Google พลิกโฉมหน้าธุรกิจคอนเทนต์และบริการออนไลน์

ข่าวทั่วไป Tuesday January 17, 2006 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
Google: ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
มร. ราจ เชคก้า โจชิ
ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Itorama Consulting (Thailand )Ltd.,
ที่ปรึกษาของ G Partnersและรองประธานอาวุโสของ Macmillan India
Google พลิกโฉมหน้าธุรกิจคอนเทนต์และบริการออนไลน์ โดยเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในเดิมพันครั้งนี้ นี่คือมหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานระหว่าง Google และบรรดาสำนักพิมพ์ โดยแต่ละฝ่ายพยายามที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
แต่กระนั้นก็ยังมีหลากหลายแง่มุมที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก กล่าวคือ เช่นเดียวกับตลาดอื่นๆ ธุรกิจที่ว่านี้กำลังถูกครอบงำด้วยความรู้สึกกลัวและความปรารถนาที่จะแสวงหาผลกำไรในตลาดหุ้น ทั้งนี้ในด้านหนึ่ง สำนักพิมพ์รู้สึกหวาดกลัวและโกรธเคืองที่ใครบางคนกำลังจะดึงทรัพย์สินของเขาไปใช้ประโยชน์ หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ บั่นทอนธุรกิจที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน และในอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือความปรารถนาของบริษัทอิสระแห่งหนึ่งซึ่งตอนนี้เริ่มจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ยึดถือผลกำไรเป็นที่ตั้งเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ
ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้พบเห็นแง่มุมใหม่ๆ ในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นประเด็นโต้แย้งที่น่าสนใจ แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะลงตัว เพราะธุรกิจออนไลน์ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและปัญหาท้าทายมากมายยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และเรื่องนี้อาจจะต้องรอการตัดสินจากศาลหรือองค์กรนิติบัญญัติของแต่ละประเทศ
ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีจุดยืนที่มั่นคง กล่าวคือ สำนักพิมพ์ไม่สามารถยึดติดกับสิทธิ์ของตนภายใต้แนวทางและรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้มานานหลายสิบปี เพราะตอนนี้เรากำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคของธุรกิจออนไลน์ ดังนั้นองค์กรเหล่านี้จึงต้องเลือกระหว่างการยืนหยัดต่อต้านกระแสออนไลน์ หรือก้าวเดินไปข้างหน้าและจัดตั้งองค์กรธุรกิจออนไลน์ของตนเอง ในทางตรงกันข้าม Google ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกและการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานของระบบทุนนิยม เช่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะไม่ได้รับความเสียหาย หรือเจ้าของทรัพย์สินจะไม่ถูกบีบบังคับให้แบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น แต่กระนั้นความกลัวที่เป็นผลมาจากการดำเนินการของ Google ก็นับว่าสมเหตุสมผลในระดับหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความกลัวว่าจะถูก Netscape ครอบงำในอดีต
บางทีนั่นอาจเป็นจุดยืนที่ Google ต้องการในระบบเศรษฐกิจ สังคม และในความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ เพราะทุกวันนี้ Google ยังคงถูกมองว่าเป็นโครงการความร่วมมือของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เฉลียวฉลาด ซึ่งสละเวลาว่างจาก ‘การทำงาน’ เพื่อปรับปรุง Google แต่ในท้ายที่สุดเราคงจะได้เห็น Google ปรับเปลี่ยนความทะเยอทะยานของตนให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาไปสู่จุดยืนของสำนักพิมพ์ หรือสำนักพิมพ์อาจร่วมมือกับ Google หรือสำนักพิมพ์บางรายแปรเปลี่ยนเป็น ‘Google’ ในระดับหนึ่ง ที่จริงแล้วสำนักพิมพ์รายใหญ่ๆ หลายราย หรือสมาคมสิ่งพิมพ์ระดับประเทศ ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตักตวงผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เริ่มเผยโฉมให้เห็น
ประโยชน์ที่สำคัญประการหนึ่งที่เราคาดหวังก็คือ สำนักพิมพ์จะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น โดยในปัจจุบันสำนักพิมพ์ขนาดเล็กส่วนใหญ่ รวมถึงสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่บางแห่ง ยังคงมองว่ากิจกรรมออนไลน์เป็นองค์ประกอบที่ไม่สำคัญสำหรับธุรกิจ และที่แย่กว่านั้นก็คือ เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ถูกบีบบังคับให้ดำเนินการ ที่จริงแล้วสำนักพิมพ์เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องออกมาจากฐานที่มั่นเดิม และปรับเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ทั้งยังจะต้องกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากการที่ผมได้พูดคุยกับสำนักพิมพ์หลายรายในสหรัฐฯ และอังกฤษ พบว่าสำนักพิมพ์เหล่านี้เริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อ ‘ทรัพย์มรดก’ ที่ตกทอดกันมาตั้งแต่อดีต และนอกจากจะรู้สึกโกรธแค้นต่อ Google แล้ว สำนักพิมพ์เหล่านี้ก็กำลังเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้อย่างสุดกำลัง
Google ได้ดำเนินการตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการพลิกโฉมหน้าธุรกิจคอนเทนต์และบริการออนไลน์ และเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ ซึ่งย่อมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งในส่วนของสำนักพิมพ์ กฎหมาย และความเคลื่อนไหวของบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น Yahoo และ Microsoft ทั้งยังมีปัจจัยเรื่องกระแสการตอบรับจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อีกด้วย จะว่าไปแล้วเราก็ไม่ค่อยจะพบเห็นกรณีตัวอย่างที่ Google ตกอยู่ในภาวะกดดัน หรือจำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญ ซึ่งนับเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเราควรจะจับตามองต่อไป
นอกจากนี้ ยังนับเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่จะลองสำรวจมุมมองจากทางเอเชียซึ่งจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญในอนาคต ในปัจจุบันโดยมากแล้วการต่อสู้ที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่าง Google และสำนักพิมพ์ในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ซึ่งครอบครองคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถูกจัดรวมไว้ในคลังข้อมูลของ Google และสำนักพิมพ์เหล่านี้ก็ยังมีเดิมพันด้านการเงินที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ที่จริงแล้ว ในสายตาของคนเอเชีย ‘Google’ ถือเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นชาวเอเชียย่อมจะเห็นใจ Google มากกว่า ด้วยเพราะคิดว่าการดำเนินการของ Google จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนต์จำนวนมหาศาลแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้น ในปัจจุบันสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่กลับไม่ตระหนักถึงปัจจัยข้อนี้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก thailand   google  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ