ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ....

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2009 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า วันนี้ 13 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลัง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 167 วรรคสามได้บัญญัติให้มีกฎหมายการเงินการคลังของรัฐเพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งจะต้องประกาศใช้ภายใน 2 ปีนับจากวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553) อนึ่ง กฎหมายที่ว่าด้วยวินัยทางการคลังและการบริหารการคลังของประเทศได้แทรกอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยหนี้สาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งกฎหมายมีความไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งกฎหมายบางฉบับมีอายุการใช้งานมายาวนาน จึงไม่สามารถครอบคลุมธุรกรรมบางประเภทหรือหน่วยงานภาคสาธารณะบางลักษณะได้ กฎหมายการเงินการคลังของรัฐจึงเป็นนวัตกรรมเชิงสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความโปร่งใสทางการคลังของประเทศ ในขณะนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่และให้ความรู้แก่หน่วยงานที่มีผลผูกพันการปฏิบัติงานตามร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ตามโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงการคลังได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้งจากจำนวนทั้งสิ้น 9 ครั้ง ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังฉบับนี้เป็นการสร้างแผนแม่บททางด้านการบริหารการคลังของประเทศ ซึ่งมีผลผูกพันการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาคสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ องค์การมหาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนสาธารณะ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสาระครอบคลุมถึงการกำหนดนโยบายการคลัง การวางแผนการคลังระยะปานกลาง การจัดหารายได้ การกำกับการใช้จ่าย การบริหารการเงินและทรัพย์สิน การบัญชีและการตรวจสอบภายใน กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้ การรายงานและการประเมินความเสี่ยงทางการคลัง สิ่งที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ให้ความสำคัญ คือ การสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานสาธารณะ เช่น การจัดทำบัญชีที่ได้มาตรฐาน การตรวจสอบภายใน การรายงานข้อมูลทางการ คลัง และการประเมินความเสี่ยงทางการคลัง เป็นต้น ขณะเดียวกัน การตัดสินใจเชิงนโยบายก็จะให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการ นโยบายการคลัง และคณะกรรมการนโยบายรายได้ เป็นต้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง อันจะทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังมีความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งนี้ การมีกรอบวินัยทางการคลังที่ชัดเจนในรูปของพระราชบัญญัติจะส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบทางการคลัง อันจะนำไปสู่การบริหารการคลังภาคสาธารณะที่ยั่งยืนและส่งเสริมความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อภาคสาธารณะในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ