การให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศกำลังพัฒนาของอียู

ข่าวทั่วไป Tuesday August 25, 2009 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--คต. นางสาวชุติมาฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิพิเศษที่ไทยได้รับภายใต้ระบบ GSP นั้นไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ฝ่ายอียูให้ฝ่ายเดียว ซึ่งอียูอาจเลิกให้สิทธิ GSP หากประเทศนั้นๆ มีศักยภาพในการแข่งขันมากเพียงพอ นอกจากนี้ การปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อขอรับสิทธิ GSP Plus อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทย เนื่องจากมีการโยงประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเงื่อนไขด้วย ดังนั้น ไทยอาจต้องมองหาช่องทางอื่นเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น การทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจหรือความตกลงการค้าเสรี เช่นเดียวกับที่กลุ่ม ACP ชิลี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในสัดส่วนที่มาก นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กลุ่มอียูได้จัดทำรายงานเรื่อง “เรื่องจริงหรือหลอกลวง : นโยบายการค้าที่เปิดกว้างของสหภาพยุโรปและการให้สิทธิพิเศษทางการค้า” โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า การที่อียูให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศต่างๆที่ได้รับสิทธิสามารถส่งออกได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. กลุ่มประเทศที่อียูให้สิทธิประโยชน์ : ประกอบด้วย 7 กลุ่มประเทศแบ่งตามระดับการพัฒนา ได้แก่ อาเซียน (ยกเว้น สิงคโปร์ พม่า ลาว และกัมพูชา) กลุ่มละตินอเมริกา (ยกเว้น ชิลี และเม็กซิโก) กลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน (ยกเว้น อิสราเอล และตุรกี) กลุ่มประเทศ ACP Non- LDC (ยกเว้น South Africa) กลุ่มประเทศ ACP-LDC กลุ่มประเทศ LDC —Non-ACP (ยกเว้น พม่า) รวมทั้งการค้าเสรีกับประเทศกำลังพัฒนา (ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้) 2. รูปแบบการให้สิทธิพิเศษ 2.1 GSP (Generalised System of Preferences): การยกเว้น (Duty Free) และลดหย่อน (Tariff Reduction) อัตราภาษีศุลกากร โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 อียูเห็นชอบโครงการ GSP ปัจจุบันและเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 — ปลายปี 2554 ครอบคลุมสินค้า 6,300 รายการ 2.2 GSP Plus: ยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าแก่สินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ GSP ทั่วไปและสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมแก่กลุ่มประเทศที่มีความต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ (Vulnerable Countries) โดยเน้นประเด็นสิทธิแรงงานและมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม 2.3 Everything but Arms (EBA): ยกเว้นภาษีศุลกากรในการเข้าสู่ตลาดโดยไม่มีการจำกัดแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 49 ประเทศ 2.4 Autonomous Trade Measures (ATMs) : ยกเว้นภาษีและโควตาแก่กลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตก และอียูได้ลงนามความตกลงสมาคมและความมั่นคง (Stabilization and Association Agreements) กับบางประเทศในกลุ่มดังกล่าวด้วยเช่นกัน 2.5 ความตกลง Cotonou และ EPAs (Economic Partnership Agreements) ระหว่างอียูและประเทศสมาชิก ACP (Africa, Caribbean and Pacific) ซึ่งมีสมาชิก 78 ประเทศ เป็นเรื่องการเปิดเสรีการค้าในลักษณะที่ให้ประโยชน์กับ ACP มากกว่าที่อียูได้รับตอบแทน 2.6 ความตกลงการค้าเสรีที่อียูจัดทำกับชิลี เม็กซิโกและแอฟริกาใต้ ครอบคลุมสินค้าเกือบทั้งหมด (Substantially all trade) และครอบคลุมถึงการยกเลิกมาตการข้ามพรมแดนและในพรมแดนที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และด้านอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและต่างตอบแทน 3. ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (preference margins) จากอียูสูงที่สุดคือ กลุ่มประเทศ ACP Non-LDC โดยได้ส่วนลดร้อยละ 13 จากอัตราภาษีนำเข้าปกติ รองลงมาได้แก่กลุ่ม LDC Non-ACP ร้อยละ 9 ตามด้วย ACP- LDC ร้อยละ 7 เมดิเตอร์เรเนียน ร้อยละ 6 และกลุ่มอาเซียนได้สิทธิพิเศษทางภาษีต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 2 4. การใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ : การนำเข้าสินค้าภายใต้อัตราภาษี MFN- 0 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2549 จึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปเนื่องจากน้ำมันและสินค้าอื่นๆ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในปี 2550 สรุปได้ดังนี้ 4.1 สินค้าที่นำเข้าภายใต้อัตราภาษี MFN-0 คิดเป็นร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งหมด 4.2 สินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี (dutiable imports) คิดเป็นร้อยละ 40 ของการนำเข้าทั้งหมด 4.3 สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี คิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี 4.4 อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ (preference utilization) ประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี 4.5 การนำเข้าโดยได้รับยกเว้นภาษีจากอียู (EU duty free) คิดเป็นร้อยละ 70 5. การใช้สิทธิประโยชน์ของไทย : ประเทศไทย (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน) ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี (preference utilization rate) ต่ำ (ตามนิยามของ Candau and Jean (2006) หมายถึงต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งหมด) กว่าภูมิภาคอื่นๆ คือใช้เพียงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในโมร็อกโกและตูนีเซีย (ในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน) ร้อยละ 85 ในอาร์เจนตินา (ละตินอเมริกา) และร้อยละ 85 ในชิลี สินค้าออกของไทยไปอียูที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องจักร คิดเป็นร้อยละ 55 อุปกรณ์ในการขนส่ง ร้อยละ 48 สำหรับสาเหตุที่ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ แยกแยะเป็นรายสินค้าได้ดังนี้ 5.1 สินค้าเครื่องยกทรง : เนื่องจากอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 6.5) และ GSP (ร้อยละ 5.2) มีอัตราใกล้เคียงกัน ต่างกันเพียงร้อยละ 1.3 จึงไม่ดึงดูดความสนใจจากผู้ส่งออก ประกอบกับอียูใช้เกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดสูง คือ “ Manufacture from yarn ” ซึ่งหมายความว่าเครื่องยกทรงจะมีถิ่นกำเนิดในไทยได้ ก็ต่อเมื่อกระบวนการตัดเย็บที่เกิดขึ้นในไทยต้องใช้วัตถุดิบผ้าผืนที่มีถิ่นกำเนิดจากไทยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงการผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ลูกค้าในต่างประเทศจะกำหนดรูปแบบ ชนิด คุณภาพและแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย ทำให้เครื่องยกทรงที่ผลิตได้ไม่เข้ากฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอียู 5.2 เตาไมโครเวฟ : อียูใช้เกณฑ์ “ Manufacture in which the value of all the materials uses does not exceed 30% of the ex-works price of the product ” หมายความว่า สินค้าที่ผลิตได้จะต้องมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้าหน้าโรงงาน หรือ สินค้ามีสัดส่วนมูลค่าต้นทุนการผลิตในประเทศผู้รับสิทธิรวมทั้งไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของราคาสินค้าหน้าโรงงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงทำให้เตาไมโครเวฟที่ผลิตได้ไม่มีถิ่นกำเนิดในไทย 5.3 ปลาทูนากระป๋อง : ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 24) และ GSP (ร้อยละ 20.5) ต่างกันเพียงร้อยละ 3.5 และอียูกำหนดเกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าตามหลัก “ Manufacture from animal of Chapter 1, and/or in which all the materials of Chapter 3 used are wholly obtained ” ซึ่งมีความเข้มงวดสูง โดยปลาทูนาจะต้องจับได้ในประเทศไทยหรือจับได้โดยเรือสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งที่ความจริงปลาทูนาที่เป็นวัตถุดิบของไทยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไต้หวัน ญี่ปุ่น วานูอาตู 6. สินค้าที่นำเข้ามายังอียูโดยใช้สิทธิพิเศษ 5 สินค้าสำคัญ ได้แก่ (1) แร่ธาตุ ซึ่งเป็นสาขาหลักที่มีการส่งออกจากทุกกลุ่มยกเว้นอาเซียน (2) สินค้าผัก (3) prepared foodstuffs (4) สิ่งทอ และ (5) สินค้าโลหะ ซึ่ง ร้อยละ 70 อียูนำเข้าจากอาเซียน และร้อยละ 95 นำเข้าจากประเทศ LDC Non-ACP ทั้งนี้ ในปัจจุบันสินค้าจำนวนมากจากประเทศกำลังพัฒนา/ ด้อยพัฒนาต่างๆ (ยกเว้น อาเซียน) ที่นำเข้ามาอียูด้วยภาษีเป็นศูนย์ และมีอัตราการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ACP ที่มา 1. สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ 2. สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ