ก.ไอซีที เตรียมวางกรอบบูรณาการข้อมูชีวภาพของประเทศและสมาชิกอาเซียน

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 13, 2009 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ก.ไอซีที นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปิดโครงการส่งเสริมความร่วมมือการกำหนดมาตรฐานกลางและการบูรณาการข้อมูลชีวภาพเพื่อการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ว่า หลังจากที่กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการฯ นี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานกลางและการ บูรณาการข้อมูลชีวภาพเพื่อการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการดำเนินการเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาตามกรอบความร่วมมืออาเซียน กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการฯ ด้วยการศึกษาวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลการใช้งานข้อมูลชีวภาพในการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด การจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมการผ่านเข้า-ออกแดน และระบบการตรวจสอบลายนิ้วมืออัตโนมัติ พร้อมกันนี้ยังได้มีการศึกษาการใช้งานข้อมูลชีวภาพในระดับมหภาคของหน่วยงานภาครัฐในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Forum on Biometric Interoperability โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานข้อมูลชีวภาพจากประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งหารือแนวทางการกำหนดมาตรฐานกลางและการบูรณาการข้อมูลชีวภาพเพื่อใช้งานสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย “ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ และได้จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดมาตรฐานกลางและการบูรณาการข้อมูลชีวภาพสำหรับประเทศไทยไว้ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้ทำการบูรณาการข้อมูลชีวภาพในประเทศไทย คือ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาการใช้บัตรประชาชนปลอมทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน ปัญหาการตรวจหาอาชญากรและผู้ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ประโยชน์ของการเชื่อมต่อบูรณาการข้อมูลชีวภาพระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย คือ ทำให้เกิดการประยุกต์ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการกับประชาชนเข้าด้วยกัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน และใช้เป็นกลไกสำคัญให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเป็นกลไกในการทำให้แรงงานต่างด้าวอยู่ภายใต้กฎหมายไทย โดยใช้ข้อมูลชีวภาพเป็นตัวบ่งชี้กับทะเบียนประวัติ และ 3. ข้อเสนอแนะสำหรับกระทรวงไอซีที คือ กระทรวงฯ ต้องเป็นตัวกลางในการจัดตั้งกรรมการกลาง เพื่อร่างมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลชีวภาพของรัฐ รวมทั้งต้องจัดทำโครงการนำร่องเพื่อทดลองใช้มาตรฐานกลางดังกล่าวระหว่างหน่วยงานที่มีความพร้อม ตลอดจนจัดทำแผนแม่บทในการบูรณาการระบบข้อมูลชีวภาพด้วย ” นายสือ กล่าว ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดมาตรฐานกลางและการบูรณาการข้อมูลชีวภาพสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน คือ 1. ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่มีความพร้อม โดยทำความตกลงร่วมกันเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีความพร้อม 2. จัดตั้งคณะกรรมการร่างมาตรฐานกลางข้อมูลชีวภาพสำหรับประเทศสมาชิก 3. จัดการประชุม ASEAN Forum on Biometric Interoperability ครั้งที่ 3 และ 4. ทำการทดสอบโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลชีวภาพสำหรับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการบูรณาการข้อมูลชีวภาพระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ควรให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC JTC1SC37 Biometrics ในฐานะ Participate Country เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับโครงสร้างและวางแผนงานให้ทันมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะออกมา เช่น มาตรฐาน ISO ด้านพันธุกรรม (DNA) เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 141 6747 ทวิติยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ