สมาคมสถาปนิกสยามฯ ปลุกกระแสอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมเร่งปลูกจิตสำนึกพร้อมจัดทำฐานข้อมูลบุคคลากรด้านการอนุรักษ์ฯ

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2006 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้ากระตุ้นจิตสำนึกด้านอนุรักษ์เต็มรูปแบบ ประกาศเชิญชวนคนไทย ร่วมคัดสรรศิลปสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ชิงรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 จากองค์อุปถัมภ์สมาคมสถาปนิกสยามฯ พร้อมเร่งจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรอนุรักษ์สถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อม และการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย หวังกระตุ้นคนไทยตื่นตัวเห็นความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ดีเดย์ส่งผลงานเข้าประกวด พร้อมส่งฐานข้อมูลบุคลากรตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่สมาคมสถาปนิกสยาม
นางปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกฝ่ายอนุรักษ์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สถาปัตยกรรม ถือเป็นมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่เล่าเรื่องราว ความเป็นมาของสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนในแต่ละยุค โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมมาโดยตลอด จึงได้จัดทำโครงการรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 ขึ้นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไปและเป็นการประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้ครอบครองสถาปัตยกรรมเก่า ตลอดจนสร้างค่านิยมแก่สังคมในการรักษาอาคารเดิม เพื่อประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันแทนการรื้อทำลายเพื่อสร้างอาคารใหม่ และเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกตลอดจนความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และปกป้องสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ โดยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 24 ปี
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลประเภทอาคาร ทั้งอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ อาคารพาณิชย์ เคหสถานและบ้านเรือนเอกชน รวมไปถึงปูชนียสถานและวัดวาอาราม รางวัลประเภทชุมชน และรางวัลประเภทบุคคลและองค์กร โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัลแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท
คุณสมบัติของอาคารที่เข้าข่ายอนุรักษ์สถาปัตยกรรม จะต้องเป็นอาคารที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสต์ โบราณคดี หรือสังคม ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี สามารถใช้การได้ในปัจจุบัน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นรูปแบบอาคารของชนชาติใด
ส่วนเกณฑ์สำหรับประเภทชุมชนนั้น จะต้องเป็นชุมชนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ทั้งทางกายภาพหรือทางจิตใจ มีการรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมไว้ และมีการจัดตั้งองค์กรเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมของชุมชน โดยไม่จำกัดสถานที่ตั้ง ขนาดและประเภทของชุมชนว่าเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณารางวัลประเภทบุคคลหรือองค์กรนั้น บุคคลหรือองค์กร จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เช่น ผู้ออกแบบ ผู้ดำเนินการ หรือช่างฝีมือ หรือผู้ริเริ่มผลักดันและผู้สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แต่จะต้องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมว่าเป็นแนวคิดด้านการอนุรักษ์ ไม่ใช่เป็นการสะสมของเก่า และเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ทั้งนี้บุคคล อาคาร ชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2550 จะได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นองค์ พระอุปถัมภ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้คนไทยหันมาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดบอร์ดนิทรรศการในงานสถาปนิก’50 ที่เมืองทองธานี และจัดนิทรรศการสัญจรตลอดปี 2550 รวมทั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีแผนที่จะจัดประกวด และจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรวบรวมผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เพื่อจัดทำเป็นซีดีรอมไว้เผยแพร่ให้กับประชาชนที่สนใจทั่วไปได้ใช้ศึกษาและเก็บรักษาไว้เป็นแบบอย่างต่อไป รวมทั้งการรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือ เพื่อเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตามที่ได้เคยจัดพิมพ์รวบรวมผลงานอาคารอนุรักษ์ดีเด่นทั้ง 174 แห่ง ในวาระครบรอบ 20 ปีรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น และฉลองครอบรอบ 70 ปีสมาคมฯ เมื่อปี 2547 หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในรูปเล่มที่สวยงาม มีภาพประกอบและข้อมูลอาคารครบถ้วน ขณะนี้ยังมีจำหน่ายที่สมาคมฯ และตามแผงหนังสือชั้นนำทั่วไป
นอกจากนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังได้จัดทำฐานข้อมูลบุคลากรด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อม และการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีและพื้นถิ่นขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการค้นคว้าด้านบุคคลและผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับงานอนุรักษ์และออกแบบศิลปสถาปัตยกรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อม แบ่งประเภทการเสนอผลงานออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ งานออกแบบและปรับปรุงศิลปะสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมในเชิงอนุรักษ์ งานวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับงานอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม การใช้วัสดุและเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม งานบริหารจัดการและควบคุมงานด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม และงานก่อสร้างเพื่อการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม
นางปองขวัญ กล่าวต่อไปว่า สมาคมฯ มีแผนที่จะรวบรวมบุคคล อาคาร ชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ตลอดจนข้อมูลบุคลากรด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อมและการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย นำมาจัดทำเป็นหนังสือหรือเอกสารในหลายรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและเป็นการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โครงการนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทรศัพท์ 0-2319-6555 โทรสาร 0-2319-6555 ต่อ 102 หรือ 0-2319-6419 หรือที่ www.asa.or.th หมดเขตรับผลงาน 30 พฤศจิกายน ศกนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ศริญญา แสนมีมา / ทัศนันท์ อากรชี โทร. 0-2204-8218, 0-2204-8213
โทรสาร 0-2259-9246

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ