สถานการณ์บัตรเครดิต…ยังควบคุมได้ถ้าไม่ประมาท

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2006 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ธนาคารทหารไทย
บัตรเครดิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นสื่อกลางทางการเงินแทนการพกเงินสด ทั้งยังมีความปลดภัยและสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ และยังเป็นแหล่งกู้เงินฉุกเฉินได้อีกด้วย
ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา จากการที่มีผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตเกิดขึ้นหลายราย กอปรกับการแข่งขันกันส่งเสริมการถือบัตร ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจากปลายปี 2544 จำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านใบ เป็น 6.7 ล้านใบ ในปี 2546 และเพิ่มเป็น 10.5 ล้านใบ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าในช่วงเวลาประมาณ 5 ปี
อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการกำกับดูแลธุรกรรมการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตค่อนข้างเข้มงวด ทำให้อัตราการเติบโตของบัตรเครดิตปรับลดลงมาสู่ระดับการเจริญเติบโตค่อนข้างคงที่ในระดับประมาณร้อยละ 14-15 ต่อปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่คงที่เช่นเดียวกัน คือ ประมารร้อยละ 21-22 ต่อปี
นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลซึ่งมีสินเชื่อบัตรเครดิตรวมอยู่ด้วยในสัดส่วนประมาณร้อยละ 14 ก็มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของยอดคงค้าง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุด เมื่อทียบกับสินเชื่ออื่นอีกหลายประเภท เช่น การผลิต หรือค้าส่งค้าปลีกที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณร้อยละ 9-10 ของยอดสินเชื่อคงค้างในแต่ละประเภทธุรกิจ
พฤติกรรมการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การชำระค่าสินค้าค่อนข้างทรงตัว
ความต้องการใช้บัตรเครดิตสามารถแบ่งเป็นสองกรณี คือ ใช้สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า สังเกตได้ว่า พฤติกรรมการใช้บัตรมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คือจากเดิมในช่วงปี 2546 ทีมีสัดส่วนในการเบิกเงินสดเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายรวม มาเป็นร้อยละ 25 และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต พบว่า พฤติกรรมของผู้ถือบัตรของธนาคารพาณิชย์ไทย มีการเบิกเงินสดประมาณร้อยละ 30 ของการใช้จ่ายบัตรเครดิต ขณะที่การเงิกเงินสดล่วงหน้าของบัตรเครดิตธนาคารสาขาต่างประเทศมีเพียงร้อยละ 10 ของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น และการเบิกเงินสดล่วงหน้าของบริษัทบัตรเครดิต หรือ non-bank นั้น มีประมาณร้อยละ 20
แม้ว่าในภาพรวม สัดส่วนการเบิกเงินสดล่วงหน้าต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ แต่ผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นปัจจัยทำให้การเบิกเงินสดล่วงหน้าต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนมากขึ้นได้
สำหรับด้านการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ในครึ่งแรกของปี 2549 มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,800 บาทต่อบัตร ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตต่างอยู่ที่เฉลี่ยประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อบัตร ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลเฉลี่ยของปี 2548 แล้ว ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยการใช้จ่าย
ผ่านบัตรของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 300 บาทต่อเดือน ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 200 บาท ส่วนบริษัทบัตรเครดิตนั้นอยู่ในระดับคงที่
การเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพและมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดยังเป็นสิ่งจำเป็น
แม้ว่าธุรกิจบัตรเครดิตในปัจจุบันได้ชะลอความร้อนแรงลงไปมาก แต่จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจอาจะทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า การใช้บัตรเครดิตเพื่อรักษาระดับมาตรฐานการครองชีพเดิมอาจนำไปสู่การก่อหนี้เพิ่มขึ้น หรือการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งนำไปสู่การสร้างปัญหาให้กับระบบการเงินได้ แม้ว่าสัดส่วน NPL ของการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคในขณะนี้จะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น แต่การตั้งอยู่ด้วยความไม่ประมาททั้งหน่วยงานกำกับดูแลและตัวผู้ใช้บัตรเครดิตเองด้วยการระมัดระวังไม่ให้เกิดเป็นหนี้ดินพอกหางหมูจนอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ในที่สุดนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ผ่อนผันให้ผู้ถือบัตรเครดิตก่อนเดือนเมษายน 2547 ผ่อนชำระขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนต่อไป ทำให้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 เป็นต้นไป ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องผ่อนชำระขึ้นต่ำเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นับเป็นมาตรการที่ดี เพราะเป็นการป้องกันมิให้เกิดหนี้สะสมมากเกินไป เนื่องจากการผ่อนชำระวงเงินน้อยๆ จะทำให้ดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ เป็นการเบียดบังอำนาจซื้อที่แท้จริงไปไม่น้อย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตว่า จะมีวิธีบริหารจัดการกับลูกค้าที่ผ่อนชำระขึ้นต่ำไม่ถึงร้อยละ 10 อย่างไร เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียและสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการเอง
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตที่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 25,000-50000 บาท ซึ่งมียอดสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้ถือบัตรเครดิตรวม เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มรายได้อื่น ดังนั้น ผู้ประกอบการบัตรเครดิตอาจใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้น และหากประกอบกับการที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตมีนโยบายการพิจารณาอนุมัติอย่างรอบคอบและรัดกุม ก็จะได้ลูกค้าที่ดี คือไม่ใช้จ่ายเกินตัว ก็ยิ่งจะเป็นผลดีแก่ผู้ประกอบการและระบบการเงินของประเทศในระยะยาว และในที่สุดแล้ว การใช้บัตรเครดิตเป็นสื่อกลางทางการเงินก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการใช้เงินสดผ่านมาลง และทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้จ่ายเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ อย่างสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ที่ดีแก่ผู้ประกอบการด้วย
www.tmbbank.com
ธนาคารทหารไทย: ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต
TMB Bank: Better Partner, Better Value
สำนักสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร
โทร. 02 242 3253,55

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ