“ศรีวิโรจน์ฟาร์ม” ครบวงจรไก่ไข่ เบอร์หนึ่ง ผู้ประกอบการท้องถิ่นอีสาน

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2009 18:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น อุตสาหกรรมปศุสัตว์ มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการผลิตอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องบริโภค อย่าง ไข่ อาหารราคาถูก มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่ทุกคนสามารถซื้อหาได้ง่าย การเลี้ยงไก่ไข่ยังได้ผันวิถีชีวิตของครอบครัวผู้ประกอบการรายเล็กให้ก้าวมาเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ประกอบการท้องถิ่นอีสานอย่างครบวงจร ประยุทธ ศรีวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เครือศรีวิโรจน์ จำกัด ผู้ผลิตไข่ไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่ครบวงจรรายใหญ่ของภาคอีสานที่มีกำลังการผลิตไข่ไก่ถึงวันละ1,500,000 ฟอง เปิดเผยว่า เดิมเป็นเพียงเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ต่อมาได้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำคือ ไข่ จนถึงปลายน้ำคือ ตลาด การทำงานอย่างครบวงจรยังทำให้สินค้าภายใต้แบรนด์ SFFOOD (ย่อมาจาก ศรีวิโรจน์ฟูดส์) สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองและไม่ต้องพึ่งพาตลาดอื่น อีกทั้งมองว่าความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ คือ ปลายน้ำ ได้แก่ การมีช่องทางจำหน่ายเป็นของตัวเอง “การเลี้ยงสัตว์ในระบบเดิม ต้องอาศัยดินฟ้าอากาศ พึ่งดีมานด์ ซัพพลาย และต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง แต่เมื่อกลายเป็นอุตสาหกรรมจึงต้องคิดแบบครบวงจร” แนวความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ (Ovulation Concept) จึงเกิดขึ้น คือ เริ่มต้นเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ตัวเมีย โดยเส้นทางเดินของไก่ตัวเมีย คือ การเลี้ยงเพื่อนำไข่และเนื้อมาจำหน่าย และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไข่เค็ม ลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ สำหรับไก่ตัวผู้จะเลี้ยง 50-55 วันเพื่อจำหน่ายเป็นเนื้อสดและแปรรูป คุณสมบัติของเนื้อไก่พันธุ์นี้จะมีความเหนียวหนึบ ไขมันน้อย ต่างกับกลุ่มไก่เนื้อและไก่ปลดระวาง การนำไปจำหน่ายเป็นเนื้อสดยังแปรรูปแบบให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การนำไปทำต้มยำพวกไข่ ฯลฯ หรือการส่งจำหน่ายแก่ร้านค้าไก่ย่างต่างๆ อาทิ เป็นต้นตำรับไก่ย่างของร้านอาหารดังๆ เช่น ไก่ย่างเขาสวนกวาง ไก่ย่างนิตยา ไก่ย่างพระรามเก้า ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าของที่นี่ แต่ธุรกิจยังไม่จบตรงนี้ ผลพลอยได้จากการเลี้ยงยังได้ “มูลไก่” ส่วนหนึ่งนำมาทำไบโอแก๊สและนำพลังงานความร้อนมาใช้อบปุ๋ยเพื่ออัดเม็ดขายให้แก่เกษตรกรหรือนำไปเลี้ยงปลา ในส่วนไส้ และหัวไก่นำมาเลี้ยงปลาดุก แม้กระทั่งขนไก่ยังสามารถนำไปทำปุ๋ย ดังนั้นทุกชิ้นส่วนของไก่จึงเป็นประโยชน์หมด เรียกว่า Full Value คือไม่เหลือทิ้งเลย กรรมการผู้จัดการ เครือศรีวิโรจน์ เผยอีกว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญ ทำให้เราสามารถควบคุมการเลี้ยง การป้องกันโรค รวมทั้งมีเครื่องมือในการรักษาดีมานด์ ซัพพลาย เช่น การปลดระวางไก่เมื่อตลาดมีความต้องการน้อยลง ด้านผลิตภัณฑ์ไก่ไข่ในเครือฯยังเน้นตลาดในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากความสะดวกด้านโลจิสติกส์ “ผมปักหมุดเปิดตลาดไปเวียดนาม ลาว ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ใกล้กับที่ตั้งของเครือศรีวิโรจน์ฯที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ไม่ได้อาศัยตลาดในห้างสรรพสินค้าใหญ่มากนัก แต่จะสร้างช่องทางการจำหน่ายที่เน้นตลาดในท้องถิ่นอีสาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างตลาดเวียดนาม ก็จะใช้ระบบการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า เขามีปลาหมึก เรามีไก่ เนื่องจากภาคอีสานไกลทะเลก็สามารถนำอาหารทะเลมาจำหน่าย ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้ประกอบการท้องถิ่นในการพึ่งพากันและกัน” จากการทำงานในอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร ทำให้ผู้บริหารเครือศรีวิโรจน์ ยังตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรม จากปัญหาในอดีตที่บริษัทต้องกำจัดมูลไก่จำนวนหลายร้อยตันต่อวัน จึงมีแนวคิดที่จะนำมูลไก่ที่เหลือมาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาผ่านขั้นตอนการผลิตเพื่อทำปุ๋ยมูลไก่แบบเม็ดขึ้นและได้เข้าร่วมในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) สวทช.เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาเครื่องต้นแบบคัดขนาดเม็ดปุ๋ยมูลไก่แบบเหวี่ยงหมุน ผลจากโครงการนี้ยังทำให้สามารถคัดเกรดปุ๋ย ตามความเหมาะสมของการนำไปใช้งานในภาคเกษตร ลดการนำเข้าเครื่องจักราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปุ๋ยจากมูลไก่มากขึ้นด้วย เมื่อประสบความสำเร็จจากการทำงานร่วมกับ iTAP ในโครงการแรก เครือศรีวิโรจน์ยังคงมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาของระบบควบคุมอากาศในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ โดยระบบที่ใช้งานเดิมเป็นอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมักออกแบบกำหนดโปรแกรมการใช้งานให้เหมาะกับประเทศในเขตหนาว แต่เมื่อนำมาใช้ในเมืองไทยจึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามเป้าหมาย ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน การบำรุงรักษาทำได้ยากใช้เวลานาน นอกจากนี้การระบายอากาศของโรงเรือนเป็นแบบอุโมงค์ลม จึงมีความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทั้งอุณหภูมิความชื้น ปริมาณแอมโมเนียสะสม โดยท้ายเล้ามีอุณหภูมิสูงกว่าหน้าเล้าเกินกว่า 6 องศาเซลเซียสทำให้ไก่ท้ายเล้าอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิไม่ดี จะเกิดความเครียด ป่วยง่ายจึงมีคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่ด้อยลง รวมทั้งอัตราการตายที่สูงกว่า โครงการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพอากาศและระบบการกระจายอากาศ สำหรับโรงเรือนเลี้ยงไก่ ไข่ระบบปิด ที่มีการปรับอากาศแบบ Evaporative Cooling System (หรือเรียกสั้นๆว่า “หน้าต่างรถเมล์”) จึงเกิดขึ้น โดยมี นายสรยุทธ วินิจฉัย อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ ผลของโครงการยังทำให้สามารถควบคุมการกระจายลมเข้าออกในโรงเรือนอย่างเหมาะสม สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นทำให้ไก่ไม่เป็นโรค ลดอัตราการตายและได้ผลผลิตตามมาตรฐาน กรรมการผู้จัดการ เครือศรีวิโรจน์ อธิบายว่า การเลี้ยงไก่จะมีโรงเรือนสองประเภทได้แก่ โรงเรือนแบบ A-Frame ซึ่งมีข้อดี คือ การจัดการมูลไก่ไม่ต้องเสียเวลาในการลากออกจากเล้า สามารถรอให้มูลไก่แห้งและจัดการนำไปทำปุ๋ยได้เลยแต่มีข้อเสียคือต้นทุนสูง และอีกแบบคือกรงแบตเตอรี่หรือ H-Frame ซึ่งเป็นการนำมูลไก่ไปจัดการนอกเล้า เครือศรีวิโรจน์ฯ มีการเลี้ยงไก่แบบกรงแบตเตอรี่ซึ่งจัดการมูลไก่นอกเล้า โดยขณะนี้มีโรงหมักปุ๋ยขนาดใหญ่ 3 หลัง ด้วยวิธีนี้จะไม่มีการสะสมของมูลไก่ภายในเล้า จึงต้องการลดการสะสมแอมโมเนียที่เกิดจากมูลไก่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและผู้ปฏิบัติงานเป็นที่มาของการเข้าร่วมกับ iTAP ในโครงการต่อมา คือ โครงการระบบลดปริมาณแอมโมเนียจากระบบระบายอากาศโรงหมักปุ๋ยจากมูลไก่ ผลจากโครงการฯ นี้ คือ สามารถกำจัดกลิ่นในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ระบบที่พัฒนาขึ้นยังสามารถลดปริมาณแอมโมเนียภายในโรงเรือน อีกทั้งน้ำที่ได้จากการดักจับแอมโมเนียในระบบดังกล่าว ยังมีปริมาณไนโตรเจนสูง ทำให้สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยยูเรียซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงสำหรับการทำเกษตรกรรม “นอกจากนี้ยังนำมูลไก่สดไปใช้ผลิตไบโอแก๊ส จึงทำให้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบปุ๋ยยูเรียเป็นเม็ด ด้วยกลยุทธ์ของ “การใช้เนื้อเต่า ยำเต่า” โดยนำกลิ่นมูลไก่มาทำปุ๋ยยูเรีย และนำมูลไก่สดมาทำเป็นเชื้อเพลิงอบปุ๋ยยูเรียเช่นนี้ จึงทำให้การจัดการเรื่องกลิ่นและสิ่งแวดล้อมของเครือศรีวิโรจน์ฯประสบผลสำเร็จ ผลพลอยได้เหล่านี้ยังสามารถสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ในการทำปุ๋ยจากมูลไก่ ซึ่งกล้าพูดได้ว่าไม่มีใครทำได้” นายประยุทธ กล่าว กรรมการผู้จัดการ เครือศรีวิโรจน์ กล่าวอีกว่า “ ผู้ประกอบการท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ การเข้าร่วมกับโครงการ iTAP จึงถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้ทั้งความรู้ เกิดแนวคิดใหม่มาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดยังขาดแคลน iTAP จึงเป็นคำตอบในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆซึ่งไม่เพียงช่วยผู้ประกอบการ แต่ยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วย” จากการเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี ยังทำให้เครือศรีวิโรจน์ฯมุ่งมั่นและวางแผนนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอุตสาหกรรมนี้ต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ