บทความ: โรคริดสีดวงทวารหนัก ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป อาการของโรครักษาให้หายขาดได้... ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday September 3, 2009 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--คอร์ แอนด์ พีค นายแพทย์ทรงศักดิ์ กรสุทธิโสภณ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเจ้าพระยา ทวารหนักเป็นส่วนที่ติดต่อมาจากลำไส้ใหญ่ และมาเปิดออกนอกร่างกาย มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยเส้นรอบวงที่เรียกว่าแนวเส้นประสาท (Dentate Line) ส่วนที่อยู่สูงกว่าแนวเส้นประสาทเรียกว่า รูทวารหนัก ( Analcanal) จะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยง ที่ผนังของรูทวารหนักปกติ จะมีก้อนเนื้อนูนออกมาเป็นระยะโดยรอบเรียกว่า เบาะรอง(Cushion) ซึ่งภายในมีกลุ่มเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ โดยทฤษฎีใหม่ล่าสุดของการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนักนั้นเชื่อว่า การเบ่งอุจจาระมากๆ ภาวะท้องผูก ความดันจากการเบ่งที่สูงและอุจจาระก้อนใหญ่จะดันให้เบาะรอง เลื่อนลงมาเรื่อยๆ จนยื่นออกมานอกทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายใน (Internal hemorrhoid) ส่วนของทวารหนักที่อยู่ใต้ต่อแนวเส้นประสาทจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดดมาเลี้ยงเรียกว่า ปากทวารหนัก (Analmargin) เมื่อเบาะรองจากบริเวณรูทวารหนักเลื่อนตัวลงมาเรื่อยๆ จนถึงปากทวารหนัก ก็จะดันกลุ่มเส้นเลือด และเนื้อเยื้อของปากทวารหนักให้เลื่อนลงต่ำ และเบียดออกไปด้านข้าง จนกลายเป็นก้อนนูนที่ปากทวารหนักเรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอก (External hemorrhoid) โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ผู้ป่วยจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะเก็บความทุกข์ทรมานจากโรคนี้ไว้ตามลำพังเนื่องจากความอายและกลัวการผ่าตัด โดยสมาคมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักแห่งสหรัฐอเมริการายงานว่า ประชากรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศจะมีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในช่วงชีวิตของเขา และเหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่กล้าปรึกษาแพทย์เพราะกลัวการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเดิม ซึ่งมีข้อมูลว่าเจ็บปวดแสนสาหัส อีกทั้งผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือไปรักษาจากบุคคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ มักจะก่อให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา ที่พบบ่อยที่สุดคือรูทวารหนักตีบตันไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ ลักษณะอาการจะถ่ายเป็นเลือดออกมาตามหลังอุจจาระ มีก้อนยื่นออกมาจากทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบ ๆ ปากทวารหนัก เจ็บปวดบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ คลำได้ก้อนที่บริเวณทวารหนัก อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งมาจากพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องของคนไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้อาการถ่ายเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งจากสภาวะท้องผูก หรือการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ซึ่งมาจากพฤติกรรมในผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานผัก และผลไม้หรือดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและตำแหน่งที่เลือดออกมาจากส่วนใด ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอก มะเร็ง หรือริดสีดวงทวารหนัก คือถ้ามีเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนล่างหรือบริเวณทวารหนัก ผู้ที่มีอาการจะเห็นเป็นเลือดสีแดงสดไหลหรือหยดหรือผสมกับอุจจาระที่ออกมา อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ทำการรักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ 4 ได้ สำหรับวิธีการรักษาในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักที่ถูกต้องมากมายหลายวิธี ที่สามารถขจัดปัญหาเรื่องริดสีดวงทวารหนักออกไป โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานใด ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของริดสีดวงว่าเป็นริดสีดวงทวารหนักชนิดภายใน (Internal Hemorrhoid) หรือริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอก (External Hemorrhoid) ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด หากอาการนั้นยังไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสมัยใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ วงการแพทย์ไทยได้มีการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งได้ข้อสรุปทางเทคนิคในการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารหนักที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย หรือผู้ที่กำลังมีปัญหาการรักษาในปัจจุบัน ด้วยนวัตกรรมวิธีการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักด้วยการผ่าตัด โดยพบข้อดีสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorrhoidectomy) หรือที่เรียกว่า PPH (procedure for prolapsed and hemorrhoid) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย และใช้ระยะเวลาในการผ่าตัด และพักฟื้นตัวน้อย ระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเร็ว ความต้องการในการรับประทานยาแก้ปวดของผู้ป่วยน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม รวมถึงผลข้างเคียง หลังการผ่าตัดไม่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยจึงกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorrhoidectomy) หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบ pph (procedure for prolapsed and hemorrhoid) เหมาะกับการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักชนิดภายใน ในระยะที่ 3 และ 4 หรือริดสีดวงทวารหนักชนิดภายในที่เป็นโดยรอบทวารหนัก โดยการผ่าตัดแบบนี้ เป็นวิธีแก้ไขกลไกที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักโดยตรง เพราะจากทฤษฎีแล้ว ริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการเลื่อนตัวของเบาะรอง (cushion) ที่อยู่ภายในทวารหนักออกมาภายนอก วิธีการผ่าตัดนี้จะดันเบาะรองกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม และตัดเฉพาะส่วนเกินที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่ตัดเบาะรองออกทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วเบาะรองมีประโยชน์ในการทำให้ทวารหนักของคนเราปิดสนิท ไม่มีน้ำอุจจาระ เล็ดออกมาได้ในระหว่างที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัตินี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สำคัญ 3 ส่วนคือ เครื่องมือสอดและถ่างทวารหนัก เครื่องมือช่วยเย็บ และเครื่องมือตัดเย็บหัวริดสีดวง โดยการตัดและเย็บนี้จะกระทำตามแนวเส้นรอบวงโดยตลอด จึงสามารถตัดหัวริดสีดวงออกได้ทุกหัวและไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลง อีกทั้งแนวการเย็บอยู่สูงกว่าเส้นเด็นเต็ท (dentate Line) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยลง โดยมีผลศึกษาทางการแพทย์จากรายงานในต่างประเทศที่สอดคล้องกับผลสรุปของการประชุมในครั้งนี้ว่า การผ่าตัดรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักชนิดภายในด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ มีข้อดีคือ ตัดหัวริดสีดวงทวารหนักออกได้หมด โดยไม่เกิดผลแทรกซ้อนเรื่องทวารหนักตีบตัน รวมถึงโอกาสเกิดปัญหากลั้นอุจจาระไม่อยู่ก็น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เพราะผู้ป่วยยังคงเหลือส่วนเบาะรอง (Cushion) เอาไว้ทำหน้าที่ได้ แต่จุดเด่นที่สำคัญ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อย และการใช้เวลาพักฟื้นน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม และเพื่อเป็นการป้องกัน การเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายลำบาก อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการรับประทานอาหาร เน้นผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอุปนิสัยเบ่งอุจจาระเวลาขับถ่าย ไม่ใช้ยาสวนอุจจาระพร่ำเพรื่อ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีโอกาสห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวารหนัก และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องพบแพทย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปาริชาติ สุวรรณ์(ปุ้ม) หรือคุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8204 หรือ 081-668- 9239

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ