ไอบีเอ็มกับความเป็นผู้นำทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง

ข่าวเทคโนโลยี Thursday October 29, 2009 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ไอบีเอ็ม นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตได้ปฏิวัติโลกในทศวรรษที่ 90 เมื่อบราวเซอร์เชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าหากัน และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่ในอดีตไม่สามารถทำได้ ให้ปรากฏเป็นจริงได้เพียงชั่วพริบตา ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงคนหลายพันล้านคนทั่วโลกให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยไม่มีช่องว่างเรื่องของเวลาหรือภูมิศาสตร์มาขวางกั้น การเปิดโอกาสให้การดำเนินธุรกรรมออนไลน์หลายพันล้านครั้งสามารถทำได้เพียงชั่วเสี้ยววินาที เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งอินเทอร์เน็ต หรือการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้เอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มความต้องการใช้งานทางด้านไอทีของผู้ใช้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้ว ในเวลาเดียวกัน โลกก็ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและรูปแบบการประมวลผลทางด้านไอทีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับความต้องการการประมวลผลรูปแบบใหม่ได้อย่างดีพออีกต่อไป ความท้าทายในด้านปริมาณข้อมูลซึ่งเพิ่มขึ้นมหาศาลในแต่ละวัน ปัญหาเรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้โลกต้องมองหาวิธีประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ ปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ต้องหาหนทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดงบประมาณทางด้านไอทีลงเท่าที่จะเป็นไปได้ ในเวลาเดียวกับแนวโน้มที่องค์กรต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพอีกด้วย จุดกำเนิดของคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ด้วยความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดความพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแผ้งถางสู่การประมวลผลรูปแบบใหม่ และถือเป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยี “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” เทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการโครงสร้างไอทีรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้ใช้ต้องการพลังแห่งการประมวลผลในทุกที่ ทุกเวลาจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงสอดประสานกันเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเชื่อมโยงกระจายกันอยู่ในก้อนเมฆต่าง ๆ บนท้องฟ้านั่นเอง (cloud computing หรือการประมวลผลกลุ่มเมฆ) ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะเป็นโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค เครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) หรือแม้กระทั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ใหญ่ระดับเมนเฟรมก็ตาม คลาวด์ คอมพิวติ้งกับการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบัน คลาวด์ คอมพิวติ้งมีรูปแบบการให้บริการในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1. บริการในรูปแบบแอพพลิเคชัน (Application Services) ซึ่งรวมถึงการให้บริการใช้งานทางด้านซอฟต์แวร์ (Software as a service) การให้บริการในรูปแบบแอพพลิเคชันดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ตามจริง โดยบริการอาจมีการให้ใช้ฟรีหรือเก็บค่าบริการ ทั้งสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปหรือผู้ใช้งานระดับองค์กรก็ได้ ตั้งแต่บริการฟรีอีเมล์ เช่น ฮอตเมล์ ยาฮูเมล์ ไปจนถึงบริการทางด้านซอฟต์แวร์ที่มีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าองค์กร เช่น โลตัสไลฟ์ของไอบีเอ็ม (IBM LotusLive) เป็นต้น ไม่ว่าบริการทางด้านคลาวด์ดังกล่าวจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม ประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับก็คือการลดค่าใช้จ่าย เวลาและความยุ่งยากในการจัดหาและนำซอฟต์แวร์แอพพลิเคชันต่าง ๆ มาใช้ ทั้งนี้เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพื่อการใช้งานแอพพลิเคชันนั้น ๆ แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ผู้ใช้เพียงเรียกใช้บริการจากผู้ให้บริการและเสียค่าไลเซนส์เพื่อการใช้งานแอพพลิเคชันเฉพาะที่ใช้ตามจริงเท่านั้น 2. บริการในรูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform Services) ในการบริการลักษณะดังกล่าวถือเป็นบริการที่รองรับบริการทางด้านแอพพลิเคชันแบบแรกในอีกทางหนึ่ง โดยระบบอาจปฏิบัติงานอยู่เบื้องหลังภายใต้เทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) และให้บริการได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการมิดเดิ้ลแวร์ (middleware as a service) การเชื่อมต่อ (Connectivity as a service) หรือการใช้บริการข้อมูล (Information as a service) เป็นต้น ตัวอย่างของบริการในลักษณะดังกล่าวได้แก่ ไอบีเอ็ม เว็บสเฟียร์ แอพพลิเคชัน เซิร์ฟเวอร์ (IBM WebSphere Application Server Virtual Images) เป็นต้น การในบริการในเชิงแพลตฟอร์มนี้ ช่วยรองรับแอพพลิเคชันที่องค์กรต้องใช้งาน ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายขององค์กรทำได้ง่ายเพราะผู้ใช้ก็เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะที่ใช้ตามจริงเท่านั้น 3. บริการในรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Services) สำหรับบริการในส่วนนี้ ถือเป็นบริการชั้นล่างสุดและรองรับบริการในสองกลุ่มแรก ซึ่งบริการในกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางด้านไอทีมากมาย เช่น เครื่องแม่ข่าย (Server) อุปกรณ์เน็ตเวิร์ก ดิสก์ สตอเรจ เป็นต้น ซึ่งทำงานสนับสนุนความต้องการของผู้ใช้งานในหลายรูปแบบภายใต้เทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) ตัวอย่างของบริการดังกล่าว ได้แก่ ไอบีเอ็ม บลูเฮาส์ (IBM BlueHouse) วีเอ็มแวร์ (VMWare) เป็นต้น ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการใช้บริการดังกล่าวคือ ความสามารถในการใช้พลังแห่งการประมวลผลตามลักษณะ เวลาและปริมาณที่ต้องการ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้การบริหารค่าใช้จ่ายทำได้ง่ายเพราะสามารถเลือกจ่ายเฉพาะเท่าที่ใช้จริงเท่านั้นได้ ประเภทของคลาวด์ คอมพิวติ้ง คลาวด์ คอมพิวติ้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ 1. คลาวด์แบบเปิด (Public Cloud) คือ บริการทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งที่ผู้ให้บริการจะลงทุนทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เองเพื่อให้บริการทางด้านคลาวด์แบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามแบบข้างต้นแก่ลูกค้าหรือองค์กรทั่วไป โดยทำงานอยู่ภายนอกระบบป้องกันภัยหรือไฟร์วอลล์ขององค์กรผู้ใช้งาน ประโยชน์หลักของบริการดังกล่าวคือ ช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวายกับค่าใช้จ่าย การติดตั้งซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ใด ๆ อีกทั้งยังสามารถเรียกใช้บริการต่าง ๆ และเสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ให้บริการได้ตามการใช้งานจริงอีกด้วย 2. คลาวด์แบบปิด (Private Cloud) คือ บริการทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น การให้บริการคลาวด์แบบปิดดังกล่าว จะทำงานอยู่ภายในระบบป้องกันภัยหรือไฟร์วอลล์ขององค์กรและบริหารจัดการโดยฝ่ายไอทีขององค์กรเอง ประโยชน์ที่ได้จากบริการทางด้านคลาวด์แบบปิดก็คือ องค์กรจะสามารถควบคุมการบริหารจัดการการให้และการใช้บริการทางด้านคลาวด์ของตนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการเฉพาะด้านซึ่งอาจไม่มีให้บริการในลักษณะของบริการคลาวด์แบบเปิดก็ได้ ทั้งนี้เหตุผลดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยหรือการปฏิบัติตามกฏระเบียบของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ข้อเสียของคลาวด์แบบปิดก็คือ องค์กรต้องรับผิดชอบในการลงทุนต่าง ๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับคลาวด์แบบปิดจะสูงกว่าแบบเปิดมากพอสมควร 3. คลาวด์แบบผสม (Hybrid Cloud) คือบริการทางด้านคลาวด์ที่ผสมผสานระหว่างทั้งสองแบบ โดยอาจรวมบริการคลาวด์แบบปิดที่สร้างขึ้นภายในองค์กรเอง แต่ก็มีการใช้งานคลาวด์แบบเปิดร่วมไปด้วย ซี่งทำให้การบริหารจัดการจะทำร่วมกันระหว่างตัวองค์กรเองและผู้ให้บริการคลาวด์แบบเปิด ประโยชน์ของบริการทางด้านคลาวด์แบบผสมก็คือช่วยให้องค์กรมีโอกาสใช้ข้อดีของบริการทั้งสองรูปแบบได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น องค์กรอาจเลือกใช้บริการทางด้านธุรกรรมออนไลน์จากบริการของคลาวด์แบบเปิด แต่ใช้บริการคลาวด์แบบปิดกับงานด้านบัญชีเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น ข้อเสียอย่างหนึ่งของการใช้งานคลาวด์แบบผสมก็คือ การควบคุมระบบต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานเดียวกันอาจทำได้ยากกว่าสองแบบแรก รวมทั้งอาจเกิดความยุ่งยากหากต้องมีการเชื่อมโยงบริการทางด้านคลาวด์สองแบบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ประโยชน์ของคลาวด์ คอมพิวติ้ง ด้วยสมรรถนะและความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งนี้เอง ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้ 1. ช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการจัดซื้อจัดหา ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชัน บริการทางด้านไอทีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งค่าไฟ เป็นต้น เนื่องจากองค์กรสามารถเลือกใช้เฉพาะบริการที่ต้องการและเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะตามที่ใช้เท่านั้นได้ 2. ช่วยองค์กรลดภาระการบริหารงานด้านไอที โดยเปิดโอกาสให้องค์กรหันไปทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจหลักขององค์กรแทน 3. ช่วยให้องค์กรสามารถนำไอทีไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว 4. ช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ศักยภาพการแข่งขัน สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างฉับไว ไอบีเอ็มกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ไอบีเอ็มในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมมากมายตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา เช่น เทคโนโลยีเสมือน ระบบอัติโนมัติต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งนโยบายสนับสนุนมาตรฐานทางด้านไอทีแบบเปิด เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มวางพื้นฐานทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งตั้งแต่ยุคเมนเฟรมเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ต่อมาเมื่อถึงยุคของแนวคิด ‘ออน ดีมานด์’ ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2545 ไอบีเอ็มเป็นองค์กรแรกที่ริเริ่มแนวคิดที่เปิดโอกาสให้ระบบไอทีทำงานตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ แนวคิดดังกล่าวนี้เองถือว่าไม่ต่างจากแนวคิดทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งในปัจจุบันแต่อย่างใด ด้วยความเป็นผู้นำทางด้านไอทีครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือบริการทางไอทีครบครัน ทำให้ไอบีเอ็มครองความเป็นผู้นำทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1. จุดแข็งและความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีครบวงจร ตั้งแต่เทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) เทคโนโลยีบริการผ่านเว็บ นโยบายสนับสนุนมาตรฐานแบบเปิด หรือการประมวลผลผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็มมากมาย ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงบริการทางด้านคลาวด์หลากหลายรูปแบบ 2. ความพร้อมในด้านการให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจหรือเชิงเทคโนโลยีแก่องค์กรที่ต้องการนำคลาวด์ คอมพิวติ้งไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยเรียนรู้จากกรณีศึกษาของลูกค้าต่าง ๆ ของไอบีเอ็ม 3. การลงทุนอย่างต่อเนื่องทางด้านการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง รวมทั้งการจัดตั้งคลาวด์ คอมพิวติ้งแล็บ เพื่อสนับสนุนลูกค้าและองค์กรต่าง ๆ ในการเริ่มต้นพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ปัจจุบันไอบีเอ็มมีคลาวด์ คอมพิวติ้งแล็บถึง 9 แห่งในโลก ได้แก่ ที่ซิลิคอน แวลเล่ย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองดับบลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน เมืองโจฮานเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย และเมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยภายในในแล็บแต่ละแห่งจะเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีรวมทั้งทีมงานที่มีทักษะ ความรู้ความชำนาญเพื่อช่วยให้ลูกค้าเริ่มต้นออกแบบ ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะขององค์กร รวมทั้งทำให้คลาวด์ คอมพิวติ้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรอีกด้วย 4. ตัวอย่างของลูกค้าที่ประสบความสำเร็จมากมายทั่วโลกจากการนำเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็มไปใช้งานทำให้ไอบีเอ็มโดดเด่นในด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งมากกว่าผู้ให้บริการทางด้านไอทีรายอื่น สินค้าและบริการทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม ไอบีเอ็มมีสินค้าและบริการครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพื่อการก้าวสู่คลาวด์ คอมพิวติ้ง ไม่ว่าจะเป็น 1. สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที ซึ่งรวมถึงเครื่องแม่ข่ายบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแม่ข่ายซิสเต็ม ซี (เมนเฟรม) เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ เบลดเซ็นเตอร์ ซิสเต็ม เอ็กซ์ หรือ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสตอเรจต่าง ๆ คลาวเบิร์สท เป็นต้น 2. ซอฟต์แวร์และ มิดเดิ้ลแวร์มากมาย ที่สนับสนุนเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์เว็บสเฟียร์ ดีบีทู คอกนอส เรชันแนล ทิโวลี เป็นต้น 3. บริการทางด้านคลาวด์อันหลากหลาย ทั้งบริการในรูปแบบซอฟต์แวร์ เช่น โลตัสไลฟ์ หรือบริการวางแผน ติดตั้ง ทดสอบ ให้คำปรึกษาทั้งในเชิงเทคโนโลยีหรือในเชิงธุรกิจที่เกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้งครบวงจร 4. ทีมงานที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งเต็มรูปแบบ ตัวอย่างลูกค้าคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม ปัจจุบัน มีลูกค้ามากมายทั่วโลกให้ความไว้วางใจเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็มในการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร เช่น บริษัท เวียดนาม เทคโนโลยีและโทรคมนาคม (Vietnam Technology and Telecommunications - VNTT) บริษัทผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคมชั้นนำของเวียดนามที่เลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งอันหลากหลายของไอบีเอ็ม เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือบริการทางด้านไอทีในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการบริการแก่ลูกค้าขององค์กร นิคมอุตสาหกรรมหวูซี่ ประเทศจีน (City of Wuxi, China) ที่ร่วมมือกับไอบีเอ็มในการจัดตั้งระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งเพื่อให้บริการทางด้านไอทีแก่ผู้ใช้งานภายในนิคมอุตสาหกรรม ในลักษณะเดียวกับการให้บริการทางด้านสาธารณูปโภครูปแบบอื่น เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น เอลิซาเบธ เอเดน (Elizabeth Arden) บริษัทเครื่องสำอางค์และความงามชั้นนำของโลกที่ให้ความไว้วางใจเลือกใช้บริการให้คำปรึกษาทางด้านคลาวด์ของไอบีเอ็มในการปกป้องข้อมูลสำคัญ ๆ ขององค์กรต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ อันไม่คาดฝัน เพื่อทำให้การจัดเก็บ เรียกคืนข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความราบรื่นในระบบงานสำคัญ ๆ ทุกด้านขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นระบบอีเมล์ อีอาร์พี ดาต้าแวร์เฮาส์ เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/cloudcomputing ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด วีระกิจ โล่ทองเพชร โทร : 02 273 4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ