เยาวชนถ่ายทอดความรู้วิทย์ผ่านโลกมายาในการแสดงละครวิทยาศาสตร์

ข่าวทั่วไป Monday August 24, 2009 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สสวท. ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ “ชุมชนวิทยาศาสตร์ ตลาดนัดวิชา พัฒนาสังคม ปี 2” เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประกวดละครวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ ณ ห้องมหกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการแสดงละครวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสแสดงออกในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบของทีม ปลูกฝังและกระตุ้นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกมาเผยแพร่สู่ชุมชน รวมทั้งเพื่อเผยแพร่กิจกรรมและรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการแสดงละครวิทยาศาสตร์ ให้แก่ครูผู้สอนนำไปใช้สำหรับเป็นทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ งานนี้มีโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันละครวิทยาศาสตร์ ในรอบชิงชนะเลิศ 5 โรงเรียน ได้แก่ ละครวิทยาศาสตร์ เรื่อง ก่อกรรม จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ หนังสือมหัศจรรย์ จากโรงเรียนทุ่งสง ใครคือวายร้าย จากโรงเรียนพุทธจักรวิทยา โอ้จอร์จช่วยโลกด้วย จากโรงเรียนภัทรพิทยาจารย์ และ ความลับ จากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร สสวท. ได้กำหนดคำสำคัญ (key words) ไว้ 10 คำ ที่ละครทุกเรื่องจะต้องใช้คำดังกล่าวนี้ ในการนำเสนอ ได้แก่ ดาวเทียม พลังงานแสง รังสีเหนือม่วง (UV) รังสีใต้แดง (infrared) โรคอุบัติใหม่ การแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variation) จำนวนประชากร พันธะเคมี ทำสปา โอ้ว! จอร์จ มันยอดมาก แต่ละโรงเรียน ได้เตรียมความพร้อมในการแสดงมาอย่างดี และนำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ กรรมการตัดสิน ได้ชี้ถึงจุดเด่น และสิ่งที่ควรปรับปรุงของแต่ละทีม อาทิ ละคร “ก่อกรรม” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช มีจุดเด่นตรงที่พยายามนำความรู้ ไปเชื่อมโยงกับปัญหาได้อย่างกลมกลืน คือ โยงจากปัญหาป่าไม้ ไปสู่ภาวะโลกร้อน นอกจากสื่อความหมายทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในบทและการแสดงด้วย มีการเน้นย้ำความสำคัญและอธิบายความหมายของคำสำคัญได้ดี แต่เนื้อหาบางตอนยังควรปรับปรุงในด้านความถูกต้องของข้อมูล ผู้ที่แสดงเป็นหุ่นยนต์ เข้าถึงบทบาทได้ดี แต่ผู้แสดงในเรื่องในภาพรวมควรมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่านี้ ละคร “ความลับ” โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ. ระยอง การใช้เสื้อผ้าของตัวละคร ทำให้ได้เห็นกระบวนการคิดของนักแสดง แบ่งแยกบุคลิก นักแสดงได้ชัดเจนจากเสื้อผ้า จัดระเบียบการเข้าออกของนักแสดงได้ดี การนำเสนอเนื้อหาน่าสนใจ รับส่งมุกกันได้ดี ใช้พื้นที่เวทีได้เหมาะสม เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์เขื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น เรื่องกล้องอินฟาเรด การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าละคร “ใครคือวายร้าย” จากโรงเรียนพุทธจักรวิทยา กทม. ลำดับเชื่อมโยงเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ได้ดี เช่น เอ่ยถึงข้อดีข้อเสียของรังสี UV มีการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ดี น่าเชื่อถือ มีเพลงประกอบทำให้ผู้ชมคล้อยตามเรื่องราว บ่งบอกว่าเตรียมพร้อมมาดี การนำแผนภาพมาอธิบายเนื้อหาวิทยาศาสตร์บางตอน ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้มากขึ้น ละคร “โอ้จอร์จช่วยโลกด้วย” โรงเรียนภัทรพิทยาจารย์ จ. นครนายก ฉากเยอะ ใช้พื้นที่เยอะ นำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างแคบ คือ มุ่งเฉพาะเรื่องรังสี UV ทำให้ผิวเสีย ฉากทำได้หลายหน้าที่ดี และทำให้ผู้ชมประหลาดใจว่าแต่ละฉากนำเสนออย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะเตียงที่มองจากด้านบน จัดวางเตียงในแนวตั้ง ไม่ได้วางแนวนอนตามที่เคยเห็นทั่วๆ ไป ละคร “หนังสือมหัศจรรย์” โรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เนื้อหาไม่ผิด แต่กว้างไป ไม่ลงลึกเท่าที่ควร แต่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนบท รู้จักออกแบบเสื้อผ้าจากวัสดุเหลือใช้ หาง่าย ไม่แพงได้อย่างสร้างสรรค์ ละครเรื่องนี้มีการสร้างบรรยากาศเช่น ควัน เพลงประกอบ ฯลฯ ทำให้องค์ประกอบของละครน่าสนใจขึ้น ควรเพิ่มการแสดงออกทางสีหน้ามากกว่านี้ และบางตอนยังพูดได้ไม่เป็นธรรมชาติ ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ตกเป็นของ โรงเรียนพุทธจักรวิทยา รองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนมาตาพุดพันพิทยาคาร รองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนทุ่งสง ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ โรงเรียนภัทรพิทยาจารย์ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ นางสาวดวงกมล แซ่ฟอง (มล) ชั้น ม. 5/1 โรงเรียนพุทธจักรวิทยา กทม. หนึ่งในทีมเขียนบท พร้อมทั้งแสดงเป็นไวรัส เล่าว่า ละครเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเรียนชั้น ม. 5/1 ช่วยกันทำทั้งห้อง ก่อนหน้านี้ มลและเพื่อนอีกคน มีโอกาสได้มาร่วมอบรมการจัดทำละครวิทยาศาสตร์จาก สสวท. ต่อมาได้มีโครงการประกวดนี้ อาจารย์จึงได้มอบหมายให้มลกับเพื่อนอีก 3 คนช่วยกันเขียนบท แล้วให้อาจารย์ขัดเกลาบท เมื่อบทผ่านการคัดเลือกก็เริ่มฝึกซ้อม พร้อมทั้งหานักแสดงเพิ่มอีก 3 คน รวมเป็น 6 คน “ละครเรื่องใครคือวายร้าย เน้นปัญหาทุกอย่างที่เกิดจากมนุษย์เป็นต้นเหตุ เช่น ภาวะโลกร้อน โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ฯลฯ เสื้อผ้าที่ใช้นำชุดเก่า ๆ ของอาจารย์สมัยสาว ๆ มาดัดแปลงใช้ คิดว่าการที่เพื่อน ๆ หลากหลายความคิดได้มาช่วยกันทำงาน อาจารย์ที่ปรึกษา ก็จะชี้จุดบกพร่องให้เราแก้ไขเอง เป็นการพัฒนาความคิดของพวกเราด้วย จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ละครเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจ ถ้าตัวละครพูดอะไรคนก็จะจำได้ ถ้านำวิทยาศาสตร์มานำเสนอผ่านละครก็จะทำให้คนสนใจและเข้าใจมากขึ้น“อ. ณัฐวิภา เตชะเพชรไพบูลย์ ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนพุทธจักรวิทยา อาจารย์ที่ปรึกษาของละครเรื่องใครคือวายร้าย บอกว่า การลำดับขั้นตอนการเตรียมงานตั้งแต่เริ่มเขียนบท ฉาก เสื้อผ้า และการแสดงต่าง ๆ จะคอ่ย ๆ ให้ความคิดเห็นเพื่อให้นักเรียนได้นำไปคิด และนำไปปรับปรุงกันเอง นักเรียนจะได้ความรู้จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ด้วยตัวเอง นายสุกฤษฎิ์ วิจิตรละไม (โอม) ชั้น ม. 6/1 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ. ระยอง ผู้เขียนบท และแสดงเป็นนักวิทยาศาสตร์ในเรื่อง เล่าว่า ละครเรื่องนี้เป็นโจทย์ของห้อง 6/1 ในวิชาชีววิทยา และเป็นผลงานของหมวดวิทยาศาสตร์ด้วย โดยอาจารย์ให้โอมเขียนบท เสร็จแล้วก็ส่งมาให้ สสวท. พิจารณา ปรากฏว่า ติด 1 ใน 10 จึงได้ดำเนินการต่อ ทั้งทีมมี 17 คน คัดเลือกนักแสดงจากการโหวตของเพื่อนในห้องว่าใครเหมาะสมกับบท หลังจากนั้นได้ถ่ายทำวีดิทัศน์ ทำเดโมส่งมาให้ สสวท. พิจารณา ปรากฏว่าติดรอบสุดท้าย 1 ใน 5 จึงได้มาแสดงในรอบชิงชนะเลิศ ”ทีมนี้เน้นสนุกสนาน เน้นรอยยิ้ม ความคิดสร้างสรรค์ และแทรกความรู้เข้าไปด้วย” โอมบอก พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า ดีใจที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในงานนี้ ประทับใจในการทำงานเป็นทีม เกิดความไว้ใจกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา ฝึกทักษะความคิดให้ตัวเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ