มติที่ประชุม ก.พ. ครั้งที่ 8/2552

ข่าวทั่วไป Tuesday September 15, 2009 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ก.พ. ครั้งที่ 8/2552 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก โดยที่ประชุมได้พิจารณาและ ให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ อาทิ เห็นชอบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งบังคับบัญชาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ดังนี้ ตำแหน่งที่กำหนดให้บังคับบัญชา ต้องเป็นตำแหน่งในประเภทและระดับอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ประเภททั่วไประดับชำนาญงานขึ้นไป ประเภทวิชาการระดับชำนาญการขึ้นไป หรือประเภทอำนวยการ โดยให้กำหนดการบังคับบัญชาได้ในฐานะหัวหน้ากอง หรือผู้อำนวยการกอง ทั้งนี้ ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่จะกำหนดให้มีการบังคับบัญชาจะต้องเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศหรือหน่วยงานภายในที่ขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือระดับกรม เห็นชอบสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงอยู่ ตามที่ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเสนอ ดังนี้ หลักการ คือ ส่วนราชการสามารถรักษาข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถและผลงานดีในขณะเดียวกันก็ให้ข้าราชการมีโอกาสเลือกที่จะรับราชการต่อไป หลักเกณฑ์และวิธีการ 1) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานหรือตำแหน่งที่ถูกยุบเลิกแสดงความจำนงว่าจะรับราชการต่อไปหรือไม่ 2) กรณีเลือกที่รับราชการต่อ ให้ขอย้ายหรือโอนไปดำรงตำแหน่งที่ตนมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งในส่วนราชการเดิมหรือส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานอื่น โดยให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุในตำแหน่งที่ขอย้ายหรือขอโอนเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ข้าราชการผู้นั้นย้าย หรือรับโอนหรือไม่ และให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของข้าราชการผู้นั้นให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และคุณลักษณะส่วนบุคคลของข้าราชการดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย หากผู้มีอำนาจสั่งบรรจุในตำแหน่งที่ขอย้ายหรือขอโอนพิจารณาให้ย้ายหรือรับโอนให้ออกคำสั่งย้ายหรือรับโอนตามปกติ โดยไม่ให้ถือว่าข้าราชการผู้นั้นได้พ้นจากราชการตามมาตรา 110 (4) แต่หากพิจารณาแล้ว ไม่ควรย้ายหรือรับโอน ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุในตำแหน่งที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงอยู่ สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเหตุเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง ตามมาตรา 110 (4) ต่อไป 3) ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะรับราชการต่อ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุในตำแหน่งที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงอยู่ สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเหตุเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง ตามมาตรา 110(4) ตั้งแต่วันที่หน่วยงานหรือตำแหน่งนั้นถูกยุบ 4) กรณีข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งที่ถูกยุบ อยู่ระหว่างชดใช้ทุน ให้ส่วนราชการหาตำแหน่งว่างเพื่อย้ายหรือโอนผู้นั้น มิให้สั่งให้ออกจากราชการเหตุเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง ตามมาตรา 110 (4) 5) ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษที่ไม่อาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดนี้ ให้ขออนุมัติ ก.พ. เป็นกรณีๆ ไป เห็นชอบแนวทางการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ก.พ. เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ตามที่ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเสนอ ดังนี้ 1) กรณีเจ็บป่วย ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ เห็นควรนำแนวทางเดิมตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาใช้ คือ ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุเห็นสมควรให้ออกจากราชการ โดยมีความเห็นแพทย์ประกอบว่าผู้นั้นไม่สามารถปฏิบัติราชการได้โดยสม่ำเสมอแล้ว ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้ 2) กรณีสมัครไปปฏิบัติงานใดๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ เห็นควรให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุเป็นผู้พิจารณาสั่งให้ออกจากราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. เห็นชอบแล้ว เห็นชอบแนวทางการจัดทำรายงานการบริหารทรัพยากรบุคคลของกระทรวง กรม จังหวัด ตามที่ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเสนอ โดยเห็นสมควรให้ส่วนราชการจัดทำรายงานแสดงสถิติตำแหน่งและกำลังคน ผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ ก.พ. กำหนด (ความสอดคล้องเชิงยุทธศาสตร์ ประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล ประสิทธิผลของการบริหารทรัพยากรบุคคล ความพร้อมรับผิดด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และคุณภาพชีวิตของข้าราชการ) นวัตกรรมและผลสำรวจความพึงพอใจของข้าราชการ และส่งให้สำนักงาน ก.พ. เป็นประจำทุกปี เพื่อประเมินผลในภาพรวมของราชการพลเรือนและจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป เห็นชอบการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ตามที่ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการเสนอ ดังนี้ 1) การดำเนินการเพื่อลงโทษในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง สั่งให้ออกจากราชการ กรณีที่เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง หรือกรณีที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่งใช้อยู่เดิมตามมาตา 132 ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.สามัญ พิจารณา 2) การลงโทษลดขั้นเงินเดือนที่กระทำผิดวินัยก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโดยนำขั้นเงินเดือนตามตารางการเลื่อนเงินเดือนชั่วคราว ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่นร 1012/ว 5 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 มาใช้โดยอนุโลม 3) การลงโทษลดเงินเดือนตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ให้ลงโทษลดเงินเดือนครั้งหนึ่งตามตารางการเลื่อนเงินเดือนชั่วคราวตามข้อ 2 โดยอนุโลม ไม่เกินหนึ่งขั้น 4) ผู้อำนวยการกอง หรือผู้อำนวยการสำนัก ได้สอบสวนหรือพิจารณาโดยถูกต้องตามกฎหมายก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ก็ให้ดำเนินการต่อไป เมื่อแล้วเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนหรือพิจารณาและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป 5) ในวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้รับรายงานตามมาตรา 109 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และพิจารณายังไม่เสร็จ ก็ให้ส่งสำนวนการสอบสวนหรือพิจารณาและความเห็นของตนไปให้ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ ก.พ. พิจารณาตามมาตรา 103 6) ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานการดำเนินการทางวินัย การสอบสวน หรือการให้ออกจากราชการ ไปยังอธิบดี และในวันที่ 11 ธันวาคม 2551 อธิบดีพิจารณาไม่เสร็จ ก็ให้ส่งสำนวนการสอบสวนหรือพิจารณาไปยัง อ.ก.พ.กระทรวง หรือ ก.พ.พิจารณาตามมาตรา 103 7) ในกรณีที่ได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.สามัญใดพิจารณาโดยถูกต้องก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ก็ให้ อ.ก.พ.สามัญนั้นพิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จ 8) ในกรณีที่ได้รายงานการดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการไปยัง อ.ก.พ.กระทรวง โดยถูกต้องก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ก็ให้ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จ เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาระบบตำแหน่งลูกจ้างประจำของส่วนราชการ โดยยึดหลักความเป็นธรรมภายใน การใช้คนให้เหมาะกับตำแหน่งงาน และการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ระบบตำแหน่งของลูกจ้างประจำมีความทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับบทบาทของภาครัฐ และสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในการพัฒนาระบบตำแหน่งของลูกจ้างประจำ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนรวม 168,675 คน อยู่ใน 1,268 สายงาน (ไม่รวมลูกจ้างประจำในกระทรวงกลาโหม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการทบทวนการจัดหมวดลักษณะงานและชื่อตำแหน่งให้เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนมาตรฐานกำหนดตำแหน่งเพื่อให้หน้าที่ความรับผิดชอบและคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งมีความสอดคล้องกันมากที่สุด และจำแนกความแตกต่างของหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งให้มีความชัดเจน โดยมีแนวทางการจัดกลุ่มตำแหน่งใหม่ออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นอิสระจากกัน และกำหนดชั้นงานในแต่ละกลุ่มใหม่ ดังนี้ 1) กลุ่มสนับสนุนทั่วไป สำหรับตำแหน่งซึ่งมีลักษณะงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก มีชั้นงาน 2 ระดับ (เช่น ระดับ ส.1/ส.2 เป็นต้น) 2) กลุ่มช่างเทคนิค สำหรับตำแหน่งซึ่งมีลักษณะงานที่เป็นงานกึ่งฝีมือ มีชั้นงาน 3-4 ระดับ (เช่น ระดับ ช.1/ช.2/ช.3/ช.4 เป็นต้น) 3) กลุ่มเทคนิคเฉพาะ สำหรับตำแหน่งซึ่งมีลักษณะงานที่ใช้ฝีมือหรือความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก มีชั้นงาน 3-4 ระดับ (เช่น ระดับ ท.1/ท.2/ท.3/ท.4 เป็นต้น) ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาตำแหน่งลูกจ้างประจำจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีโอกาสเลื่อนสู่ชั้นงานที่สูงขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนหมวดลักษณะงานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างประจำได้พัฒนาตนเอง ให้มีทักษะและประสบการณ์สำหรับก้าวไปสู่ระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น ตลอดจนเกิดความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคล เห็นชอบแนวทางการกำหนดความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง ทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน (สมรรถนะหลัก สมรรถนะทางการบริหาร และสมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ) ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการโดย อ.ก.พ.กรมกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมของสมรรถนะหลักภายในเดือนธันวาคม 2552 และกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมของความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติภายในเดือนกันยายน 2553 เห็นชอบตามมติ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างระบบและมาตรฐานการสรรหาทรัพยากรบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปศึกษาเพิ่มเติม ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยในประเทศ ซึ่งเน้นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ เพื่อความเป็นมืออาชีพ โดยการกระจายอำนาจให้แก่ส่วนราชการตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การให้ข้าราชการไปศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรที่ อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาเห็นว่าเป็นความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในส่วนราชการ ก็ให้ถือเสมือนว่าการไปศึกษานั้น เป็นการไปปฏิบัติราชการ และนอกจากนี้ การไปฝึกอบรมก็ให้ถือเป็นการไปราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดประชุมของทางราชการ พ.ศ. 2524 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ