตเอาท์ในบริเวณพื้นที่ที่มีการฝึกซ้อม และมีการแจกแผ่นพับ ใบปลิว ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากธุรกิจโรงแรมใน 6 จังหวัดที่มีการฝึกซ้อมช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยการทำหนังสือแจ้งแก่ผู้เข้าพักในช่วงที่มีการฝึกซ้อม ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ด้วยรถกระจายเสียงไปตามแหล่งชุมชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการร่วมฝึกซ้อมครั้งนี้ด้วย” นายสือ กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 141 6747 ทวิติยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ