เส้นสายลายตวัด จุดปะติดความคิดและจินตนาการ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2009 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล “จิตนาการสำคัญกว่าความรู้” เชื่อแน่ว่า เมื่อครั้ง ไอน์สไตน์ เอ่ยประโยคนี้ คงไม่ได้อยากให้ใครยึดมั่นอยู่แต่ในโลกแห่งจินตนาการ โดยไม่กระตือรือร้นที่จะใฝ่หาความรู้ เพียงแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จินตนาการอาจนำไปสู่ขุมทรัพย์ความรู้ที่มีคุณค่ามหาศาล ตามที่นักวิจัยทางสมองศึกษาจนได้ข้อสรุปว่า จินตนาการเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ที่นำไปสู่ความรู้ กฎเกณฑ์ หรือทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ในโลกศิลปะของศิลปิน และโลกแห่งตรรกะของนักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่สามารถสอดประสานกันได้อย่างคล้องจอง แล้วเมื่อจินตนาการจากลายเส้น ผสานกับสาระที่สื่อผ่านตัวอักษร ผลจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่คุณต้องพิสูจน์... “การ์ตูนสามารถเชื่อมโยงให้เด็กเกิดความรู้ พัฒนาความคิดความอ่าน และสติปัญญาของเด็กไปในทางที่สร้างสรรค์ได้ เชื่อไหมว่าการ์ตูนที่ดีมีอิทธิพลต่อการขัดเกลาให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีอย่างมาก” ศักดา แซ่เตียว หรือ “เซีย”ไทยรัฐนักเขียนการ์ตูนมือทอง กล่าว อาจพูดได้ว่าหนังสือเล่มแรกของเด็กคือ หนังสือการ์ตูน ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ตั้งแต่ยังเขียนไม่ได้อ่านไม่ออก เราเพลิดเพลินไปกับหนังสือได้อย่างไร “เซีย” ตั้งคำถามให้ลองคิด “ตอนนั้นพ่อแม่ต้องซื้อหนังสือนิทานมาเล่าให้ลูกฟัง มีภาพการ์ตูนสวยๆ สีสันสดใสให้ลูกดู เด็กๆ เรียนรู้ภาพก่อนตัวหนังสือ และฝึกจินตนาการจากรูป เมื่อโตขึ้นเขาจึงเกิดความรักที่จะหยิบหนังสือมาอ่าน เมื่ออ่านหนังสือออก เขาก็จะมีความรักความผูกพันกับหนังสือ” นักเขียนคอลัมน์การ์ตูนดังชวนเล่าต่อว่า “การ์ตูนสร้างสุขภาวะที่ดี เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กมีสติในการสร้างความสงบต่อตนเอง เกิดสมาธิในการอ่าน ยิ่งถ้าเป็นการ์ตูนที่มีความรู้ก็เหมือนอ่านตำรา เพราะเด็กจะจำภาพการ์ตูนได้ดีกว่าเนื้อหาที่มีแต่ตัวหนังสือ การ์ตูนจึงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสมอง ยิ่งการ์ตูนตลกขำขันจะสร้างความบันเทิงสนุกสนาน ช่วยให้เด็กมีรอยยิ้ม ทำให้เขาอารมณ์ดี เรียกว่า จุดประกายทั้งความคิด ความฝัน ต่อเติมจินตนาการ และพัฒนาจิตใจได้ เพราะเมื่อเด็กสร้างงานเสร็จ เขาจะรู้สึกอิ่มเอมใจและมีความสุข” อย่างไรก็ตาม เซีย ไทยรัฐ ยืนยันว่า โลกของการ์ตูนหรือจินตนาการไม่ใช่พื้นที่เฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น “พ่อแม่สามารถมีส่วนร่วมในจินตนาการและเรียนรู้ไปพร้อมๆ ลูก ยิ่งอ่านการ์ตูนไปกับลูกได้ยิ่งดีเพราะจะทำให้เด็กไว้ใจและแก้ปัญหาเด็กติดหนังสือการ์ตูนหรืออ่านการ์ตูนไร้สาระได้ ผู้ปกครองต้องสร้างเกราะให้เด็กๆ ก่อน แนะนำ โดยไม่ดุด่า ไม่ใช้อำนาจ เขาอยากอ่านอะไรให้เขาลองอ่าน แล้วชวนคุยว่า คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือเปล่า เขาได้รับประโยชน์จากการ์ตูนเรื่องนั้นหรือไม่ อย่างไรบ้าง ต้องให้เด็กและเยาวชนสร้างภูมิต้านทานของเขาขึ้นมาเอง” เซีย ไทยรัฐ บอกว่า น้องๆ เยาวชนหรือผู้ปกครองคนไหนสนใจอยากปลดปล่อยจินตนาการ และเสริมสร้างความรู้ สามารถมาร่วมเวิร์คชอปได้ในงาน มหกรรม “พลังเยาวชน พลังสังคม” “สอนตั้งแต่พื้นฐานการวาดรูปเบื้องต้นให้แก่ผู้ที่สนใจ การสร้างคาแร็คเตอร์หรือเอกลักษณ์ของตัวการ์ตูน การวาดการ์ตูนแบบสองช่องสามช่อง (ลักษณะเหมือนการ์ตูนส่วนใหญ่ที่วางขายตามท้องตลาด) สอนให้รู้จักการ์ตูนประเภทต่างๆ เช่น การ์ตูนขำขัน การ์ตูนนิยายภาพ การ์ตูนภาพประกอบ การออกแบบการ์ตูนบนผลิตภัณฑ์ แล้วให้ลองเขียนการ์ตูนสั้นๆ ด้วยตัวเอง สองหน้าจบหรือสามหน้าจบ” เซีย ไทยรัฐ บอกว่า ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ว่าการ์ตูนมีประโยชน์อย่างไร ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจว่าการ์ตูนไม่ได้ทำออกมาในรูปแบบหนังสือได้อย่างเดียว ยังเอาไปประกอบกับกิจกรรมหรือวัตถุอื่นๆ ได้อีกมากมาย ด้าน น้ำตาล หรือนางสาวชนินาถ แสงระวี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เยาวชนที่เคยฝึกอบรมการวาดการ์ตูนใน โครงการ “คิดดี” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็กจัดขึ้น เล่าว่า ตอนแรกเธอไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าการวาดการ์ตูนเป็นอย่างไร แต่เพราะชอบศิลปะ และอยากฝึกทักษะการวาดการ์ตูน จึงเข้าชมรมการ์ตูนของโรงเรียน และหลังจากน้ำตาลได้เรียนรู้เทคนิคจากปรมาจารย์การ์ตูนชื่อดังของไทยในโครงการคิดดีแล้ว เธอจึงผลิตผลงาน การ์ตูน Global Warning สัญญาณเตือนของโลก ขึ้น แล้วผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัล 7 Book Award ครั้งที่ 5 ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ แต่ที่ภูมิใจมากกว่า คือ ผลงานของเรามีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ใช่สนุกอย่างเดียว แต่แฝงแง่คิด ให้ความรู้ด้วย และความสุขมันจะเพิ่มขึ้น หากสิ่งที่น้ำตาลทำเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ส่วน “เช่” หรือ นายวันชัย มะโนมั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้หลงใหลการวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก และหมั่นฝึกฝนการวาดการ์ตูนมาอย่างสม่ำเสมอ จนมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “คิดดี” ในโปรเจคที่ 5 เพื่อเขียนการ์ตูนเรื่องจิตอาสา กล่าวว่า “การ์ตูน” ไม่ได้เป็นเพียงหนังสืออ่านเล่นธรรมดา แต่ “การ์ตูน คือศิลปะการสอนที่สนุก และให้แง่คิดแก่ผู้อ่านโดยไม่รู้ตัว “ผมมองว่า การ์ตูน นอกจากจะให้ความสนุกแล้ว ยังแฝงข้อคิดเตือนใจ ช่วยกระตุ้นความคิดของผู้อ่านได้ โดยไม่ต้องมาสอนกัน เพราะความรู้สึกระหว่างอ่านหนังสือเรียนกับหนังสือการ์ตูนมันต่างกัน” เช่บอกด้วยว่าตอนนี้ตั้งใจจะวาดการ์ตูนเกี่ยวกับ“เศรษฐกิจพอเพียง” หวังแค่ว่าสิ่งที่ผมตั้งใจวาด ตั้งใจเขียนเป็นประโยชน์กับคนอ่าน ให้เขาได้แง่คิดดีๆ แล้วทำสิ่งดีๆ ให้สังคมต่อไป” สำหรับ น้องๆ และผู้ปกครอง อยากอบรมการวาดการ์ตูนเบื้องต้นกับนักวาดการ์ตูนชื่อดัง สามารถเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อต่อยอดจินตนาการและความรู้ได้ในงาน มหกรรม “พลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่ 1 ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้ ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 10.00 -20.00 น. ณ พาร์คพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ หอศิลป์กรุงเทพฯ และอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) โดยภายในงานจะมีนิทรรศการ การเสวนาและกิจกรรมดีๆ ของเยาวชนจิตอาสานับพันคน จากการร่วมผนึกกำลังขององค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนกว่า 100 องค์กรทั่วประเทศไทย สมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจได้ที่ www.scbfoundation.com และ www.okkid.net จำหนังสือเล่มแรกที่คุณเปิด(ดู)ได้หรือเปล่า??

แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ