สถาบันอาหาร ติวเข้ม กฎหมายนำเข้า-ส่งออกอาหาร แนะผู้ส่งออกเลือกใช้ห้องแล็บมาตรฐาน รับมือประเทศคู่ค้า

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2006 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหารเดินหน้า เร่งผลักดันข้อมูลที่ทันสมัยด้านกฎ ระเบียบนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหารของประเทศคู่ค้า และการเลือกใช้ห้องแล็บที่มีมาตรฐาน ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025-2005 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายยุทธศักดิ์ สุภสร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่าขณะนี้ทางสถาบันอาหารอยู่ระหว่างการดำเนินการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์อาหาร รวมทั้งตัวขององค์กรสถาบันอาหารเอง มีการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ช่วง 5 ปี โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมี Key word สำคัญ 2 ประการ คือ 1. การเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าอาหาร กฎ ระเบียบ ต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดจากรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ถูกกำหนดโดยประเทศ คู่ค้าที่มีอำนาจทางการตลาดที่เหนือกว่า ดังนั้นหากไทยยังไม่มีอำนาจในการต่อรอง สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำให้ได้คือ การเรียนรู้ และรู้จัก กฎ ระเบียบ รู้วิธีที่จะนำเอาความรู้เหล่านี้มาเอื้อประโยชน์ให้ กับตัวเอง เพื่อให้สามารถก้าวไปยืนอยู่ในระดับเวทีโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 2. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน บทบาทของสถาบันอาหาร คือเข้าไปช่วยให้ภาครัฐบาล และเอกชนคือ ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถทำงานด้วยกันเดินไปด้วยกันได้ โดยมีสถาบันอาหารเป็นตัวกลาง เพื่อให้เกิดผลในเชิงรูปธรรม เพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทย
“ในแต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารไทยสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 4-5 แสนล้านบาท โรงงานอุตสาหกรรมอาหารบ้านเรามีประมาณ 9,000 กว่าแห่ง เกิดการจ้างงาน 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ มูลค่าส่งออกอาหารของไทยปี 2548 เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึงร้อยละ 30 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการส่งออกขยับเพิ่มขึ้นทุกปี ตลาดสำคัญ คือ ญี่ปุ่น 17% ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ตามมาด้วยอาเซียน 15% อียู 14% จีน 6% ประเทศไทยส่งสินค้าเข้าตลาดทั้ง 5 รวมกันเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 72 ของการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ทั้งหมด” นายยุทธศักดิ์ ระบุ
และกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันอาหารได้นำร่องจัดสัมมนาให้กับผู้ประกอบการอาหารกว่า 400 ราย ที่กรุงเทพฯ ในเรื่องกฎหมายนำเข้า-ส่งออกอาหาร และการเลือกใช้ห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการ
ก่อนที่จะกระจายไปจัดสัมมนายังจังหวัดเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ คือที่ จ.ขอนแก่น จ.สุราษฎร์ธานี จ.ระยอง และจ.เชียงใหม่ ตามลำดับ เนื่องจากปัจจุบันความปลอดภัยของอาหารกลายเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก และกลายเป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้ามาใช้ยกอ้าง เพื่อข้อจำกัดทางการค้ามากขึ้น การหันมาเอาใจใส่ระบบคุณภาพที่ใช้ในโรงงานผลิตอาหาร การเลือกใช้ห้องปฏิบัติการทดสอบ การผลิตสินค้าอาหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในยุคปัจจุบัน จะได้เป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพของสินค้าอาหารที่ผลิตว่ามีความปลอดภัย สะอาด ถูกสุขลักษณะและมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เมื่อประเทศไทยต้องการเป็น “ครัวของโลก” นอกจากผลิตอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพแล้ว จะต้องรู้ด้วยว่าในแต่ละประเทศมีข้อห้ามและข้อกำหนดเรื่องใดบ้าง และหน่วยงานใดเป็นผู้มีอำนาจในการใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ กฎ ระเบียบนำเข้าอาหารของสหรัฐฯ จะมีหน่วยงาน FDA ทำหน้าที่พิจารณาสินค้าอาหารนำเข้าว่าเป็นไปตามบทบัญญัติอาหารยา และเครื่องสำอางหรือไม่ ในขณะที่ทางสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 25 ประเทศ มีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป, กระทรวงสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค, องค์การความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป, สำนักงานอาหารและอนามัยสัตว์ และหน่วยงานภายในของรัฐสมาชิก และแต่ละประเทศสมาชิก EU ก็จะมีกฎหมายที่แตกต่างกันไป เป็นต้น
รวมไปถึงมาตรการด้านสินค้าอาหารที่สำคัญในประเทศคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐมีกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Bioterrorism Act) จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าก่อนนำเข้ามีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและติดฉลากอาหารก่อภูมิแพ้ มาตรการติดฉลาก ฯลฯ สหภาพยุโรป (EU) มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมากเช่นกัน เช่น มาตรการสุขอนามัยในเรื่องการวางจำหน่ายสินค้าในตลาด การตรวจสารปนเปื้อน สารตกค้างในสินค้าอาหาร มาตรการด้านเทคนิค ในเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารในด้านฉลากอาหาร โดยจะมีผลบังคับใช้ ในปี 2551 กฎ ระเบียบ ต่างๆ เหล่านี้ผู้ประกอบการอาหารของไทยต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนเลือกว่าจะทำอย่างไรให้สามารถปฏิบัติตามกฎของประเทศคู่ค้าได้
ด้านนางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการ สถาบันอาหาร กล่าวว่า “ปัจจุบันห้องแล็บโดยทั่วไป มีทั้งของรัฐและเอกชน ในการเลือกใช้ห้องแล็บ เพื่อการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันอาหาร พบว่าดีมานต์ กับ ซัพพลาย ที่สำรวจได้ในปี 2545 ดีมานต์มีถึง 1.1 ล้านตัวอย่าง ในขณะที่ ซัพพลาย มีอยู่ 1 ล้านตัวอย่าง ซึ่งจะเห็นว่าดีมานต์กับซัพพลายใกล้เคียงกัน ส่วนปี 2548 ดีมานต์เพิ่มขึ้นมาก 2.5 ล้านตัวอย่าง ซัพพลายเพียง 1.9 ล้านตัวอย่าง โดยภาพรวมก็คือความต้องการในเรื่องการตรวจสอบเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล
เป็นหลัก เช่นในปี 2547, 2548 ภายในประเทศไทยจะเน้นในเรื่องของ Food Safety เป็นหลัก ก็จะทำให้งานของห้องแล็บมีมากขึ้นตามมา ปัจจัยที่ผู้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกห้องแล็บประกอบด้วย วิธีการทดสอบ เครื่องมือที่ใช้ทดสอบ โดยรวมคือดูคุณภาพของระบบทดสอบ และดูความสมเหตุสมผลของราคา ที่สำคัญคือได้ Accredited Lab หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นแล็บของรัฐหรือแล็บเอกชน ขณะนี้ตามมาตรฐานสากลต้องมี Accredited Lab ในแง่ของการตลาดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในแง่ของการทำระบบคุณภาพ สำหรับห้องแล็บสถาบันอาหาร ปัจจุบันได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 ขณะเดียวกันทางสถาบันอาหารก็มีบริการให้คำปรึกษาจัดตั้งห้องแล็บ ตามระบบ ISO/IEC 17025 ด้วยเช่นกัน”
นางสุวิมล สุขทั่วญาติ รองกรรมการผู้จัดการ เครือเจริญโภคภัณฑ์(CPF) ในฐานะหน่วยงานภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีตลาดส่งออกสินค้าอาหารอยู่ทั่วโลก กล่าวถึงสถานการณ์การถูกกลุ่มประเทศคู่ค้าเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ห้องแล็บว่า “หลังจากเกิดสถานการณ์เรื่องไข้หวัดนก นับเป็นจุดเปลี่ยนในการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบกับปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคอาหารในตลาดทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหันมาเน้นนำเข้าอาหารประเภท ready to eat ทำให้ต้องตกเป็นภาระของ ผู้ส่งออกในการแจ้งแหล่งที่มาของส่วนผสมอาหารแต่ละชนิด นั่นหมายถึง food supply chain ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด(Traceability) ซึ่งบางชนิดเราเข้าไปไม่ถึง เช่น กระเทียม เรานำเข้ามาจากจีน ไม่สามารถจะสอบย้อนกลับได้ หรือในบางประเทศถึงกับกำหนดให้เราต้องนำเข้าส่วนผสมของอาหารบางชนิดจากรายชื่อประเทศที่ลูกค้ากำหนดมาให้เท่านั้น รวมไปถึงการเลือกใช้ห้องแล็บซึ่งทาง CPF เองก็มีแล็บเป็นของตัวเองซึ่งได้รับ ISO/IEC 17025 แล้ว แต่บางกรณีลูกค้าต้องการให้ใช้ห้องแล็บที่ลูกค้า รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้า เราก็ต้องเลือกใช้ third party lab”
รายละเอียดเพิ่มเติม
สุขกมล งามสม บจก.โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
โทร. 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2, 0 89484 9894
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ