รัฐบาลไทยจับมือไมโครซอฟท์มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผลักดันอุตสาหกรรมเว็บเซอร์วิส ส่งเสริมการศึกษา และพัฒนา e-Government

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 30, 2005 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
ในการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งวันของ มร. บิล เกตส์ ประธานบริษัทและประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ บริษัทไมโครซอฟท์ ในวันนี้ ได้มีความคืบหน้าในด้านความร่วมมือกับรัฐบาลไทยใน 3 โครงการที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่ประเทศไทยจากแนวโน้มของเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและในการสัมมนา มร. บิล เกตส์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของแนวโน้มเหล่านี้ว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อผู้บริโภค ประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจ
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไมโครซอฟท์จะลงทุนทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากรและทรัพยากรต่างๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้านบาท (ประมาณ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในโครงการ Thailand.Net ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นในระยะยาว เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐานระดับโลกบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส โดยใช้มาตรฐานเปิดและภาษา XML อันเป็นมาตรฐานกลางในการเขียนโปรแกรมเว็บเซอร์วิส
มร. บิล เกตส์ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเว็บเซอร์วิส การใช้มาตรฐานเปิดและภาษา XML อันเป็นมาตรฐานกลางนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่มีคุณค่า ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านั้นจะช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลต่างๆ สามารถทำบนอุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ อันจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจของไทยและเศรษฐกิจโดยรวม”
ภายใต้ Thailand.Net มร. บิล เกตส์ ยังได้แนะนำโครงการ Microsoft Developer Network (MSDN) 5 Star ซึ่งเป็นการทดสอบออนไลน์ใน 5 ระดับสำหรับนักพัฒนาเพื่อผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งสามารถเลือกทดสอบได้ตามเวลาที่ตนเองต้องการ เว็บไซต์ดังกล่าวออกแบบมาเป็นภาษาไทยและให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอบรมด้านเว็บเซอร์วิสแก่นักพัฒนาจำนวน 69,000 คน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีนักพัฒนาจำนวน 2,600 คนที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล โดยเว็บไซต์นี้จะเปิดให้ทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2548
สำหรับความรู้พื้นฐานด้านไอทีซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาการศึกษาไทยนั้น ทางบริษัทฯ ได้นำเอาโครงการ Partners in Learning ในระยะที่เรียกว่า Digital Phase มาสนับสนุนและปรับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด โดยจะจัดหาซอฟต์แวร์คุณภาพในราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างชุมชนออนไลน์รวมทั้งทรัพยากรการเรียนรู้อื่นๆ ทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
สำหรับโครงการที่สามจะเป็นการสนับสนุนโครงการ Thailand Gateway ซึ่งเป็นการพัฒนา e-Government ที่จะนำเอาแบบอย่างการดำเนินงานที่ดีที่สุดในโลกมาปรับใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชากรเป็นศูนย์กลางของข้อมูลสาธารณะ โดยไมโครซอฟท์จะลงทุนในด้านของบุคลากรและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีในระยะแรกคิดเป็นมูลค่า 4 ล้านบาท (ประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐ)
ในส่วนของโครงการ Thailand.Net นั้น ไมโครซอฟท์ได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของนวัตกรรมบูรณาการ ด้วยการพัฒนาให้เกิดการสร้างซูเปอร์ฮับด้านเว็บเซอร์วิส (Super-Hub) เพื่อการพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ
การดำเนินโครงการ Thailand.Net แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
- ขั้นที่ 1 พัฒนาทักษะ
ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านเว็บเซอร์วิสโดยสนับสนุนการอบรมครูกว่า 20,000 คนทั่วประเทศซึ่งคาดว่าทักษะต่างๆ จะถูกถ่ายทอดไปยังนักเรียนอีกจำนวนนับแสนคน รวมทั้งให้การรับรองมาตรฐานระดับสากลแก่นักพัฒนาอาชีพอีก 2,600 คน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและจัดทำขึ้นใหม่
- ขั้นที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรม
ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้วยการสร้าง Solutions Marketplace โดยใช้นวัตกรรมบูรณาการ และเชื่อมต่อผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกับลูกค้าต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ จะฝึกอบรมทักษะด้านการขายและการตลาดแก่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกว่า 500 รายด้วย
- ขั้นที่ 3 พัฒนาเศรษฐกิจ
ไมโครซอฟท์จะร่วมกับรัฐบาลไทยในการสร้าง พัฒนา และเผยแพร่เว็บเซอร์วิสของไทยไปทั่วโลก ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาและการทำตลาด “เว็บเซอร์วิสซูเปอร์ฮับ” ผลงานเว็บเซอร์วิสที่ดีที่สุดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะถูกส่งไปขายยังทั่วโลก เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าทางธุรกิจแก่ประเทศ
แม้ในวันนี้จะถือเป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับโครงการ Thailand.Net แต่ก่อนหน้านี้ได้มีหลายๆ กิจกรรมได้ดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวไปบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการแข่งขัน Imagine Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้น และมีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน 118 ทีม โดยทั้งหมดได้เข้าแข่งขันออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานกลางคือ XML ในการเขียนโปรแกรม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “เว็บเซอร์วิสเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของนักศึกษาและนักพัฒนาของเราในการสร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ด้วยการออกแบบและส่งออกแอพพลิเคชั่นระดับเวิลด์คลาสที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมบูรณาการ อุตสาหกรรมนี้จะชี้ให้เห็นว่าเราจะดำเนินชีวิตและสื่อสารอย่างไรในอนาคต โดยมีดัชนีที่แสดงถึงอนาคตของเว็บเซอร์วิส คือ การคาดการณ์ว่าตลาดเว็บเซอร์วิสจะมีมูลค่าประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2553 ซึ่งหมายถึงโอกาสมากมายมหาศาลในการสร้างงานสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้แก่ประเทศด้วย”
ในส่วนของโครงการ Partners in Learning — Digital Phase นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการสร้างทักษะให้แก่ครูอาจารย์และนักเรียน เพื่อให้สามารถนำไอซีทีมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการส่งเสริมซอฟต์แวร์ราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ไมโครซอฟท์จะสร้างเว็บท่า อี-เลิร์นนิ่ง และสนับสนุนชุมชนครูออนไลน์ที่จะทำให้เพื่อนครูทั่วประเทศและทั่วโลกสามารถติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้ ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ได้ทำการอบรมทักษะพื้นฐานด้านไอซีทีแก่ครูทั่วประเทศไปแล้วกว่า 10,000 คน ภายใต้โครงการ Partners in Learning ที่มีอยู่เดิม ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการถ่ายทอดต่อไปยังนักเรียนอีกประมาณ 422,000 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้โครงการ Partners in Learning — Digital Phase ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการนำเอาเนื้อหาหลักสูตรต่างๆ มาแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอล โดยจะเริ่มต้นจากเนื้อหาสื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่แล้ว ผนวกกับสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอลจากไมโครซอฟท์ เพื่อที่จะให้บรรดาคุณครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเนื้อหาเหล่านี้ได้โดยง่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และจากการลงทุนมูลค่า 40 ล้านบาทของไมโครซอฟท์ จะช่วยให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศประหยัดงบประมาณในการซื้อซอฟท์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ใหม่ของโรงเรียนได้อย่างมาก
นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และเด็กไทยจำเป็นต้องมีทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งจะทำให้เขาได้รับการฝึกฝนและกลายเป็นผู้ที่มีความชำนาญในทักษะด้านไอซีทีในที่สุด เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มศักยภาพให้แก่นักเรียนเพื่อที่จะก้าวไปสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้และความมั่งคั่งแก่ประเทศในภาพรวม ซึ่งเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดภายใต้โครงการ Partners in Learning ของไมโครซอฟท์ที่สอดคล้องตามแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะช่วยเราบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาทักษะด้านไอซีทีในวงการการศึกษาได้ง่ายขึ้น
ด้านโครงการ Thailand Gateway นั้น การลงทุนในระยะแรกจะเป็นในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ UK Gateway ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานของ e-Government ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุด มาเป็นแบบอย่างในการพัฒนา ซึ่งการใช้นวัตกรรมบูรณาการเช่นเว็บเซอร์วิสภายใต้มาตรฐาน XML นั้น มีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลจากรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนี่เป็นเพียงระยะแรกของการดำเนินโครงการที่ต้องใช้เวลาและระยะการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอน
“การประกาศความร่วมมือในวันนี้ คือนิมิตหมายใหม่ของการทำงานร่วมกันของทุกๆ ฝ่ายในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างงาน รายได้ และการเติบโตแก่ประเทศไทยในยุคดิจิตอลนี้” มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม และกล่าวต่ออีกว่า “ภายใต้โครงการต่างๆ ที่จะส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านไอซีทีนั้น จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างรากฐานของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกบนพื้นฐานของเว็บเซอร์วิส และยิ่งไปกว่านั้นคือ จะส่งเสริมคุณค่าทางธุรกิจให้เกิดแก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศุภาดา ใจดี
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 209
โทรสาร: 0-2627-3510
Email: sjaidee@th.hillandknowlton.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ