คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549

ข่าวทั่วไป Thursday February 16, 2006 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 มีมติในเรื่องดังต่อไปนี้
1. การอนุญาตให้ใช้บริการด้านผู้ติดต่อผู้ลงทุนจากบริษัทในกลุ่มเดียวกัน
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในรูปแบบกลุ่มบริษัทสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันและมีการถือหุ้นระหว่างกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 สามารถใช้บริการผู้ติดต่อผู้ลงทุนระหว่างกันได้ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถใช้บริการด้าน back office ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดเช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์
โดยในการใช้บริการดังกล่าวบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนฯ ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและ
กฎเกณฑ์ที่ทางการกำหนด รวมทั้ง ต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
2. การกำหนดให้ บล. และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจัดให้มีกรรมการอิสระเพื่อส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ (ไม่รวม บลจ. และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ผู้กำกับดูแลหลักรายอื่น) และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ต้องจัดให้มีกรรมการอิสระจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของกรรมการบริษัททั้งหมด โดยกรรมการอิสระต้องไม่มีความสัมพันธ์ทั้งด้านการถือหุ้น หรือความสัมพันธ์ อื่นใดกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่จะทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างอิสระได้
ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 นอกจากนี้ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวข้างต้นต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนดด้วย
3. การกำหนดจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) ควรเป็นกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อย โดยมีการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง รวมทั้งต้องเป็นกองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนด
จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนและการถือครองหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ดังนี้
1. จำนวนผู้ถือหน่วยของกองทุนรวม ต้องมีไม่ต่ำกว่า 35 ราย ตลอดเวลา
2. ห้ามผู้ลงทุนรายใดถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ โดยนับรวมสามี ภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และหากผู้ถือหน่วยเป็นนิติบุคคลก็ให้นับรวมบุคคลที่เกี่ยวข้องของนิติบุคคลด้วย โดยหลักเกณฑ์ในข้อนี้ยกเว้นให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันที่ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม เป็นต้น หรือในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรที่ ก.ล.ต. ผ่อนผันให้
3. ผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ สามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ลงทุนที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 2 ก็ตาม
4. สำหรับกองทุนรวมเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้บริษัทจัดการแจ้งรายชื่อกองทุนและจำนวน ผู้ถือหน่วยลงทุนต่อ ก.ล.ต. ภายใน 30 วัน และดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ ภายใน 1 ปี หลังจากที่ประกาศมีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก.ล.ต. อาจพิจารณาสั่งเลิกโครงการ
5. กรณีที่กองทุนใดมีผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการเป็นการชั่วคราว
5.1 หากเกิดจากขนาดกองทุนลดลงเพราะผู้ถือหน่วยรายย่อยไถ่ถอนคืน โดยผู้ลงทุนรายใหญ่มิได้มีการลงทุนเพิ่ม ต้องแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบ ภายใน 5 วันทำการ และกองทุนยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้
5.2 หากเกิดจากกองทุนขาดสภาพคล่อง กองทุนยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เช่น กรณีการนำเงินจากบริษัทแม่ของบริษัทจัดการมาเพิ่มเข้าในกองทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยมีเงื่อนไขระยะเวลาในการลงทุนที่ชัดเจน
5.3 กรณีอื่น บริษัทจัดการจะต้องลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยรายนั้นๆ ให้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการ ภายใน 2 เดือน หรือเลิกกองทุน
6. หากมีการกระทำที่ ก.ล.ต. เห็นว่าเป็นการรวบรวมบุคคลจากกลุ่มเดียวกัน หรือเห็นเจตนาว่าเป็นการรวบรวมผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อให้ได้จำนวนผู้ถือหน่วยหรือสัดส่วนการถือหน่วยตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต. อาจสั่งเลิกกองทุนและส่งเรื่องให้สมาคมบริษัทจัดการลงทุนพิจารณาในเรื่องจรรยาบรรณต่อไป
4. การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นเพื่อบริษัทจัดการ (พอร์ตบริษัท)
เพื่อให้บริษัทจัดการที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลสามารถบริหารเงินทุนของตนได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นเพื่อบริษัทจัดการ (พอร์ตบริษัท) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัทจัดการสามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทใด ๆ เพื่อพอร์ตของบริษัทจัดการ หากเป็นเงินลงทุนระยะยาวเกิน 1 ปี (เว้นแต่เป็นการลงทุนในตราสารอายุต่ำกว่า 1 ปีและถือไว้จนครบอายุตราสาร) โดยที่บริษัทจัดการจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพิ่มทุนเพื่อลงทุนเพื่อพอร์ตของบริษัทจัดการเอง และจะต้องถือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นไว้เกินกว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนหรือมีไว้ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและสมควรโดยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ บริษัทจะต้องรายงานการจำหน่ายจ่ายโอนหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดังกล่าวพร้อมหลักฐานการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทให้ ก.ล.ต. ทราบภายใน 5 วันทำการ
2. บริษัทจัดการต้องมีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างการลงทุนเพื่อพอร์ตของบริษัทจัดการกับการลงทุนให้กองทุนหรือลูกค้า มีระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายในและมีระบบการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยที่เหมาะสม และจะต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของลูกค้าก่อนเสมอ ซึ่งบริษัทจัดการจะต้องยื่นขอความเห็นชอบระบบงานดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. ก่อนการลงทุน
5. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างประกาศที่เกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ แทนคณะอนุกรรมการ 2 คณะเดิม ที่สิ้นสุดวาระเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ประเภททุน ประกอบด้วย
1. นายประสงค์ วินัยแพทย์ เป็นประธานอนุกรรมการ
2. ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการ
3. ผู้แทนสมาคมบริษัทจดทะเบียน เป็นอนุกรรมการ
4. ผู้แทนสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เป็นอนุกรรมการ
(ชมรมวาณิชธนกิจ)
5. ผู้แทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เป็นอนุกรรมการ
6. นางภัทรพร มิลินทสูต เป็นอนุกรรมการ
7. ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ประเภทอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับ
ตราสารทุน ประกอบด้วย
1. นายประสงค์ วินัยแพทย์ เป็นประธานอนุกรรมการ
2. ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการ
3. ผู้แทนสมาคมบริษัทจดทะเบียน เป็นอนุกรรมการ
4. ผู้แทนสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เป็นอนุกรรมการ
(ชมรมวาณิชธนกิจ)
5. ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นอนุกรรมการ
6. ผู้แทนสมาคมธนาคารต่างชาติ เป็นอนุกรรมการ
7. ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ อนุกรรมการทั้ง 2 คณะข้างต้น มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี--จบ--

แท็ก ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ