อียูสำรวจความนิยมซื้อสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Friday September 4, 2009 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้รายงานผลสำรวจความเห็นของประชาชนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (Eurobarometer Survey) ต่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวความคิดเรื่องค่านิยมของชาวยุโรป จะมีผลต่ออนาคตการผลิตและการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรป ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้ 1. การตัดสินใจซื้อสินค้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรก ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมทั้งบริษัทต่างๆ หรือรัฐบาลและผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ลูกค้าส่งสัญญาณไปยังผู้ผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. ร้อยละ 83 เห็นว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะประชาชนในกรีซจะให้ความสำคัญมากที่สุด (ร้อยละ 92) ในส่วนสาธารณรัฐเช็กให้ความสำคัญน้อยที่สุด (ร้อยละ 62) 3. ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 49 เชื่อคำกล่าวอ้างของบริษัทว่ามีการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมจริง ในขณะที่ ร้อยละ 48 ไม่เชื่อ โดยชาวเนเธอร์แลนด์เชื่อถือคำกล่าวอ้างของบริษัทมากที่สุดร้อยละ 78 4. ร้อยละ 46 เห็นว่าการเพิ่มอัตราภาษีสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กับการลดอัตราภาษีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางดีที่สุดในการสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยชาวอังกฤษสนับสนุนระบบอัตราภาษีสองทางนี้มากที่สุด ขณะที่ชาวมอลต้าสนับสนุนน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 28 โดยต้องการให้ลดอัตราภาษีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวมากกว่า 5. ผู้ค้าปลีกควรมีบทบาทในการส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยผู้ถูกสำรวจประมาณร้อยละ 49 เห็นว่าผู้ค้าปลีกควรแสดงสินค้าเหล่านี้ให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นบนชั้นวางสินค้าหรือจัดมุมสินค้าประเภทนี้ในร้าน ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 31 เห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่ผู้ค้าปลีกจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ green products คือ การให้ข้อมูลที่ดีแก่ผู้บริโภคหรือลูกค้า 6. ประเด็นการติดฉลาก (Carbon Footprint Labels) ผู้ถูกสำรวจน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่าการติดฉลาก (Eco Labels) มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและประชาชนเพียง 1 ใน 10 เห็นว่าควรระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตต่างๆ บนฉลากสินค้าด้วย แต่ผู้ถูกสำรวจ ร้อยละ 72 เห็นว่าในอนาคตควรบังคับการติดฉลาก Carbon Footprint บนสินค้า ซึ่งชาวเช็กสนับสนุนความเห็นนี้น้อยที่สุดร้อยละ 47 ส่วนชาวกรีซสนับสนุน ความเห็นนี้สูงที่สุดร้อยละ 90 ทั้งนี้ ฉลากสินค้าควรแสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รวมทั้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงอายุการ ใช้งานของสินค้าด้วยตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการกำจัดเศษเหลือทิ้งของสินค้านั้น ๆ ทั้งนี้ คณะมนตรียุโรปด้านสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะมีระบบการติดฉลากลักษณะข้างต้น รายละเอียดรายงานการสำรวจดังกล่าวสามารถดูได้จากเว็บไซต์ http://ec.europa.eu/environment/eussd/escp_en.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ