นักวิจัยไบโอเทค รับทุนวิจัยจากมูลนิธิเกตส์ 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ ในการออกแบบระบบทดสอบเพื่อหาจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย

ข่าวทั่วไป Friday November 13, 2009 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สวทช. ตามที่มูลนิธิเกตส์ได้ประกาศให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้นพบนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาพแก่ประชากรโลก ดร.ฟิลิป ชอว์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีน - ลิแกนและชีววิทยาโมเลกุล จาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ Grand Challenges Explorations ของมูลนิธิเกตส์ หรือ The Bill & Melinda Gates Foundation ในโครงการการพัฒนาวิธีการตรวจสอบยีนเป้าหมายสำหรับยาต้านมาลาเรีย โดยโครงการฯ มีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2552 — 31 ตุลาคม 2553 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 513 อาคาร สวทช. ถนนโยธี ได้จัดให้มีการสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ฟิลิป ชอว์ นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับแนวคิด การพัฒนาวิธีการตรวจสอบยีนเป้าหมายสำหรับยาต้านมาลาเรีย และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในการให้ข้อมูล ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญในการพัฒนายามาลาเรียสมัยใหม่ คือ การหาเป้าหมายยาที่เหมาะสม หากเปรียบไปก็คล้ายการยิงธนูให้เข้าเป้า เราจำเป็นต้องรู้ว่าเป้าอยู่ที่ไหน และเมื่อยิงถูกแล้วจะได้ผลหรือไม่ ดร.ฟิลิป ชอว์ได้เสนอวิธีใหม่ในการค้นหาเป้าหมายที่ถูกต้อง วิธีใหม่นี้ใช้การป้องกันไม่ให้ เชื้อมาลาเรียสามารถสร้างโมเลกุลเป้าหมายได้ ซึ่งหากเป้าหมายมีความสำคัญจริงเชื้อก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ด้วยวิธีนี้ เราจะได้เป้าหมายใหม่ๆ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนายาที่มุ่งทำลายเป้าเหล่านี้ได้ต่อไป” ดร.ฟิลิป กล่าวว่า “เนื่องจากปัญหาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเป็นปัญหาทั่วโลก หากเราสามารถหาจุดอ่อนของเชื้อที่สามารถใช้เป็นเป้าหมายของยาได้ จะมีประโยชน์ในการพัฒนายาต้านมาลาเรีย และทราบถึงส่วนที่ยาจะเข้าไปทำลายเชื้อ ส่งผลให้การรักษาการดื้อยาของเชื้อได้แน่นอนมากขึ้น” ดร.ฟิลิป กล่าวเสริมว่า “สำหรับทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ได้รับในครั้งนี้ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจในฐานะนักวิจัยไทย เมื่อวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนกับวัตถุประสงค์ของการทำงานที่ไบโอเทคตรงกัน จึงเป็นโอกาสที่เสริมต่อการทำงานวิจัยที่ดำเนินอยู่ เพื่อประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับต่อไป” โครงการวิจัยของ ดร.ฟิลิป เป็นหนึ่งใน 76 โครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากมูลนิธิเกตส์ โดยนำเสนอ แนวคิดแบบจำลองที่เป็นระบบ ในการหาจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย โดยใช้ตัวควบคุมที่ทำหน้าที่คล้ายสวิตช์เปิด-ปิดเข้าไปติดกับชิ้นส่วนดีเอ็นเอในตัวเชื้อที่คิดว่าน่าจะสำคัญ แล้วจึงทำการเปิด-ปิด เพื่อทดสอบว่าถ้าทำการปิดการแสดงออกของชิ้นดีเอ็นเอนั้น เชื้อมาลาเรียจะตายหรือไม่ เป็นการสร้างระบบตรวจสอบหาจุดอ่อนของเชื้อ หรือเป้าหมายของยา เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านมาลาเรียในอนาคต เป็นแนวทางในการศึกษาเป้าหมายของยาได้มากขึ้น ง่ายขึ้นและตอบสนองการรักษาการดื้อยาของเชื้อได้แน่นอนขึ้น ด้าน ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ให้ ความเห็นว่า “ปัจจุบัน ปัญหาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเป็นปัญหาทั่วโลก ทำให้การค้นหาสารต้านมาลาเรียสำหรับเชื้อดื้อยามีความสำคัญมาก และเนื่องจากเรามีประชากรประมาณ 400 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผลที่ได้รับจากโครงการนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านยาต้านมาลาเรียในอนาคต” “สำหรับผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิเกตส์ จะต้องแสดงแนวคิดที่ใหม่และท้าทาย ซึ่งแสดงถึงการ แก้ปัญหาด้านสุขภาพที่ดีที่สุดให้กับโลกของเราได้” ดร.ทาชิ ยามาดะ ประธานมูลนิธิเกตส์ กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า “มีความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นแนวคิดของนักวิจัย ทำให้มองเห็นภาพในอนาคตว่าจะมีโครงการที่ดี มีประโยชน์พร้อมจะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านสุขภาพและการมีชีวิตที่ปลอดภัยของประชากรโลกได้มากยิ่งขึ้น” โครงการ Grand Challenges Explorations เป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดช่องทางในการนำเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ในการป้องกันและรักษาโรคติดต่อ เช่น เอดส์ มาลาเรีย วัณโรค ปอดบวม และอหิวาตกโรค เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี ที่มีมูลค่าโครงการ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางด้านสุขภาพโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Grand Challenges in Global Health ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิเกตส์ หรือ The Bill & Melinda Gates Foundation เพื่อให้เกิดการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทางด้านการพัฒนาสุขภาพโลก งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. บงกช สาริมาน โทร. 02-564-6700 ต่อ 3315 โทรสาร 02-564-6702 e-mail: bongkoch.sar@biotec.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ