การส่งออกและการใช้จ่ายของรัฐดัน GDP ไตรมาส 3 โตร้อยละ 5 ถึง 5.5

ข่าวทั่วไป Monday November 20, 2006 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ธนาคารกรุงเทพ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องจากในครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคต่างประเทศและการใช้จ่ายของรัฐบาล เนื่องจากการการส่งออกที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐบาลมีการเร่งการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนั้น จากเครื่องชี้รายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยยังแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 น่าจะขยายตัวได้สูงถึงประมาณร้อยละ 5 ถึง 5.5
อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยหากพิจารณาในด้านมูลค่า จะเห็นว่าการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 16.3 ซึ่งดีขึ้นจากร้อยละ 16 ในไตรมาสก่อน ซึ่งทำให้ดุลการค้าเกินดุลถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีขึ้นมากจากที่ขาดดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพทางด้านมูลค่าอาจจะยังดูดีมาก แต่หากพิจารณาในด้านปริมาณ จะเริ่มเห็นถึงอาการอ่อนแรงของภาคการส่งออก เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.9 ชะลอลงมากจากที่ขยายตัวเกินร้อยละ 10 ในไตรมาสก่อน แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางสถิติเนื่องจากฐานที่สูงในระยะเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ากลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 จากที่หดตัวติดต่อกันสองไตรมาส ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าถึงแม้การส่งออกจะยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเนื่องจากพลังในการขับเคลื่อนเริ่มอ่อนแรงลง
อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแรงลงในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้รับการชดเชยจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณกันเป็นพิเศษ เนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนได้พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากที่พบว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเบิกจ่ายยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผลก็คือทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวสูงถึงกว่าร้อยละ 15 และทำให้อัตราการเบิกจ่ายตลอดทั้งปีงบประมาณ 2549 สูงเกินเป้าหมายที่ร้อยละ 93.5 ของวงเงินงบประมาณ (เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 93 ) การใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3
สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา หลังจากที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน จากผลของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยทางการเมืองที่ในขณะนั้นยังมีความไม่แน่นอน พิจารณาจากเครื่องชี้ที่สำคัญคือ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 2 ในไตรมาสที่ 3 ดีกว่าในไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 และ 0.8 ตามลำดับ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนซึ่งก็ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้เครื่องชี้จะแสดงถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า
ภาคเอกชนภายในประเทศฟื้นตัวขึ้นแล้ว เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเครื่องชี้ดังกล่าวยังต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบวัฏจักรขาขึ้นที่ผ่านมา (ช่วงปี 2546 — 2547) นอกจากนั้น หากพิจารณาเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนเป็นรายตัวแล้วจะพบว่าเครื่องชี้ที่สำคัญอย่างเช่น ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายรถจักรยานยนต์ มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ พบว่าเครื่องชี้เหล่านี้ยังแกว่งตัวไปมาระหว่างการขยายตัวกับการหดตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้อุปสงค์ของภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นมาบ้างในไตรมาสที่ 3 แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง และยังเป็นไปได้ที่อาจจะกลับไปชะลอตัวลงอีกหากถูกกระทบจากปัจจัยที่ไม่คาดฝัน เช่น ราคาน้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทที่ผันผวน หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางที่อาจทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศจะยังอ่อนแอก็ตาม แต่ด้วยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐบาลที่เร่งตัวขึ้นมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการคำนวณ GDP ยังมีส่วนของสินค้าคงเหลือและความคลาดเคลื่อนทางสถิติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ยากที่จะคาดการณ์ และอาจส่งผลให้การขยายตัวสูงขึ้นหรือลดลงจากส่วนที่เป็นอุปสงค์ปกติได้ ซึ่งทำให้เป็นการยากที่จะคาดการณ์อัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขตัวเดียว ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคจึงคาดว่า GDP น่าจะขยายตัวในช่วงประมาณร้อยละ 5 — 5.5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ