สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการ CSR กับประเทศคู่ค้ากรณีสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กหรือแรงงานที่ถูกบังคับ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2009 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยบัญชีสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานที่ถูกบังคับโดยไม่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ตามกฎหมาย TVPRA เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของสาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก และ/หรือแรงงานที่ถูกบังคับสำหรับผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่ผ่านมามีการตรวจพบสินค้า 122 รายการ จาก 58 ประเทศ ที่ใช้แรงงานเด็ก และ/หรือแรงงานที่ถูกบังคับในการผลิตสินค้า กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับเพิ่มรายการสินค้าภายใต้ Executive Order 13126 ว่าด้วยข้อกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ จากเดิม 11 รายการ เพิ่มเป็น 29 รายการ ดังนั้น จะเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างกรณีสินค้าดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทางการค้าของประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ภาคเอกชนอาจนำประเด็นเหล่านี้ไปกำหนดแนวทางการนำเข้าให้เป็นไปตามแนวคิด CSR ซึ่งต้องครอบคลุมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในเรื่องธรรมมาภิบาล สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ผู้บริโภค สังคม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม และข้อปฏิบัติด้านแรงงาน ทั้งนี้ การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิด CSR อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์การผลิตสินค้าของไทยที่ไม่เป็นไปตามข้อปฏิบัติด้านแรงงานตามหลัก CSR และมาตรฐาน ISO 26000 ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมล้วนส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยได้เช่นกัน จากรายงานเรื่อง List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor ภายใต้กฎหมาย Trafficking Victims Protection Reauthorization Act of 2005 and 2008 (TVPRA) ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งหากรายการสินค้าส่งออกไทยปรากฎอยู่ในบัญชีที่มีการใช้แรงงานเด็กและหรือแรงงานที่ถูกบังคับจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ลดลง ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.dol.gov/liab/ ภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2552

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ