องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ผนึกพลังร่วมกับพันธมิตร จัดงาน "มหกรรม ด. เด็ก เสียงใส อยากได้ครูใจดี"

ข่าวทั่วไป Friday May 26, 2006 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย
องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ผนึกพลังร่วมกับพันธมิตร จัดงาน "มหกรรม ด. เด็ก เสียงใส อยากได้ครูใจดี" เพื่อสร้างหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้าต้องมีความหลากหลาย เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างมีส่วนร่วม ให้เด็กด้อยโอกาส 1 ล้านคนใน
เมื่อเร็ว ๆนี้ องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแพลน ประเทศไทย เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก และ กลุ่มโลกทัศน์สโมสรจัด "มหกรรม ด. เด็ก เสียงใส อยากได้ครูใจดี" ร่วมผลักดันแนวคิดการศึกษาคือสิทธิ กระตุ้นให้สังคมรับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาถ้วนหน้าในอนาคตที่ "หลากหลาย เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างมีส่วนร่วม"
ปัจจุบันมีเด็กด้อยโอกาสในไทยกว่า 1,470,000 คน ที่ 3 ใน 4 ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ทั้งๆ ที่มีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับให้ทุกคนเรียนฟรี 12 ปี ทางองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัด “มหกรรม ด. เด็ก เสียงใส อยากได้ครูใจดี” เพื่อเรียกร้องให้รัฐหาหนทางแก้ไขปัญหาให้เด็กด้อยโอกาสทุกคนมีสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้า นั่นหมายถึงมีความหลากหลาย เท่าเทียม ทั่วถึง และให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีครูที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจและช่วยกันหาหนทางแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ค่าเล่าเรียนที่รัฐบาลระบุว่าให้เรียนฟรี แต่ในความเป็นจริงไม่มีของฟรี ในโลก เพราะมันถูกแปรสภาพเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าทัศนศึกษา ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าเครื่องแบบ ตำราเรียน ค่าเดินทาง สูงถึง 70 % นอกจากนั้นโรงเรียนยังมีไม่พอเพียงและกระจายไม่ทั่วถึง มีโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาสเพียง 42 โรงเรียน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่ ห่างไกลทยอยถูกยุบ ที่สำคัญครูมีไม่เพียงพอ และครูบางสาขาวิชาก็ขาดแคลน
คุณวัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้จัดการองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย กล่าวว่าการที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจและหาทางแก้ปัญหาให้เด็กด้อยโอกาสทุกคนมีสิทธิในการศึกษาอย่างเต็มที่นั้น จำเป็นที่จะต้องหยิบยกปัญหามานำเสนออย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมเป็นแรงผลักดันในการเรียกร้องการศึกษาถ้วนหน้า และในปีนี้ไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ภายใต้โครงการ “มหกรรม ด. เด็ก เสียงใสอยากได้ครูใจดี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์การรณรงค์การศึกษาถ้วนหน้าที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ประกอบด้วย เวทีวิชาการ “หลักประกันคุณภาพการศึกษาถ้วนหน้า” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ค่ายการเรียนรู้ “ด.เด็ก เสียงใสอยากได้ครูใจดี” จัดขึ้นที่สวนเกร็ดพุทธ เกาะเกร็ด นนทบุรี และมหกรรมคอนเสิร์ต ด.เด็กเสียงใสอยากได้ครูใจดี เปิดเวที ณ สวนสันติไชยปราการ ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของด. เด็กเสียงใสที่lสื่อเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กันฟัง โดยมีน้าวีและน้าซู ผู้สร้างสรรค์ตำนานเพลงเด็กกับวงยิ้มละไม มาช่วยเล่นดนตรีให้เด็กๆ พร้อมวงรับเชิญ เรียนรู้กู้บ้านเกิด เด็กๆ ชนเผ่าม้ง, วงเด็กหญิงทรับราอินเดีย, ศิลปินจากฝรั่งเศส ได้สื่อเรื่องราวของเด็กด้อยโอกาส เช่น เด็กพิการตาบอด หูหนวก พิการร่างกาย เด็กชาวเขา เด็กได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี เด็กยากจน ฯลฯ ผ่านเสียงดนตรีและเสียงร้อง การใช้บทเพลงเพื่อเชื่อมต่อเด็กกลุ่มต่างๆ ให้ได้รู้จักกัน ได้เรียนรู้กัน ร่วมกันสร้างฝันของ ด.เด็ก ให้เป็นจริง
ซึ่งคอนเสิร์ต ด.เด็กเสียงใสอยากได้ครูใจดี เป็นหนึ่งกิจกรรมของโครงการนี้ โดยเป็นการรวมตัวกันของด. เด็กเสียงใสที่มีเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กันฟัง โดยมีน้าวีและน้าซู ผู้สร้างสรรค์ตำนานเพลงเด็กกับวงยิ้มละไม มาช่วยเล่นดนตรีให้เด็กๆ พร้อมวงรับเชิญ เรียนรู้กู้บ้านเกิด เด็กๆ ชนเผ่าม้ง, วงเด็กหญิงทรับราอินเดีย, ศิลปินจากฝรั่งเศสได้สื่อผ่านเรื่องราวของเด็กด้อยโอกาสผ่านเสียงดนตรีและเสียงร้อง การใช้บทเพลงเพื่อเชื่อมต่อเด็กกลุ่มต่างๆให้ได้รู้จักกัน ได้เรียนรู้กัน ร่วมกันสร้างฝันของ ด.เด็ก ให้เป็นจริง ด้วยการจัดหา เปิดโอกาส สร้างช่องทางในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและหลากหลาย รวมทั้งเสนอแนวคิดครูผู้มีหัวใจและความรักในความเป็นครู โดยเด็กมาจากหลากหลายกลุ่ม เช่น เด็กพิการตาบอด หูหนวก พิการร่างกาย เด็กชาวเขา เด็กได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อ HIV เด็กนักเรียนจากโรงเรียนด้อยโอกาส เด็กยากจน ได้มาร่วมสื่อสารผ่านเสียงเพลง นักดนตรีและคุณครูได้มาร่วมเล่น ผู้ใหญ่ได้มาร่วมสนุก
อาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ อดีตประธานอนุกรรมาธิการหลักประกันเพื่อสังคม วุฒิสภา ให้ความเห็นผ่านเวทีวิชาการ “หลักประกันคุณภาพการศึกษาถ้วนหน้า” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเด็กที่เข้าเรียนระดับประถมศึกษาจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปจำนวนหนึ่ง เนื่องมาจากความยากจน เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาก็มีจำนวนน้อยลง จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยจะมีเด็กยากจนที่จบการศึกษาระดับปริญญาเพียงแค่ 5 % และที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่ามีรัฐบาลชุดใดที่จะให้ความสำคัญกับหลักประกันด้านการศึกษาที่แท้จริง และยิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลได้ยกเลิกกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่เปลี่ยนมาให้เงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแทน นอกจากนี้ยังเป็นการให้เงินยืมเรียนจ่ายแค่ค่าหน่วยกิต แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวัน อีกทั้งงบประมาณส่วนนี้ต้องใช้เงินถึง 4,000 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบประมาณลงเหลือเพียง 600 ล้านบาท แสดงว่าเด็กที่จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องกลายเป็น “ประชาชน ล๊อตเตอร์รี่” นั่นหมายความว่าใครโชคดีก็ได้กู้เงินเรียน ซึ่งทำให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาเป็นเรื่องยากมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือการที่รัฐบาลกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรีนั้น เป็นการเรียนฟรีที่ไม่จริง เนื่องจากผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่นแทน เช่นค่าทัศนศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ค่าคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
อาจารย์จอน กล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาไทยต้อง “ปฏิวัติ” เริ่มจาก 1. ต้องเปิดโอกาสทางด้านการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น โดยให้เด็กได้เรียนฟรีอย่างแท้จริงทุกระดับชั้น นั่นหมายความว่าพ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว 2. ต้องเป็นการศึกษารอบด้านครบองค์รวม สอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รู้จักปรับใช้สิ่งที่เรียนมาให้เข้ากับชีวิตจริง นั่นคือการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ 3. ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร เช่น การเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมเป็นวิทยากรในโรงเรียน 4. ต้องสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน และ 5. เด็กจะต้องได้เรียนในโรงเรียนอย่างมีความสุข โดยไม่ถูกรังแก อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้เด็กได้เรียนฟรี อย่างแท้จริงและเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นวิธีการที่อยากนำเสนอคือการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น การจัดเก็บภาษีมรดก หรือการเก็บภาษีจากผู้ที่มีเงินฝากในธนาคารถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
คุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่น่าสนใจ และจะละเลยไม่ได้นั่นคือเรื่องหนังสือเรียน เนื่องจากหนังสือเรียนที่แจกให้กับเด็กจะจัดส่งมาให้โรงเรียนล่าช้ามาก เปิดเทอมไปแล้วหนังสือเรียนก็ยังได้ไม่ครบ นอกจากนี้ยังมีชุดนักเรียนที่บอกว่าแจกฟรี นักเรียนก็ได้รับแจกล่าช้ากว่ากำหนดหลายเดือนเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ปกครองต้องหาเงินไปซื้อหนังสือ หรือชุดนักเรียนให้กับเด็กแทนการรอรับแจก ซึ่งในจำนวนผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ที่ใช้จ่ายตรงจุดนี้มีประมาณ 31 % ของผู้ปกครองทั้งหมด จึงยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
อังศุสร อภิราชกมล ตัวแทนกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิสชั่นส์ กล่าวว่าการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อย ๆ ทำให้ระบบการศึกษาไทยต้องไปเริ่มต้นที่ ”ศูนย์” ใหม่ การใช้ระบบแอดมิสชั่นส์ที่ไม่มีความพร้อมทำให้เสื่อมศรัทธากับระบบ รวมทั้งนโยบายที่จะขยายคอมพิวเตอร์ไปยังโรงเรียนทุกแห่งก็ดูเหมือนว่ายังตก ๆ หล่น ๆ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบมักจะมีข้ออ้างเสมอ
ส่วนชัยพร แซ่ย่าง ชาวเผ่าม้ง ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้รับสัญชาติไทยแล้วบอกถึงปัญหาความอัดอั้นตันใจว่า เด็กชาวเขาเมื่อเข้าโรงเรียนจะถูกล้อเรียนว่าเป็นไอ้แม้วบ้าง ไอ้อาข่าบ้าง นอกจากนี้ยังไม่ได้รับทุนการศึกษา ไม่มีอาหารกลางวัน บางรายเรียนจบแล้วไม่สามารถไปเรียนต่อในชั้นที่สูงกว่าเดิมได้ เนื่องจากไม่มีสัญชาติ ทางโรงเรียนไม่ออกวุฒิการศึกษา ผลสุดท้ายต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม
สำหรับจันทิมา ชัยบุตรดี ตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้านผู้ทำการศึกษาของศาสนาอิสลาม มาจากจังหวัดสงขลา บอกว่ารัฐบาลเอาหลักสูตรไปโยนไว้ให้เรียนโดยไม่ถามชาวบ้านว่าต้องการอะไร พอเกิดเหตุไม่สงบก็มาโทษว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ เป็นพวกมีปัญหาเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นทกเรื่องที่มีปัญหาคือรัฐไม่เคยถามชาวบ้าน
สำหรับความคิดเห็นของเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่สรุปว่า อยากเห็นการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความสุข เช่นเปิดให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กสนใจ อาหารกลางวันต้องมีคุณภาพ อย่ากดดันเรื่องกฎระเบียบมากเกินไป เพราะอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กหันไปพึ่งพายาเสพติดในการลดความเครียด นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการสั่งให้ทำรายงานครั้งละมาก ๆ เพราะนั่นคือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลบอกว่าเด็กทุกคนจะได้เรียนฟรีนั้นไม่เรื่องจริง เนื่องจากต้องเสียค่าหนังสือ ค่าเรียนพิเศษ ค่าทัศนศึกษา.ฯลฯ รวมแล้วอาจมากกว่าที่ต้องจ่ายค่าเทอมด้วยซ้ำ นอกจากนี้ครูยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดี หรือหรือทัศนคติที่แย่ต่อวิชาที่เรียนอีกด้วย
ที่มาขององค์การแอ็คชันเอด
องค์การแอ็คชันเอด อินเตอร์เนชันแนล เป็นองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 มีสำนักงานเลขาธิการใหญ่อยู่ที่กรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก การสร้างเครือข่าย งานด้านการศึกษา งานด้านสิทธิและโอกาสของผู้หญิง งานด้านการให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการทำงานมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2544 ในระยะแรก ได้ให้การสนับสนุนแก่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาที่ยั่งยืน และผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจโลก ต่อมาได้ขยายเครือข่ายการทำงานโดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาต่างๆ รณรงค์แก้ไขปัญหาความยากจน โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ เป็นต้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ