รายงานสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 3, 2006 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--ปภ.
สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอรายงานสถานการณ์อุทกภัย อันเนื่องมาจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้จังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนัก ตั้งแต่ วันที่ 14 ธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ดังนี้.-
1. สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2548 — 1 มกราคม 2549)
1.1 พื้นที่ประสบภัย รวม 8 จังหวัด 93 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ 582 ตำบล 3,179 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง ตรัง ยะลา สตูล และนราธิวาส
1.2 ความเสียหาย
1) ด้านชีวิต ประชาชนเดือดร้อน 368,505 ครัวเรือน 1,616,942 คน มีผู้เสียชีวิต 27 ราย (จังหวัดสงขลา 14 ราย ตรัง 2 ราย ปัตตานี 1 ราย พัทลุง 4 ราย ยะลา 4 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย และสตูล 1 ราย)
2) ด้านทรัพย์สิน ในเบื้องต้นได้รับรายงาน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 47 หลัง เสียหายบางส่วน 788 หลัง ถนน 2,189 สาย สะพาน 289 แห่ง ทำนบ-ฝาย 68 แห่ง ท่อระบายน้ำ 227 แห่ง พื้นที่การเกษตร 506,360 ไร่ ปศุสัตว์ 220,219 ตัว บ่อปลา 10,393 บ่อ
1.3 มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 596,214,571 บาท
2. พื้นที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล นราธิวาส และยะลา
3. พื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง และตรัง
1) จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประสบภัย รวม 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ สทิงพระ ระโนด เทพา สิงหนคร กระแสสินธุ์ บางกล่ำ ควนเนียง สะบ้าย้อย นาทวี นาหม่อม จะนะ คลองหอยโข่ง เมืองฯ และรัตภูมิ
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด (ตำบลระโนด ตะเครียะ บ้านขาว) อำเภอกระแสสินธุ์ (ตำบลกระแสสินธุ์ โรง เชิงแส และเกาะใหญ่) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.45-0.50 เมตร อำเภอสทิงพระ (ตำบลคูขุด ท่าหิน คลองรี) และอำเภอสิงหนคร (ตำบลทำนบ ปากรอ และรำแดง) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.35-0.40 เมตร โดยทั้ง 4 อำเภอเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลสาบสงขลา และมีน้ำทะเลหนุน
การให้ความช่วยเหลือ
(1) จังหวัด และกองเรือภาคที่ 2 จัดส่งเรือท้องแบน 50 ลำ ไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย
(2) จังหวัด อำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมูลนิธิเพื่อการกุศล มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 30,000 ชุด
(3) สำนักงานชลประทานที่ 16 ได้ส่งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 52 เครื่อง
2) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัย รวม 21 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอนาบอน ฉวาง บางขัน หัวไทร ร่อนพิบูลย์ สิชล พระพรหม เมือง ขนอม พิปูน เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งสง ถ้ำพรรณรา ชะอวด ท่าศาลา ทุ่งใหญ่ ปากพนัง พรหมคีรี จุฬาภรณ์ ลานสกา เชียรใหญ่ กิ่งอำเภอช้างกลาง และกิ่งอำเภอนบพิตำ
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ตำบลสวนหลวง ทางพูน เชียรเขา) อำเภอเชียรใหญ่ (ตำบลบ้านเนิน การะเกด แม่เจ้าอยู่หัว) และอำเภอปากพนัง (ตำบลบางตะพง บางพระ) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.25 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดส่งเรือท้องแบนจำนวน 61 ลำ เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง รถตู้คอนเทนเนอร์ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสำเร็จรูป ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
3) จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ประสบภัย รวม 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ แม่ลาน ทุ่งยางแดง ไม้แก่น หนองจิก มายอ ยะรัง โคกโพธิ์ ยะหริ่ง กะพ้อ สายบุรี และ ปะนาเระ
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มของอำเภอยะรัง (ตำบลคลองใหม่ ประจัน) ระดับน้ำลดลง สูงประมาณ 0.10 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
1) จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดส่งเรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ ถุงยังชีพเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
2) สาธารณสุขจังหวัดได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น โรคตาแดง ไขหวัด น้ำกัดเท้า ฯลฯ
3) ปศุสัตว์จังหวัดเข้าดำเนินการให้การช่วยเหลือสัตว์ที่ป่วยในพื้นที่
4) จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประสบภัย รวม 10 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ ควนขนุน กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด ป่าบอน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าพะยอม ศรีบรรพต กิ่งอำเภอศรีนครินทร์
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มของอำเภอเมือง (ตำบลลำปำ พญาขัน ชัยบุรี) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20 เมตร ส่วนในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน และควนขนุน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับทะเลสาบ และมีน้ำทะเลหนุน ยังคงมีน้ำท่วมขังในระดับสูงประมาณ 0.30-0.40 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นดังนี้
1) เรือท้องแบนจำนวน 64 ลำ ถุงยังชีพ 100,000 ชุด น้ำดื่ม 57,744 ลิตร ยาเวชภัณฑ์ 1,010 ชุด กระสอบทรายกั้นน้ำ 7,000 ถุง ผ้าห่มกันหนาว 2,090 ผืน รถยนต์บรรทุก 40 คัน รถเครน 6 คัน
2) หน่วยทหารช่าง 401, 402 และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 43 สร้างห้องน้ำ จำนวน 10 ห้อง และปรับยกพื้นศูนย์อพยพบ้านแหลมไก่ผู้ ต.ฝาละมี อ.ปากพะยูน
5) จังหวัดตรัง พื้นที่ประสบภัย 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ ห้วยยอด กันตัง รัษฎา ย่านตาขาว วังวิเศษ นาโยง ปะเหลียน และสิเกา
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มของอำเภอกันตัง บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง ได้แก่ตำบลควนธานี โคกยาง และย่านซื่อ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
1) จังหวัดร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ สภากาชาดไทย และองค์กรการกุศล ได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 97,633 ชุด น้ำดื่ม 200,000 ขวด อาหารสำเร็จรูป 138,218 ชุด ยาเวชภัณฑ์ 673 ชุด หญ้าสด 13 ตัน หญ้าแห้ง 1,808 ฟ่อน เรือท้องแบน 13 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
2) จังหวัดร่วมกับชลประทานจังหวัดได้เจาะพนังกั้นน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำตรัง ที่หมู่ที่ 6 ตำบลนาท่ามเหนือ และได้ประสานกับกองพลทหารราบที่ 5 กองพันทหารช่าง ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ติดตั้งสะพานเครื่องหมุนมั่น แบบ M 46 เพื่อการสัญจรของประชาชนและเป็นทางระบายน้ำชั่วคราว
3) ชลประทานจังหวัดได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 20 เครื่องเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำตรัง
4. การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย / และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดส่งเรือท้องแบน 134 ลำ เครื่องสูบน้ำ 18 เครื่อง รถบรรทุกขนาดเล็ก/ใหญ่ 8 คัน รถกู้ภัย 2 คัน รถตู้คอนเทนเนอร์ 2 คัน รถเครน 15 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถขุดไฮดรอริค 2 คัน รถไฟฟ้าส่องสว่าง 2 คัน รถบรรทุกเรือ 2 คัน สะพานเบลีย์ ขนาด 63 เมตร 4 แห่ง น้ำดื่ม 6,000 ขวด ถุงยังชีพ 35,000 ชุด และอาหารกระป๋อง (ฮาราล) 400,000 กระป๋อง
4.2 กองทัพอากาศสนับสนุนรถบรรทุกขนาดใหญ่ 3 คัน กำลังพล 84 นาย คณะแพทย์ ทอ. 22 คน ชุดฟื้นฟูจิตใจ 8 คน เรือท้องแบน 40 ลำ เฮลิคอปเตอร์ (UH-IH) เรือขนาด 16 ฟุต 8 ลำ น้ำดื่ม 350 โหล กระสอบทราย 4,000 ถุง เวชภัณฑ์ 12 กล่อง ถุงยังชีพ 620 ชุด
4.3 กองเรือภาคที่ 2 สนับสนุน เรือท้องแบน 12 ลำ อาหาร และน้ำดื่ม 1,000 ขวด
4.4 กองทัพบก ได้ออกให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ดังนี้ ด้านกำลังพล 373 นาย เรือท้องแบน 74 ลำ รถยนต์ 39 คัน ชุดประปาเคลื่อนที่ 3 เครื่อง
4.5 กองอำนวยการ สสส. จชต. สนับสนุนกำลังพล 40 นาย เรือยาง 9 ลำ เรือท้องแบน 42 ลำรถบรรทุก 12 คัน เครื่องทำน้ำประปา 6 เครื่อง
4.6 กรมปศุสัตว์ สนับสนุนอาหารสัตว์ 1,817,900 กก.
4.7 กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนเวชภัณฑ์ 299,400 ชุด
4.8 สภากาชาดไทย สนับสนุนอาหาร และน้ำดื่ม 15,000 ขวด ถุงยังชีพ 6,000 ชุด อาหารสำเร็จรูป มูลค่า 20,000 บาท
4.9 มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สนับสนุนอาหาร และน้ำดื่ม ขวดเปล่าสำหรับใส่น้ำดื่ม 33,800 ขวด น้ำดื่ม 4,000 ขวด ถุงยังชีพ 1,000 ชุด
4.10 มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ สนับสนุนนม และน้ำดื่ม 10,000 ชุด อาหารสำเร็จรูป มูลค่า 298,702 บาท เครื่องอุปโภคบริโภค มูลค่า 1,750,000 บาท
4.11 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ชื่อบัญชี “สมทบทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ประเภทเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน สาขามหาดไทยหมายเลขบัญชี 00-0006-20-014496-3
5. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศประจำวันที่ 1 มกราคม 2549 เวลา 17.00 น
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ได้แผ่เสริมปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในระยะ 1-2 วันนี้ อนึ่ง ภาคเหนือยังคงมีหมอกหลายพื้นที่ในตอนเช้าขอให้ระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกในระยะนี้ไว้ด้วย
6. ปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 07.00 น. วันที่ 31 ธ.ค.48 ถึง 07.00 น. วันที่ 1 ม.ค.49 ดังนี้
- จ.ปัตตานี (อ.หนองจิก) 39.5 มม.
- จ.นราธิวาส (อ.สะไหง โก-ลก) 29.5 มม.
- จ.สงขลา (อ.หาดใหญ่) 22.2 มม.
7. จากการตรวจสอบสภาวะฝนจากสถานีเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 1 ม.ค.49 เวลา 16.00 น. มีกลุ่มฝนกำลังอ่อนปกคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และบริเวณอ่าวไทย
8. สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์คืบหน้าประการใด จักได้ติดตามและรายงานให้ทราบต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
โทร. 0-2241-7450 - 62, โทรสาร 0-2241-7450 - 6 สายด่วน 1784--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ