ค่าเงินหยวน ปรับขึ้นอีกระลอก กดดันค่าเงินเอเซีย

ข่าวทั่วไป Wednesday May 10, 2006 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
ประเทศจีนได้ปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าตามแนวทางที่รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเป็นตัวของตัวเอง อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินหยวนจะปรับแข็งค่าในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศที่รุมเร้ามากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์เงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวนและเงินตราของประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลต่อเนื่องกดดันค่าเงินในเอเชียให้ปรับค่าขึ้นตาม
แรงกดดันภายในประเทศจีน เกิดจากการไหลทะลักเข้าของเงินลงทุนจำนวนมหาศาล เพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2544-2548 สูงถึงกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2549 ทำให้จีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมเป็น 875,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2549 โดยเพิ่มจาก 818,900 และ 212,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2548 และ 2544 ตามลำดับ
เงินที่ไหลเข้าจำนวนมหาศาลดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้แก่จีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องจนอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ในที่สุด และในด้านภาวะการลงทุนส่วนเกินในเกือบทุกสาขาการผลิตอันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องทำให้สินเชื่อขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางของจีนตั้งไว้กว่าครึ่ง หรือมีจำนวน 1.26 ล้านล้านหยวน จึงทำให้จีนประสบความยากลำบากในการยับยั้งความร้อนแรงทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ของจีนยังคงขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายคือ มีอัตราร้อยละ 10.2
แรงกดดันจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มความพยายามที่จะกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินเนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองภายในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรัง และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 หรือคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของ GDP โดยในจำนวนนี้เป็นการขาดดุลกับประเทศจีนมากที่สุด สูงกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ภายใต้ภาวะความกดดันดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงมีความเห็นว่า ค่าเงินหยวนมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอีกประมาณร้อยละ 3-5 ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้และจะมีผลต่อค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งค่าเงินบาทด้วย โดยค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าอยู่ต่อไปจนกระทั่งการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาในทวีปเอเชียจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อค่าเงินหยวนปรับตัวแข็งขึ้นจนอยู่ในระดับที่ตลาดเห็นว่าเหมาะสม อย่างไรก็ดี เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรมีผลกดดันต่อค่าเงินและมีส่วนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีส่วนสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเนื่องจากเงินทุนเหล่านี้จะไหลออกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Promporn Vejjajiva
Public Relations
02-230-2700, 2709

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ