เยาวชนไทย วอนผู้ใหญ่เลิกเหล้า ลดตัวเลขคนบาดเจ็บช่วงปีใหม่

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 12:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สำนักงานสถิติฯ สำนักงานสถิติฯ เผยในรอบหกปี ครอบครัวไทยซดเหล้าเพิ่มขึ้น 20% จ่ายค่าเหล้าเพิ่ม63% ยิ่งจนยิ่งจ่ายหนัก ผลานเงินทำลายสุขภาพตัวเอง 7 เท่า ขณะที่“นักวิชาการ” ชี้รัฐบาลปรับขึ้นภาษี คุมโฆษณาอย่างจริงจัง ด้าน “น้องไอซ์” อาสาสมัครเยาวชนไทยรณรงค์เมาไม่ขับ วอนผู้ใหญ่เลิกเหล้าลดตัวเลขบาดเจ็บล้มตาย รศ. ดร.สุพล ลิมวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโสสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศและอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายในครอบครัวของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยพิจารณาในส่วนที่ทำลายสุขภาพและดูแลสุขภาพ ปี 2551 พบว่า สมาชิกในครอบครัวที่ดื่มสุรามีจำนวน 4.7 ล้านครอบครัว เพิ่มขึ้นจากปี 2545 เกือบ 20% ขณะที่สมาชิกครอบครัวที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง 8% เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย พบว่า ครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มสุราจะมีค่าสุราเพิ่มขึ้นจาก 370 บาทต่อเดือนในปี 2545 เป็น 602 บาทต่อเดือนในปี 2551 หรือกล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 6 ปีคนไทยจ่ายค่าสุราเพิ่มขึ้น 62% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อรวมค่าใช้จ่ายสุราและบุหรี่ในปี 2551พบว่า ครอบครัวที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่มีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าทำลายสุขภาพนี้สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเกือบ 7 เท่า และที่น่าเป็นห่วงคือครอบครัวที่ยากจนแต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสุรามากกว่าครอบครัวที่มีฐานะดี “ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการในการควบคุมปัญหาสุราในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายควบคุมยาสูบ อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขคงต้องเน้นที่ระบบภาษีสรรพสามิตสุราซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลสูงสุดหากนำมาใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีในโครงสร้างระบบภาษีแบบผสมผสานในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองการควบคุมสุราและลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ความสำเร็จในการควบคุมยาสูบชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพการห้ามโฆษณาบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งรัฐบาลควรนำมาใช้กับการควบคุมเครื่องสุรา” ดร.สุพล กล่าว นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกระบุว่า ภาษีสุราเป็นมาตรการที่ได้ผล คุ้มค่าสูงสุดในการควบคุมยับยั้ง หรือชะลอการดื่มสุรา และมาตรการทางภาษีสรรพสามิตมีผลต่อการลดปริมาณและความถี่ของการบริโภคในกลุ่มที่ยังไม่บริโภค เนื่องจากมาตรการภาษีมีอิทธิพลชัดเจนต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อย่างไรก็ตามการพิจารณาปรับภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ควรคงระบบระบบภาษีแบบสองเลือกหนึ่ง ซึ่งตอบสนองต่อคุณค่าในการควบคุมปัญหาและป้องกันการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ด.ญ.พิมนภัส ภู่ทองคำ หรือ “น้องไอซ์” นักเรียนชั้น ป. 5 จากโรงเรียนวรนาถพิทยา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อาสาสมัครเครือข่ายเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "หนูอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนเลิกเหล้า โดยเฉพาะกับครอบครัว เพราะเราจะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ หนูรักพ่อมาก ไม่อยากให้พ่อกินเหล้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึงจึงเป็นโอกาสดีที่หนู ในฐานะอาสาสมัครที่เป็นกลุ่มเยาวชนจะเข้าไปมีบทบาทรณรงค์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พวกหนูจะไปแจกสติ๊กเกอร์เมาไม่ขับตามจุดต่างๆ และคาดหวังว่าจะสามารถลดตัวเลขคนบาดเจ็บล้มตายได้ค่ะ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ