๒ ล้านดวงใจ….สอบธรรม....เพื่อในหลวง

ข่าวทั่วไป Friday October 30, 2009 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง พระพจนารถ ปภาโสรองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง “ ประเทศใด มีพลเมืองกอปรด้วยธรรมาภิบาล ประเทศนั้น ย่อมมีแต่ความวัฒนาสถาพร ” ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน จนพุทธธรรมได้ถูกปรับประยุกต์เข้าสู่วัฒนธรรมประเพณี และพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ความใฝ่ใจในการศึกษาพุทธธรรมของคนไทย ถูกปลูกฝังมาแต่ครั้งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงนำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มาเป็นหลักธรรมภิบาลในการปกครองประเทศ ข้าราชการที่ผ่านการศึกษาพุทธธรรม จึงเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่งดงาม สามารถสนองพระเดชพระคุณ บุรพกษัตริย์ ให้ทรงบริหารราชการแผ่นดิน นำความผาสุกให้เกิดแก่ผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ความวิบัติของประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ล้วนเกิดขึ้นจากข้าราชบริพารที่ไม่สามารถน้อมนำพุทธธรรมมาสู่วิถีการดำเนินชีวิตของตน ดำรงตนเป็นผู้เต็มไปด้วยความโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาเหล่านั้นล้วนสร้างหายนะให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ครั้ง เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด แม้ขณะปัจจุบัน บุคคลที่สร้างหายนะให้แก่ประเทศไทย ก็คือคนที่เป็นข้าราชการ ผู้ห่างไกลจากพุทธธรรม เช่นกัน การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกมลสันดานของคนไทย เพื่อสร้างคนไทยที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ที่จะร่วมสามัคคีธรรมกัน ในการสร้างสรรค์ประเทศไทยให้มีความวัฒนาสถาพร จึงเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ผู้เป็นศาสนทายาทสืบทอดพุทธธรรมให้ดำรงสืบมา แต่เดิมการสอนพุทธธรรม เป็นการสอนตามคัมภีร์ ตามภูมิความรู้ของพระสงฆ์ ผู้เป็นครูอาจารย์ คุณวุฒิของพระสงฆ์ผู้เป็นครูอาจารย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดพุทธธรรมเข้าสู่สามัญ-สำนึกของศิษย์ ความหลากหลายในการอธิบายพุทธธรรม จึงเป็นเหตุก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนในการอธิบายพุทธธรรม และนำให้เกิดการนำศาสตร์อื่นเข้ามาสู่วงวัด ด้วยตระหนักถึงผลเสียหายอันจักมีขึ้นได้ในกาลต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา-วชิรญาณวโรรส จึงทรงจัดหลักสูตรสำหรับสอนภิกษุสามเณรขึ้น โดยทรงคัดเนื้อหาข้อสำคัญในพระไตรปิฎก มาเป็นหลักสูตร และทรงพัฒนาหลักสูตรนั้นเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ เมื่อการเรียนการสอนในหลักสูตรนักธรรมแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร เป็นเหตุนำให้ฆราวาสผู้ใฝ่ใจในการศึกษาพุทธธรรม ได้นำตนเข้าศึกษาหลักสูตรนักธรรมตามอารามต่างๆ และได้มีการร้องขอให้มหาเถรสมาคม จัดสอบความรู้ของตนด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงอนุมัติให้มีการจัดหลักสูตรธรรมศึกษาสำหรับฆราวาสขึ้น และให้แม่กองธรรมสนามหลวงจัดสอบความรู้ฆราวาส ตามหลักสูตรเป็นครั้งแรกในปีการศึกษาพุทธศักราช ๒๔๗๒ การเรียนการสอนธรรมศึกษาได้ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณนักเรียนธรรมศึกษา เพิ่มขึ้นทุกปี ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ มีนักเรียนธรรมศึกษารวมทั่วประเทศ ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน แบ่งเป็น ธรรมศึกษาชั้นตรี ๑,๑๒๓,๖๒๓ คน ธรรมศึกษาชั้นโท ๕๙๖,๒๗๔ คน และธรรมศึกษาชั้นเอก ๑๘๖,๙๗๖ คน โดยมีพระสงฆ์รับเป็นครูสอนให้ความรู้พุทธธรรม ตามหลักสูตรที่มหาเถรสมาคมกำหนด มหาเถรสมาคม มีมติที่ ๓๓๔/๒๕๕๒ กำหนดวันสอบธรรมสนามหลวง ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ พร้อมกันทั่วพระราชอาณาจักร ดังนี้ ๑. นักธรรมชั้นตรี กำหนดสอบ วันที่ ๒๘ — ๒๙ — ๓๐ กันยายน — ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ๒. นักธรรมชั้นโท — เอก กำหนดสอบ วันที่ ๔ — ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ๓. ธรรมศึกษาทุกชั้น กำหนดสอบ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ การสอบธรรมสนามหลวง เป็นการสอบความรู้ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย สมเด็จพระ-สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้มีการสอบธรรมสนามหลวง ตามคำแนะนำของแม่กอง-ธรรมสนามหลวง ที่เสนอผ่านมหาเถรสมาคม การสอบธรรมสนามหลวง ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ใช้สนามสอบทั่วประเทศ ๓,๗๘๕ สนาม ซึ่งใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ ๒,๔๔๓ แห่ง วัด ๑,๑๒๙ แห่ง สถานที่ของกรมราชทัณฑ์ ๑๓๔ แห่ง สถาบันอุดมศึกษา ๔๑ แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา ๓๓ แห่ง และสถาบันเอกชน ๕ แห่ง จำนวนนักเรียนธรรมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ยังไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่านักเรียนเหล่านี้เป็นผู้มีธรรมาภิบาล ที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของตนตามหลักพุทธธรรม เพราะการเรียนธรรมศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์นั้น เป็นเพียงการเรียนรู้พุทธธรรมขั้นพื้นฐานอันควรแก่การดำเนินชีวิต ผลของการเรียนธรรมศึกษาที่แท้จริง มิได้อยู่ที่ใบประกาศนียบัตร ที่คณะสงฆ์มอบให้นักเรียนผู้สอบได้ตามเกณฑ์ของคณะสงฆ์ แต่อยู่ที่การนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของตน จนได้รับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดำรงตนให้ดำเนินชีวิตอยู่ใน หลักธรรมาภิบาล ทั้ง ๖ ประการคือ หลักนิติธรรม , หลักคุณธรรม , หลักความโปร่งใส , หลักความมีส่วนร่วม , หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ศาสนิกชนที่ดีของพระศาสนา และ พสกนิกรผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช นำให้พสกนิกรผู้จงรักภักดีขวนขวายบำเพ็ญกุศลกิจเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็วพลัน มหาเถรสมาคม อันเป็นองค์ปกครองคณะสงฆ์ ได้มีมติให้ทุกวัด เจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล ภายหลังการทำวัตรเช้า — เย็น แม้กระนั้นก็ตาม กาลเวลาที่ทรงประทับรักษาพระอาการที่ยาวนาน ได้ก่อให้เกิดความ อ่อนไหวในจิตใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นเหตุให้พาลชน คนมีกิเลส ได้สร้างสถานการณ์โดยการปล่อยความลือเกี่ยวกับพระองค์ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น และความกังวลใจจนต้องโทรศัพท์ถามความจริงของคนไทยหลายคนทั่วประเทศ นี่คือผลแห่งการขาดธรรมาภิบาลของ คนปล่อยข่าวลือ และการขาดพุทธธรรมในจิตใจของประชาชนที่อ่อนไหวไปกับข่าวลือ ข่าวลือได้ถูกทำให้สงบระงับไปด้วยกระแสพระดำรัสใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง จุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่รับสังเล่าเรื่องพระอาการประชวรกับข้าราชการและนักเรียนไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐเยอรมัน และด้วยข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ประทับรถเข็นไฟฟ้าไปยังตึกสยามินทร์ ถวายราชสักการะพระบรมรูปหล่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคาร เนื่องในโอกาสวัน ปิยมหาราช วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ สถานการณ์ข่าวลือ อันเป็นการบ่อนทำลายประเทศชาติ เช่นนี้ ทำให้คณะสงฆ์ได้ตระหนักถึงภารธุระในการเผยแผ่พุทธธรรม ให้เจริญงอกงามในกมลสันดานของคนไทย งานสอนธรรมศึกษาจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีนักเรียนทั่วประเทศเกือบ ๒ ล้านคน ในระหว่างวันที่ ๓ — ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบนักธรรมชั้นโท — เอก จำนวน ๑๗๗,๒๔๘ รูป นักเรียนสอบธรรมศึกษา ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน รวมทั้งสิ้น ๒,๐๘๔,๑๒๑ รูป / คน เป็นมงคลกาลแห่งการทดสอบภูมิความรู้พุทธธรรมของนักเรียนที่ได้ศึกษามาตลอดหลักสูตร เป็นมงคลกาลแห่งสามัคคีในการบำเพ็ญกุศลของพุทธบริษัท ที่สนับสนุนการสอบธรรมสนามหลวงให้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ผลานิสงส์ดลให้เกิดความวัฒนาสถาพรในประเทศไทย กอปรกับเป็นมงคลกาลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจาก โรงพยาบาลศิริราช ไปประทับรักษาพระวรกาย ณ ที่ประทับ เพื่อให้สอบธรรมสนามหลวงครั้งนี้ ได้เป็นมหากุศล จึงขอเชิญชวนให้นักเรียนผู้เข้าสอบธรรมสนามหลวงทุกรูป/คน และพุทธบริษัทที่ร่วมกันดำเนินการสอบธรรมสนามหลวง จงตั้งจิตอธิษฐาน น้อมนำกุศลผลบุญอันพึงมีพึงเป็น น้อมถวายเป็นพระราชกุศล ดลบันดาลให้ พระบาท-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนม-สุขทุกประการ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมเราทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ. นี่จึงสมด้วยคำกล่าว ณ เบื้องต้นว่า “ สองล้านดวงใจ...สอบธรรม...เพื่อในหลวง ” จังหวัดที่มีนักเรียนธรรมศึกษามากที่สุด ที่ จังหวัด ธ.ศ.ตรี ธ.ศ.โท ธ.ศ.เอก รวม ๑. กรุงเทพมหานคร ๑๔๓,๐๙๖ ๕๓,๙๖๖ ๑๗,๙๓๑ ๒๑๔,๙๙๓ ๒. นครราชสีมา ๔๘,๙๕๔ ๑๖,๗๒๙ ๔,๐๘๓ ๖๙,๗๖๖ ๓. อุบลราชธานี ๓๓,๙๙๐ ๒๔,๙๗๑ ๘,๐๘๗ ๖๗,๐๔๘ ๔. ศรีสะเกษ ๓๘,๖๙๗ ๒๒,๐๗๖ ๔,๕๗๘ ๖๕,๓๕๑ ๕. ขอนแก่น ๒๗,๔๖๐ ๒๕,๐๓๙ ๘,๑๓๐ ๖๐,๖๒๙ สนามสอบที่มีนักเรียนสอบมากที่สุด ที่ สนามสอบ เขต/อำเภอ จังหวัด ยอดนักเรียนรวม ๑. วัดยาง สวนหลวง กรุงเทพมหานคร ๕,๘๗๓ ๒. วัดสว่าง กระนวน ขอนแก่น ๕,๔๓๖ ๓. วัดราชธานี เมือง สุโขทัย ๕,๑๑๙ ๔. วัดบุณฑริกาวาส กุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ ๔,๖๘๘ ๕. โรงเรียนอนุบาลพยัคฆภูมิพิสัย พยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม ๔,๖๒๐ สนามสอบอุดมศึกษาที่มีนักเรียนสอบมากที่สุด ที่ สนามสอบ เขต/อำเภอ จังหวัด ยอดนักเรียนรวม ๑. มหาวิทยาลัยสยาม ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ๔,๑๔๐ ๒. มหาวิทยาลัยศรีปทุม จตุจักร กรุงเทพมหานคร ๓,๒๐๐ ๓. มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร บางเขน กรุงเทพมหานคร ๑,๗๐๐ ๔. วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี เมือง ราชบุรี ๑,๓๘๓ ๕. มหาวิทยาลัยมหามกุฎฯ เมือง ร้อยเอ็ด ๑,๐๔๒ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๐๐ น. พิมพ์เผยแผ่ในหนังสือพิมพ์ธงธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ