คณะกรรมาธิการเด็กฯ จัดงานยุติความรุนแรง เหล่าดาราและเซเลบริตี้ร่วมใจยุติความรุนแรง !

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2009 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--Allback Interprise คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ขานรับวันยุติความรุนแรงโลก เร่งผลักดันแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาต่อสตรีไทย ดึงผู้มีบทบาท/ชื่อเสียงในสังคมเป็นตัวแทนจากอาชีพตำรวจ ผู้กำกับละคร นักบริหาร องค์กรNGO ภาคเอกชนและ เซเลบริตี้ เป็นต้น ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ความรุนแรงต่อสตรี : ใครจะหยุด ?” เน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก่อให้เกิดพลังลดความรุนแรงในสังคม นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า “ ในวันยุติความรุนแรงนี้ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงได้จัดงาน ภายใต้แนวคิด ร่วมมือร่วมใจ ยุติความรุนแรงต่อสตรี เน้นโทนสีขาวและชมพู เพื่อสะท้อนความสำคัญของผู้หญิง พร้อมมีการเสวนาหาทางออกสำหรับปัญหาใหญ่ในสังคม ภายใต้หัวข้อ “ความรุนแรงต่อสตรี : ใครจะหยุด?” สำหรับบทบาทหน้าที่คณะกรรมาธิการฯมีอำนาจในการพิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงการประสานงานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมนานาชาติ เพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล ต่างๆอันจะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งร่วมกันผลักดันให้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ อีกทั้งการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะคือ คณะอนุกรรมาธิการด้านกฎหมาย มี สส.ประเสริฐ จันทรรวงทอง (ประธาน) และ คณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์และรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส.ส.สิรินธร รามสูตร (ประธาน) เป็นต้น ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า “ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เร่งผลักดันแนวคิดหลักๆ ไว้ 2 เรื่อง ผ่านทางหน่วยงานและองค์กรผู้รับผิดชอบ คือ 1) ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม 2) การแก้ไขปัญหาที่ได้ผล ต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการป้องกัน โดยการปลูกฝังแนวคิด วิถีปฎิบัติแห่งวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน คือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ อย่างเสมอกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งการปลูกฝังนี้ควรเริ่มตั้งแต่เด็กก่อนเข้าโรงเรียน ชั้นอนุบาล และชั้นประถม ทั้งนี้งานวิจัยชี้บ่งว่าการปลูกฝังทั้ง IQ,EQ,MQและSQ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงอายุ 0-6 ปี นอกจากนี้การส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในช่วงชีวิตอื่นๆ ควรต้องเป็น บทบาทร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อ จากผลวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่าสื่อมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการชักนำแนวคิดและพฤติกรรม รวมถึงการหล่อหลอมทัศนคติผู้รับสื่ออีกด้วย สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งบังคับใช้ในปัจจุบันมีหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว , พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ให้บริการจากภาครัฐต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีศูนย์ประชาบดีมีให้ความช่วยเหลือในทุกจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์พึ่งได้ ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีอย่างครบวงจรของโรงพยาบาลรัฐ 279 แห่ง และกระทรวงยุติธรรม มีบ้านกาญจนาภิเษก เป็นต้น ” อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าตกใจในสังคมคือสถิติผู้ถูกกระทำ จากศูนย์พึ่งได้ (OSCC = One Stop Crisis Center ) พบว่ามีผู้หญิงกับเด็กถูกกระทำความรุนแรงมาขอรับความช่วยเหลือ เฉลี่ย 53 รายต่อวัน (ซึ่งตัวเลขนี้น้อยกว่า 10% ของผู้ถูกกระทำทั้งหมด เพราะผู้มาโรงพยาบาลถือเป็นผู้ถูกกระที่จำเป็นต้องมารักษาจริงๆ) ด้านคดีความรุนแรงทางเพศต่อเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2545-2550 เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้บ่งว่ากรณีความรุนแรงต่อสตรีจากปี 2551-2552 มีอัตราเพิ่มขึ้น 200 % ติดต่อสอบถาม มัจจติกา โคมทอง (นก) PR&Marketing Manager Allback Interprise Co.ltd mutjatika@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ