เสนอขยายอายุเกษียณผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2009 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ชี้คนแก่วัย 60 ยังอยู่ในภาคแรงงานถึง 37.9% นักวิชาการเสนอแก้ระเบียบ ขยายอายุเกษียณ พร้อมใช้มาตรการภาษีจูงใจ กันเมินรับคนเกษียณทำงาน ผศ.ดร.นงนุช สุนทรเวชกานต์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยผลการวิจัยการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาโครงสร้างการทำงานของผู้สูงอายุ รวมทั้งประมาณความต้องการแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสมเพื่อนำเสนอเป็นนโยบายต่อรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมายังมีระเบียบ กฎหมายและมาตรการที่ไม่เอื้อกับการจ้างผู้สูงอายุเข้าเป็นแรงงาน โดยเฉพาะในอนาคตที่ประชากรกลุ่มแรงงานจะลดน้อยลง ตามสัดส่วนประชากรที่เข้าสู่กลุ่มผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากการสำรวจสภาวะการทำงานของประชากร ช่วงปี 2551 พบว่า ร้อยละ 37.9 ของจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปยังคงอยู่ในกำลังแรงงาน สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานนั้น พบว่าร้อยละ 77 ไม่ต้องการทำงาน หรือไม่สามารถทำงานได้ ส่วนที่เหลือเป็นผู้สูงอายุที่ว่างงานและกำลังหางานทำ โดยในจำนวนผู้สูงอายุทั้งที่อยู่ในกำลังแรงงาน ที่ว่างงานและต้องการทำงานนั้นเป็นผู้สูงอายุเพศชายมากกว่าผู้สูงอายุเพศหญิง คิดเป็นสัดส่วน 60 ต่อ 40 ผศ.ดร.นงนุช กล่าวอีกว่า ขณะที่อุตสาหกรรมแรงงานสูงอายุชายและหญิง กระจุกตัวมากที่สุดคืออุตสาหกรรมการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ รถจกรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร และเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของผู้สูงอายุที่อยู่ในกำลังแรงงานจะพบว่า แรงงานสูงอายุที่ไม่มีการศึกษา และมีการศึกษาในระดับต่ำกว่าประถมศึกษาเป็นกลุ่มที่ยังทำงานจนกระทั่งมีอายุมาก ในอุตสาหกรรมทุกประเภท ยกเว้นอุตสาหกรรมโรงแรม ยังพบแรงงานสูงอายุที่มีการศึกษาสูงทำงานอยู่บ้าง ส่วนอาชีพของผู้สูงอายุที่นอกเหนือจากภาคการเกษตรและประมง พบว่าผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ประกอบอาชีพการบริการมากที่สุด รองลงมา ประกอบอาชีพพื้นฐานและความสามารถทางฝีมือ โดยแรงงานสูงอายุที่ยังทำงานเกี่ยวกับงานฝีมือและอาชีพพื้นฐาน เป็นพวกที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ