ตรวจสุขภาพลดความเสี่ยงและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังฟรี ถึง 23 ธ.ค. นี้

ข่าวทั่วไป Monday October 19, 2009 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. เปิดบริการตรวจสุขภาพฟรีแก่ประชาชน 10,000 คน คัดกรองผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ป้องกันการเกิดโรคและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ผู้สนใจรับบริการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัด 5 แห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึง 23 ธ.ค. 52 เวลา 08.00—12.00 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “การจัดบริการตรวจสุขภาพประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ” โดยมี นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยการตรวจน้ำตาล (Blood sugar) ไขมัน (Triglyceride) ไขมัน (HDL) วัดความดัน (Blood Pressure) และวัดมวลรวมของร่างกาย (BMI) ได้แก่ ส่วนสูง น้ำหนัก รอบเอว แก่ประชาชน จำนวน 10,000 คน ฟรี ซึ่งเปิดให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 23 ธ.ค. 52 เวลา 08.00—12.00 น. (เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เพื่อคัดกรองประชาชนที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง ส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของแต่ละคน เช่น การรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ การออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ลดความเครียด เป็นต้น สำหรับผู้สนใจเข้ารับบริการต้องงดอาหาร (ยกเว้นน้ำ) อย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนรับการตรวจ โดยมีทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ซึ่งสามารถทราบผลการตรวจในเวลารวดเร็ว ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบว่า อัตราผู้ป่วยในต่อแสนประชากรไทยในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวสูง เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีอัตราการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นทุกวันเช่นกัน ประกอบกับแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวมักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่พยาธิสภาพของโรคจะลุกลามช้าๆ จนมีอาการรุนแรงมากขึ้น และเป็นอย่างถาวร การดูแลรักษาพยาบาลเป็นเพียงการรักษาตามอาการ เพื่อลดความรุนแรงของอาการที่แสดง ชะลอไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน หากผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะทำให้อาการทุเลาและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีพอและผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้จะมีอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจเกิดความพิการ มีภาระต่อเนื่องหลังการรักษาไปตลอดชีวิต เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่า การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17 ในปี 2558 ซึ่งการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเสี่ยงหนึ่งปัจจัย หรือรวมกันมากกว่าหนึ่งปัจจัยจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อาทิ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง กินผักผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า และความเครียด รองผู้ว่าฯ มาลินี กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารเกือบทุกอย่างจะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบค่อนข้างเยอะ หากประชาชนไม่ดูแล เอาใจใส่ตนเอง บริโภคมากๆ จะส่งผลให้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ตามมา กรุงเทพมหานครจึงให้บริการตรวจสุขภาพ คัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันโรค หรือดูแลรักษาตนเองอย่างถูกวิธีหากพบว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าว เบื้องต้นนำร่องในโรงพยาบาลในสังกัดที่มีความพร้อม จำนวน 5 แห่ง ในอนาคตอาจประสานความร่วมมือขยายการบริการไปยังโรงพยาบาลหรือหน่วยงานอื่นด้วย พร้อมกันนี้ในการตรวจสุขภาพหากพบประชาชนเป็นโรคอื่น อาทิ พาคิสัน ความจำเสื่อม ก็จะมีบุคลากรให้คำแนะนำในการดูแลรักษาตนเองอย่างถูกต้อง เหมาะสมต่อไป ขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ฟรีตามสถานที่ วัน เวลา ที่กำหนดไว้เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ