บทสัมภาษณ์ “เพื่อน-ภาคภูมิ วงษ์จินดา” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ฮู อาร์ ยู” (WHO R U?)

ข่าวบันเทิง Tuesday January 12, 2010 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มักจะสร้างผลงานแหวกแนวออกมาอยู่เสมอ สำหรับผู้กำกับ “ภาคภูมิ วงษ์จินดา” ที่เคยผ่านงานกำกับหลากหลายแนวมาแล้วอย่าง ฟอร์มาลินแมน รักเธอเท่าฟ้า (2547), รับน้องสยองขวัญ (2548) และ วิดีโอคลิป (2550) ล่าสุด เขากำลังจะกลับมาพร้อมกับผลงานกำกับลำดับที่ 4 ในแนวสยองขวัญสั่นประสาทเรื่อง “ฮู อาร์ ยู” (WHO R U?) ที่งานนี้แท็คทีมกับผู้เขียนบทมือดี “เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” (13 เกมสยอง, บอดี้ ศพ#19) และนักแสดงตัวแม่ของวงการอย่าง “สินจัย เปล่งพานิช” มาสร้างความหลอนหฤหรรษ์ครั้งนี้โดยเฉพาะ จุดเริ่มต้น-แรงบันดาลใจ สำหรับจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นหนัง “ฮู อาร์ ยู” เรื่องนี้นะครับ มันมาจากเรื่องเล่าของโปรดิวเซอร์ของผมคือพี่“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ได้มาคุยกันว่าจากประสบการณ์ชีวิตของพี่ปรัช เกี่ยวกับเรื่องการได้ไปพบกับแม่ค้าคนหนึ่ง เป็นแม่ค้าขายวีซีดี-ดีวีดีหนังคนหนึ่งที่เขามีลูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมออกจากห้องมา 5 ปี ซึ่งพี่ปรัชเขารู้สึกว่าไอ้ประเด็นตรงนี้มันน่าสนใจ เพราะว่าใครก็ต้องมีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นว่า ไอ้เด็กที่เก็บตัวอยู่ในห้องมา 4-5 ปีโดยที่ไม่ออกไปไหนเลยเนี่ย มันจะเป็นยังไงบ้าง อย่างรูปร่างหน้าตาเนี่ยยังเป็นแบบเดิมอยู่หรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง เขาจะทำอะไรบ้างเวลาอยู่ในห้องอะไรอย่างนี้ จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ มันก็เลยเกิดแนวความคิดว่า ถ้าเรานำเรื่องราวแบบนี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ได้ มันก็น่าสนใจดี แล้วประกอบกับผมได้ผู้เขียนบทอย่าง “คุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” ซึ่งเคยเขียนเรื่อง 13 เกมสยอง, บอดี้ ศพ#19 มาเขียนบทให้ด้วย เราก็เลยมารีเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการแบบนี้ที่เรียกว่า “ฮิคิโคโมริ” ซึ่งเป็น อาการเกี่ยวกับเด็กที่เก็บตัวอยู่ในห้องไม่ยอมออกไปไหน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทางสังคมของญี่ปุ่นเขา รวมถึงผ่านการพูดคุยระดมไอเดียกันจนนำมามิกซ์รวมกันกลายเป็นเรื่องนี้ครับ หลังจากได้ไอเดียแรกมาแล้ว พี่เพื่อนเฉพาะเจาะจงตัวคนเขียนบทเป็นพี่เอกสิทธิ์คนเดียวเลยหรือเปล่า พูดถึงบทหนังตอนแรกเลยเนี่ย ตัวผมเองจะเขียนเอง แต่เขียนไปเขียนมาคือมันไม่แปลกไปจากตัวเองเท่าไหร่นัก คือเราก็ยังมีมุมของเราที่คิดว่า อยากจะหาอะไรที่มันฉีกกว่านี้ อยากหาคนเขียนบทที่มีไอเดียที่แปลกกว่านี้ ก็เลยนึกถึงคุณเอกสิทธิ์ เพราะว่าส่วนตัวเป็นคนชอบงานเขียนของเขาอยู่แล้วก็เลยลองทาบทามดูว่าสนใจมั้ยที่จะมาเขียนบทเรื่องนี้ ซึ่งเอกสิทธิ์ก็สนใจ พอเราเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ให้ฟัง เขาก็ไปทำการบ้านอะไรเยอะแยะ ซึ่งเราเห็นเลยว่า เขาเป็นคนที่มีจินตนาการล้ำคนหนึ่งของวงการเลยนะครับ พูดถึงอาการฮิคิโคโมริที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องแล้ว อยากให้ช่วยขยายความเกี่ยวกับโรคนี้ ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) เนี่ย มันเป็นสภาวะทางจิตของเด็กที่แพร่หลายในญี่ปุ่นคือ มันเกิดเหตุการณ์ว่าเด็กสมัยนี้ เด็กวัยรุ่น หรือเด็กกำลังเริ่มโตเนี่ยจะชอบเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เล่นเกมส์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูทีวีอยู่แต่ในห้องไม่ยอมออกไปไหน แบบแปลกแยกออกจากสังคมเลย ทำตัวออกห่างจากสังคมแล้วอยู่กันแต่ในห้องไม่พบหน้าผู้คน ซึ่งเป็นกันมากในสังคมเมืองของเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว หรือเมืองใหญ่อย่างเมืองนอกหรือหลายๆ ประเทศก็เริ่มเป็น ซึ่งประเทศไทยเองก็มี เพียงแต่ว่าไม่มีใครเอามาพูดถึงแค่นั้นเองนะครับ แล้วตัวเด็กเองเขาก็รู้สึกว่า เขาสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาได้อยู่ภายในห้องๆ เดียว ทุกอย่างจะอยู่ในนั้น กิน นอน ขับถ่าย อะไรต่างๆ อยู่ในห้องๆ เดียวนี่แหละ เขาก็จะไม่ออกไปไหนเลย ไม่พบหน้าผู้คน การสื่อสารจะผ่านแค่ทางอินเตอร์เน็ต จะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างเดียว และนานๆ ไปเมื่อเขาถูกตัดขาดจากสังคมโดยสิ้นเชิง เด็กเหล่านี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ในที่สุด ซึ่งมันเป็นโรคที่น่ากลัวนะ ถ้าจะว่าไปแล้ว ทางญี่ปุ่นเองเค้าก็พยายามที่จะทำให้เด็กออกจากห้อง ถึงกับมีสารคดี มีโฆษณารณรงค์ให้เด็กที่เก็บตัวอยู่ในห้องเนี่ยออกมา ซึ่งผมดูที่เค้าทำออกมาเนี่ย มันจะเป็นโฆษณาสั้นๆ แล้วเค้าก็เหมือนกับว่าส่งมาทางอินเตอร์เน็ตให้เด็กพวกนี้เห็นแล้วก็ชักชวนให้ออกมาเถอะ ออกมาจากห้องเถอะอะไรอย่างนี่ครับ ถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถ่ายทอดในหนังไทยเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ใช่มั้ยครับ ไม่มีใครเคยหยิบเรื่อง ฮิคิโคโมริ มาพูดในหนังไทยนะ แม้กระทั่งหนังฝรั่งก็ไม่ค่อยเห็น มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะใหม่นะครับ และก็ยังไม่มีใครหยิบประเด็นนี้มาพูดเท่าที่รีเสิร์ชดูนะครับ ก็หาข้อมูล คืออยากจะได้ข้อมูลว่ามันมีหนังเรื่องไหนบ้างมั้ยที่พูดถึงฮิคิโคโมริ แต่มันก็ไม่มี ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นลักษณะสารคดีเสียมากกว่า ผมว่านี่เป็นครั้งแรกสำหรับหนังไทยเลยนะครับ หนังเรื่อง “ฮู อาร์ ยู” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร คร่าวๆ นะครับ หนังเรื่อง “ฮู อาร์ ยู” ก็จะพูดถึงเด็กที่เก็บตัวอยู่ในห้อง พูดถึงแม่กับลูก เนื้อเรื่องหลักๆ มันก็คือแม่ลูก ความห่วงใยของแม่ที่มีลูกเป็นโรค ฮิคิโคโมริ เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง โดยที่ตัวแม่ไม่เคยเห็นหน้าลูกชายเลย 5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็น ได้แต่ส่งข้าวส่งน้ำ ส่งโน่นส่งนี่ผ่านทางช่องใต้ประตูบ้างอะไรบ้าง แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่าลูกตัวเองหน้าตาเปลี่ยนไปยังไง แล้วคนที่อยู่ในห้องนั้นน่ะจะแน่ใจได้ยังไงว่าใช่ลูกเขาจริงๆ หรือเปล่า นั่นคือความลึกลับเขย่าขวัญ และสิ่งที่เรื่องราวของหนังเรื่องนี้กำลังจะพูดถึง แต่ในลึกๆ กว่านั้นหนังมันได้เล่ารายละเอียดไปหลายรูปแบบ ตามสไตล์บทหนังของคุณเอกสิทธิ์ซึ่งจะมีหลายชั้นซ่อนอยู่ ซัพพล็อตเค้าจะเยอะ ก็คือรายละเอียดของเรื่องเค้าจะเยอะ มิติของตัวละครเค้าจะเยอะ มันก็สนุกตรงนี้แหละ ตรงที่ฉากหน้าฉากหลังของแม่ลูกคู่นี้คืออะไร และพฤติกรรมที่ทำให้พวกเค้าเป็นแบบนี้เกิดจากอะไร ต้องติดตามดู เล่าเยอะไม่ได้ครับ การคัดเลือกนักแสดงนำในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง แน่นอน ที่ต้องพูดถึงคนแรกเลยก็คือคนที่มารับเป็น “นิดา” แม่ค้าขายแผ่นหนังโป๊ ผมไม่มองใครเลยนอกจาก “นก สินจัย เปล่งพานิช” คนนี้มาแต่แรกเป็นเบอร์หนึ่งในใจเลยว่าต้องคนนี้แหละ ต้องทำให้เขาเล่นให้ได้ ไม่รู้ยังไงก็ต้องไปคุยกับเขาให้ได้ ก็เลยไม่มีตัวเลือกอื่นเลย ซึ่งโอเคเราเอาบทไปให้พี่นกเขาอ่าน แล้วก็ต้องผ่านการพูดคุยกันอีกทีซึ่ง กว่าเขาจะเล่นหนังแต่ละเรื่องเนี่ย นอกจากจะต้องเลือกบทเป็นปกติอยูแล้ว พี่นกก็ต้องการความชัดเจนว่าหนังพูดถึงอะไร หนังให้อะไรบ้าง และที่สำคัญคือแปลกใหม่ตรงไหน คือถ้าเกิดพี่นก สินจัย จะเล่นหนังสักเรื่องเขาคงอยากเล่นบทที่ท้าทายไม่เคยลองอยู่แล้วล่ะ คงไม่ใช่แบบอยากเล่นเพราะว่าโอเคมีคิวว่างอะไรอย่างนั้น ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุยกันในตอนหลัง พี่นกเขาก็บอกว่า บทมันท้าทาย บทที่แบบเป็นแม่ค้าบ้านๆ เขาก็ไม่เคยเล่น มีลูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่หนังจะสื่อออกมาด้วย หนังออกแนวลึกลับระทึกขวัญ เออ...มันน่าสนใจ แล้วเขาก็โอเค ยอมรับ และที่สำคัญคือความเป็นนก สินจัยที่ต้องยอมรับเลยว่า เป็นนักแสดงหญิงแถวหน้าฝีมือเยี่ยม เป็นอันดับต้นๆ ที่เล่นบทไหนก็สุดฝีมือ และบทนี้มันเป็นบทที่ต้องใช้อารมณ์เยอะด้วยนะครับ มันมีหลากหลายคาแร็คเตอร์ หลายอารมณ์ความรู้สึกที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเยอะ ซึ่งหาคนที่จะมาเล่นบทแบบนี้ได้ยากเหมือนกันนะครับ จากที่เราเคยเห็นพี่นก สินจัยในบทดราม่าบทชีวิตหนักๆ จนชินตา แต่มาในเรื่องนี้เขาจะเปลี่ยนเป็นแม่ค้าที่ดูเหมือนกับร่าเริงแจ่มใสชอบเล่นมุข หยอดมุขตลกกับลูกค้าตลอดเวลา เป็นแม่ค้าปากไว จู้จี้ขี้บ่น อารมณ์ร้ายอารมณ์เสีย ปากจัด มีคำพูดแบบด่าทอได้ง่ายๆ ช่างแต่งเนื้อแต่งตัว มีเสื้อผ้าหน้าผมที่ฉูดฉาดขึ้นอะไรอย่างนี้ รวมถึงอารมณ์ด้านลึกที่ต้องอาศัยความสามารถทางการแสดงของพี่นกเป็นหลักด้วยครับ การร่วมงานกับนักแสดงตัวแม่เป็นอย่างไรบ้าง โอ้โห ได้มากกว่าที่คาดไว้อีกครับ คือผมไม่ได้ห่วงเรื่องการแสดงของพี่นกอยู่แล้วครับ เพราะเชื่อมั่นว่าทำได้แน่ๆ แต่นี่เค้าให้เรามากกว่าอีก คือแรกๆ ผมอาจจะเกร็งไปเองว่า พี่นกเค้าจะยอมเล่นด่าคำหยาบๆ สัตว์เลื้อยคลานออกมาหรือเปล่า แต่มีอยู่ฉากหนึ่ง เค้าด่าออกมาเลยโดยแบบที่เราไม่ต้องบอก ก็เซอร์ไพร้ส์นะ คำว่าไอ้เ...ย ออกจากปากนก สินจัยเนี่ย (หัวเราะ) พอเล่นเสร็จพี่นกก็ถามว่า ได้มั้ยเนี่ยอะไรอย่างนี้ เราบอก โหยอย่างนี้อ่ะ ใช่เลยพี่ คือเราก็ไม่กล้าบอก เพราะกลัวเขาแบบรักษาภาพอะไรหรือเปล่า ใครจะไปบอกว่า พี่นก ไอ้เ...ย หน่อยสิอะไรอย่างนี้ กลัวเขาแบบไม่ติดปาก แต่ที่ไหนได้เขาแบบสุดๆ หรืออย่างขายหนังโป๊เนี่ย ตอนแรกเอาบทไปให้อ่านก็กลัวว่าพี่เค้าจะติดภาพว่า โอ้เป็นแม่ค้าขายหนังโป๊ ไอ้ความที่เราอยากให้พี่นกมาร่วมงานด้วย ก็คุยกับทีมงานว่า เฮ้ยถ้าเกิดว่าพี่เขาติดเรื่องหนังโป๊พี่เปลี่ยนก็ได้นะ พี่ขายหนังธรรมดาก็ได้นะ (หัวเราะ) แต่พอไปถึงถึงพี่เค้าบอกเลยว่า เฮ้ยจะเปลี่ยนทำไมเนี่ยดีแล้วหนังโป๊อยากลองขายหนังโป๊มานานแล้วอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) เออมันน่าสนใจดีนะ ยังไม่เคยเล่นมาก่อนเลย เราเองก็รู้สึกแฮปปี้กับพี่เขานะ เวลาทำงานพี่นกเป็นคนที่ไม่ถือว่าตัวเองว่าเป็นนักแสดงชื่อดังเลย เขาทำการบ้านมาอย่างดี พร้อมเข้าฉาก เสร็จเรียบร้อยก็มานั่งดูมอนิเตอร์ แล้วก็ถามเราว่าโอเคมั้ย เอาอย่างงี้ๆ อีกมั้ย เพิ่มตรงนี้มั้ย อะไรอย่างนี้ครับ พี่นกเป็นมืออาชีพแบบนั้นจริงๆ คือฟังความเห็นของคนอื่น เขาไม่ได้แบบว่า เออ...ฉันเก่ง สิ่งที่เขาให้คือเขาให้เราก่อน เขามีอะไรเขาให้เราก่อน เขาปล่อยออกมาก่อนแล้วถามเราว่า โอเคมั้ยแบบนี้อะไรอย่างงี้ครับ ซึ่งแฮปปี้ครับ มีความสุขมากที่ได้ร่วมงานกับพี่นกครับ นอกจากนี้แล้วยังมีนักแสดงคนอื่นที่เข้ามาเพิ่มสีสันด้วย หลายคนเลยครับ อย่างน้องตาล (กัญญา รัตนเพชร์) ที่เคยร่วมงานกันมาจาก “รับน้องสยองขวัญ” ในเรื่องนี้เค้าก็จะรับบทเป็น “ป่าน” เด็กสาวที่เป็นโรคภูมิแพ้อย่างรุนแรง ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง คือไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เลย ต้องเก็บตัวอยู่ในที่สะอาด รักษาตัวเองอยู่แต่ในห้อง ซึ่งวันๆ หนึ่งเขาก็ได้แต่นั่งมองไปที่หน้าต่างทุกวัน อยากออกไปแต่ออกไม่ได้ แล้วก็มองไอ้บ้านฝั่งตรงข้ามคือลูกพี่นกในเรื่องที่ขังตัวเองอยู่แต่ในห้องเพราะเป็นโรคฮิคิโคโมรินั่นแหละ มองจนรู้สึกว่าเอ๊ะ...ไอ้เด็กที่อยู่ในห้องฝั่งตรงข้ามมันก็เก็บตัวเหมือนกันนะ เออ...อยากคุยกับเขานะ แต่เป็นการคุยผ่านทาง สายตา ผ่านทางความรู้สึกนะครับ ซึ่งก็จะเป็นเหมือนตัวแทนคนดูที่ก็อยากรู้อยากเห็นเหมือนกันว่า ลูกพี่นกที่เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเนี่ยจะมีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง นี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ตาลเขาเล่นได้ดี เราอาจจะเห็นตาลในบทใสๆ ใน “รักแห่งสยาม” กุ๊กกิ๊กน่ารัก แต่พอมาเรื่องนี้เขาเล่นเป็นเด็กเก็บกดอะไรหลายๆ อย่างจนทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนลุคให้แปลกไปจากเดิมด้วยใช่มั้ย ครับ มันเป็นเรื่องของความใฝ่ฝันของตาลที่แบบว่า ถ้าเขาออกไปจากบ้านได้ เขาอยากเป็นตัวการ์ตูน อยากแต่งตัวเป็นพวกคอสเพลย์ คือเป็นเหมือนกับว่าจินตนาการของเขา เขาอยากโลดแล่นไปเหมือนการ์ตูนตัวหนึ่ง ซึ่งวันหนึ่งที่เขาตัดสินใจแล้ว เออ เขาไม่สนใจแล้วชีวิตนี้ เขาก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวเป็นคอสเพลย์ออกไปจากบ้าน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการปรับเปลี่ยนลุคของเขา แล้วในเรื่องนี้ตาลก็จะแบบเป็นเด็กไว้ผมสั้น ซึ่งเราอาจจะไม่เคยเห็นตาลในลุคไว้ผมสั้น ไม่แต่งหน้า บางทีเราอาจจะเห็นแบบเป็นผดผื่นเต็มหน้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งพอมาดูแบบนี้ ตาลอาจจะไม่ใช่สวยใสน่ารัก แต่เป็นตัวละครที่น่าติดตามค้นหามากกว่า มาพูดถึงตัวละครฝ่ายชายกันบ้าง เริ่มจาก “สตาร์บัคส์” (พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล-สาระแนห้าวเป้ง) นะครับ ในเรื่องมันจะมีตัวละครตัวหนึ่งชื่อ “โดม” นะครับ โดมเนี่ยที่จริงแล้วมันเป็นตัวแทนของคนที่อยากรู้อยากเห็นว่าไอ้ห้องๆ นี้ ลูกของนิดาเนี่ยคือใคร เป็นยังไง อยากรู้อยากเห็น อยากเอาเด็กคนนี้ออกมาจากห้องให้ได้ โดยที่ในเรื่องนี้โดมจะเป็นครีเอทีฟรายการทีวี แล้วเขาก็มีความรู้สึกว่าเออ...เรื่องนี้น่าสนใจ น่าจะเอามาออกรายการทีวี น่าจะเอาเด็กที่มันขังตัวเองเนี่ยมาออกรายการทีวี เขาก็เลยหาวิธีที่จะทำให้เด็กคนนี้ออกมาจากห้องให้ได้ ซึ่งตัวละครที่รับบทนี้เนี่ยต้องเป็นผู้ชายที่ลุคดูเป็นเหมือนครีเอทีฟ ซึ่งก็มองสตาร์บัคส์อยู่แล้ว เพราะแกก็เป็นครีเอทีฟรายการ ด้วยความรู้สึกว่าอยากได้คนที่เขาไม่เครียด เขาเป็นคนที่มีมุขตลก มีอะไรตลอดเวลา เวลาพูดมันจะมีมุขสอดแทรกตลอด เป็นคนที่การแสดงดูเป็นธรรมชาติ เราก็มองว่าสตาร์บัคส์นี่แหละที่เหมาะกับทนี้ ตัวละครสำคัญอีกคนคือพี่บี๋ ธีรพงศ์ เป็นยังไงบ้างกับนักแสดงมาดเข้มคนนี้ พี่บี๋ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) ในเรื่องเนี่ย เล่นเป็นสามีของพี่นก สินจัย คือคาแร็คเตอร์นี้ต้องดูแมนๆ แล้วก็มีเสน่ห์ มีความเจ้าชู้ ที่สำคัญในขณะเดียวกันคือดูรักลูก ห่วงใยลูกนะครับ ซึ่งในกลุ่มนักแสดงรุ่นอายุประมาณ 40 กลางๆ เนี่ยจริงๆ ก็มีตัวเลือกเยอะเหมือนกัน แต่พี่บี๋เนี่ยนอกจากคาแร็คเตอร์จะตรงแล้ว เราก็ไม่ได้เห็นเขาในจอหนังมานานแล้วเหมือนกัน ส่วนใหญ่เราจะรู้แต่ว่า เออ...เขาเป็นช่างภาพนะ เป็นช่างภาพฝีมืออันดับต้นๆ แต่ว่าอีกมุมหนี่งเขาก็เป็นนักแสดงฝีมือดีคนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้พอได้คุยกันแล้ว เราก็รู้สึกว่าเออ...พี่บี๋เนี่ยตรงคาแร็คเตอร์มากอย่างแบบว่าคาดไม่ถึงเลย เหมือนบทถูกเขียนขึ้นมาให้เขาแสดงเลย เราต้องการคนประมาณนี้ แล้วมันก็ค่อนข้างตรง เป็นผู้ชายที่ลุยๆ ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ ชอบเกี่ยวกับการท่องป่า ถ่ายรูปอะไรอย่างนี้ ซึ่งพอได้คุยกันพี่เขาก็บอกว่า เฮ้ย ไอ้พร็อบ (อุปกรณ์ประกอบฉาก) อันนี้ ไอ้ปืนไรเฟิล ไอ้เสื้อผ้าแบบนี้ ไอ้กล้องอันนี้ๆ ไม่ต้องหาเลย เขามีเก็บอยู่แล้ว เขาบอก เออ...เนี่ยพี่ก็ชอบไปอะไรอย่างนี้ คือมันตรงกับตัวเขานะ เขาก็สนุกครับ การทำงานหรือว่าการแสดงของพี่บี๋ในเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง พี่บี๋ในเรื่องนี้นะครับ จะต้องเล่นเข้าคู่กับพี่นก สินจัยเป็นหลักเลย ส่วนใหญ่มันจะเป็นซีนอารมณ์ มีทั้งทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พอใจ ไม่เข้าใจกันจนถึงขั้นรุนแรง ทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งพี่บี๋เนี่ยเวลาเล่นเนี่ย ผมว่าแกเป็นคนร้ายลึกนะ เล่นบทร้ายลึกโดยไม่ต้องพูดเยอะ แต่เป็นคนจริง แค่มองปราดเดียวความรู้สึกก็ผ่านทางสายตาได้แล้ว การแสดงออกของเขามันเข้มข้นจนน่าเชื่อถือ คือเราต้องการคนที่เล่นอะไรด้วยสายตา ต้องการคนที่เล่นด้วยความนิ่ง นิ่งสยบเคลื่อนไหว พูดง่ายๆ คือต้องการคนที่เวลาอยู่นิ่งๆ แล้วมันดูมีมีพลังอะไรอย่างนี้ครับ ซึ่งการแสดงของพี่บี๋ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ เข้าฉากคู่กับพี่นกได้อย่างถึงอารมณ์มากครับ เรื่อง “ฮู อาร์ ยู” ถือเป็นการพลิกแนวการกำกับหรือการทำงานจากเรื่องก่อนๆ ยังไงบ้าง ถ้าพูดถึงการพลิกแนวนะครับ เรื่องนี้มันก็จะเป็นหนังที่ลึกลับขึ้น ระทึกขวัญมากขึ้น มันได้ร่วมงานกับนักแสดงที่เป็นรุ่นใหญ่ที่เก่งทางด้านการแสดงเยอะ ซึ่งเรื่องก่อนๆ เนี่ยส่วนใหญ่จะมีเด็กใหม่ทั้งนั้น แต่เรื่องนี้สังเกตได้ว่าจะเป็นนักแสดงมืออาชีพ จะเป็นนักแสดงระดับต้นๆ ของเมืองไทยอะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ดีครับเพราะว่ามันเหมือนได้เติมเราให้เต็มขึ้นนะครับ ก่อนหน้านี้เราอาจจะต้องเป็นฝ่ายซับพอร์ตดาราหน้าใหม่ๆ แต่พอมาทำเรื่องนี้มันมีนักแสดงมืออาชีพรุ่นใหญ่มาช่วยซับพอร์ตเรา เขามีอะไรมาช่วยเราให้ดีขึ้นอีก มันเป็นการทำงานที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย มันไม่ใช่ผู้กำกับเป็นที่หนึ่งทุกอย่าง คือช่วยกันคิดทำมันขึ้นมา ก็คือเขียนบทก็มาจากเอกสิทธิ์ นักแสดงก็เป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์สูง ตากล้องผู้กำกับภาพก็เป็นผู้กำกับหนังก็คือ “จิ๊บ-ทิวา เมยไธสง” ที่กำกับ “เชือดก่อนชิม” แล้วก็มาเจอผม เรามาช่วยกันทำงาน เอาความคิดของทั้งหมดมารวมกันแล้วโยนลงไปตรงกลางแล้วหาสิ่งที่ดีที่สุดครับ ได้ผู้กำกับภาพมือวางอันดับต้นๆ ของวงการหนังไทยมาถ่ายภาพให้ เป็นยังไงบ้าง ผู้กำกับภาพเรื่องนี้ผมสเป๊กมาเลยว่า เออ...อยากได้จิ๊บ (ทิวา เมยไธสง) มากำกับภาพ เขาเป็นผู้กำกับภาพที่มีความโดดเด่น ภาพของจิ๊บมันจะมีคาแร็คเตอร์ของตัวเอง จะสังเกตว่าจิ๊บมีลายมือทางด้านการถ่ายภาพมาก คือเขาบอกว่าเวลาจิ๊บถ่ายจะต้องเซ็ตให้ได้ฟูลสเกล ก็คือเขาจะเป็นคนที่ชอบใช้เลนส์วายด์ แล้วเขาก็เป็นผู้กำกับภาพที่ใช้เลนส์วายด์ได้สวย แต่มันก็จะหนักหนาสากรรจ์กับฝ่ายที่เซ็ตฉาก คือคุณไม่สามารถเซ็ตแค่มุมเดียวได้ คุณต้องเซ็ตเต็มที่ สมมติว่าถ่ายห้องๆ หนึ่งเนี่ย หรือถ่ายบ้านหลังหนึ่งเนี่ย มันเห็นทั้งบ้านเลย เห็นหมดเกลี้ยง 360 องศา คุณต้องเซ็ตเต็มหมด แต่มันก็จะได้ภาพที่สวยงามนะครับ แล้วจิ๊บเป็นผู้กำกับภาพที่ทำหนังสยองขวัญมาแล้ว ภาพของเขาจะทำให้เรารู้สึกกลัวได้อ่ะ เขาจะเป็นคนที่ถ่ายภาพแล้วมันดูน่ากลัว ดูลึกลับ เหมาะกับหนังที่ลึกลับ ก็เลยเลือกจิ๊บให้มาช่วยหน่อยแล้วกันในฐานะที่เป็นผู้กำกับด้วยกัน บางทีเราเองก็ยังรู้สึกว่าเขาเป็นผู้กำกับ แต่เขาก็ฟังเรานะ พี่โอเคหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ หรือเวลาเขามีมุมมองทางด้านการกำกับ เขาก็จะมาบอกเราว่า พี่ถ้าตรงนี้ใส่อย่างนี้หน่อยก็จะโอเค มันก็เป็นการช่วยกันนะครับ แล้วมีปัญหาหรือว่าอุปสรรคในการถ่ายทำบ้างมั้ย ปัญหาเนี่ยโดยรวมแล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเยอะ นอกจากมันมีบางซีนที่ต้องถ่ายในสถานที่จริงๆ ในตลาดนัดจริงๆ ในโลเกชั่นที่มันค่อนข้างเป็นโลเกชั่นเปิด ควบคุมอะไรไม่ค่อยได้ แล้วเราได้ดาราแม่เหล็กอย่างนก สินจัยไปเดินตลาด คนก็จะมุงกันแบบ โอ้โห ขอถ่ายรูปกันอะไรอย่างนั้น นั่นก็คือปัญหาหนึ่งที่เราเจอ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของโลเกชั่นจริง เราต้องการสร้างภาพสังคมเมืองจริงๆ อย่างเช่น ทาวน์เฮาส์ สังคมของทาวน์เฮาส์เป็นสังคมของกรุงเทพ คนกรุงเทพส่วนใหญ่บ้านก็จะเป็นทาวน์เฮาส์เรียงติดๆ กัน เราก็ต้องไปหาทาวน์เฮาส์ที่เราสามารถถ่ายได้ทั้งซอย เราก็เหมือนไปปิดซอยเขา เขาทำมาหากินกันอยู่มีรถเข้าออกกันอยู่ เราก็ต้องเข้าไปปิดซอยเขาซะงั้น แต่มันก็ได้ภาพที่จริงนะครับ เราอาจจะเคยดูหนังอย่างหนังญี่ปุ่นที่แบบ ”โตเกียวทาวเวอร์” ที่แบบเป็นเมืองเป็นตรอกซอกซอยอย่างนั้นนะ เราอยากได้ภาพแบบนั้นนะ ภาพแบบว่าในซอยนั้นมีผู้คนหลากหลาย อาแปะร้านขายของชำ ไอ้ตรงนี้ขายข้าวแกง ไอ้ตรงนี้ขี้บ่น ล้างรถ มีแท็กซี่ มีนู่นมีนี่อะไรอย่างนี้ มันดูแล้วมันได้ความเชื่อว่า อ๋อ...เนี่ยมันเกิดขึ้นจริงนะในสังคมเมือง ในซอกหลืบของกรุงเทพจริงๆ นะ ซึ่งเราก็ต้องไปหาซอยๆ นี้แล้วก็ปิดซอยเขา แต่เขาก็ให้ความร่วมมือนะครับ แต่บางทีเราถ่ายถึงดึกๆ ก็แบบเออ...มีมองกันบ้างว่า เมื่อไหร่มันจะเลิกกันซะที ฉันจะหลับจะนอนอะไรอย่างนี้ครับ มีฉากไหนบ้างครับที่รู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ถ้าประทับใจนะครับก็คือจะมีซีนที่เป็นพี่นกขายวีดีโอโป๊ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า เออ จริงว่ะ เขาเล่นได้แบบเหมือนจริงมาก แล้วแบบมีมุมขำมุมตลก เราไม่ค่อยเห็นนก สินจัยเล่นมุมตลกซะเท่าไหร่ มาดูเวลาแกเล่นเรื่องนี้ในมุมของแม่ค้าขายดีวีดี ซึ่งต้องมีมุขมีอะไรหยอดเล่นตลอดเวลา ซึ่งแกเล่นได้ดี ยังคิดเลยว่า เออ...นก สินจัย น่าจะเล่นหนังตลกนะ ถ้าไปอยู่ใน “แหยมฯ” ก็น่าจะขำนะอะไรอย่างนี้ คือเขาเล่นแล้วเรารู้สึกว่า เออ...นก สินจัย เล่นขำได้ด้วย มีมุขด้วยอะไรอย่างนี้ แล้วฉากยากสุดๆ เนี่ยมีฉากไหนบ้าง ฉากยากๆ ส่วนใหญ่เป็นซีนอารมณ์หนักๆ ซึ่งเป็นการปะทะอารมณ์ของพี่บี๋กับพี่นกอย่างที่บอกไป ซึ่งมันอาจจะต้องเตรียมการเยอะ เขาอาจจะต้องเจ็บตัวจริงๆอะไรอย่างงี้นะครับ มันมีการลงไม้ลงมือกัน ซึ่งพี่นกก็โดนไปซะหลายแผล มันมีฉากแบบว่าผัวเมียทะเลาะกัน แล้วเราก็ต้องการภาพผัวเมียทะเลาะกันจริงๆ ถึงขั้นลงไม้ลงมือ ถึงขั้นแบบยั้งอารมณ์ไม่อยู่ ถึงขั้นแบบว่าเหวี่ยงไปชนกำแพงเตะซ้ำอะไรอย่างนี้ ซึ่งพี่นก สินจัยเขาเล่นจริง เขายอมที่จะแบบโดนเหวี่ยง ผมดูในมอนิเตอร์ผมเห็นตัวเขาถูกเหวี่ยงไปกระแทกกำแพง กระเด้งตัวมาแล้วโดนเตะซ้ำอีก ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นมาโอ้โหเขียวเป็นจ้ำมาโชว์เลย บอกเนี่ยเมื่อคืนนี้เป็นอย่างนี้เต็มเลย (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าเออ...เป็นซีนที่หินสำหรับเรานะ เพราะว่าเอานักแสดงรุ่นนี้มาทำร้าย ทำให้เขาเจ็บตัว ฉากหลอนๆ ในเรื่องเป็นยังไง ก็มีครับ มันเป็นหนังหลอนๆ แบบไม่ใช่ผีออกมาแบบผีตัวเป็นๆ ออกมาหลอกหน้ากล้องอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่หนังแนวนั้น แต่มันเป็นหนังแบบบรรยากาศหลอน หลอกหลอนเราตลอดเวลา อย่างผมชอบดูหนังแบบประเภทแบบไอ้มุมมืดตรงนู้นมันมีอะไรแวบๆ คือชอบดูหนังแบบสร้างความหวาดระแวงให้กับเรา ให้กับคนดูได้ตลอดเวลา และเล่นสนุกกับความตกใจ ชอบดูหนังอารมณ์นี้มากกว่าที่จะเห็นผีตัวเป็นๆ ออกมาเต็มจออะไรอย่างนี้ ซึ่งเรื่องนี้ผมใช้สูตรอย่างนี้สำหรับหนัง ก็คือจะไม่ใช่แบบว่า เดาได้แล้วเดี๋ยวผีออกมาแน่นอน กล้องเข้าใกล้แล้วช้าๆ เห็นกระจก ผีอยู่ในกระจกแน่อะไรอย่างนี้ ไม่มีแบบนั้น แต่เราจะดีไซน์ว่า อันนี้จะมีเสียงแบบนี้ อย่างเราได้ช่างภาพถนัดแนวนี้ มันรู้สึกว่าภาพมันน่าติดตาม มันชวนค้นหา มันดูลึกลับ เราจะได้บรรยากาศแบบนี้ในหนังครับ ภาพรวมของ “ฮู อาร์ ยู” มันเป็นยังไง ต้องการสื่ออะไรผ่านหนังเรื่องนี้ ก็คือ “ฮู อาร์ ยู” มันพูดถึงการรู้หน้าไม่รู้ใจนะครับ บางทีคนๆ นี้ หรือแม้กระทั่งบ้านเดี๋ยวนี้คนที่อยู่บ้านใกล้กันบ้านติดกันยังไม่รู้เลยว่า ในบ้านนั้นมีอะไร เขาเป็นยังไง ไอ้ความที่มันเป็นสังคมเมืองเนี่ยมันทำให้รู้สึกว่าเราไว้ใจใครไม่ค่อยได้ เราจะรู้มั้ยว่าคนที่เรารู้จักจริงๆ แล้วเบื้องหลังเขาคืออะไร ใช่มั้ยครับ แม้กระทั่งตัวเราเองเรายังไม่รู้จักตัวเราเองเลยว่า ก่อนหน้านี้เราเป็นยังไง บางทีเรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว เราอาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้ คือพูดถึงสังคมเมืองทุกวันนี้เราไม่รู้หรอกว่าคนนี้มาดีมาร้าย คนนี้เป็นยังไง คนนั้นเป็นยังไงใช่มั้ยครับ แม้กระทั่งคนในครอบครัว แม้กระทั่งตัวเองคุณเองยังเชื่อตัวเองไม่ได้เลยว่า สิ่งที่คุณทำไปมันเป็นความต้องการของคุณเองจริงๆ หรือเปล่า ความคาดหวังในการทำงานครั้งนี้เป็นยังไงบ้าง หนังเรื่องนี้ก็คาดหวังว่า มันน่าจะเป็นหนังที่ทำให้คนดูสนุกกับมันและได้ข้อคิด ที่สำคัญเลยคือ มันได้สะท้อนสังคม สะท้อนวิถีของคนปัจจุบันที่มีปัญหาครอบครัว ปัญหาครอบครัวมันอาจจะไม่ได้เกิดจากลูกติดยา พ่อไปมีเมียน้อย มันมีปัญหาอะไรอีกเยอะอีกแยะที่แบบเหนือความคาดหมายของเรา ซึ่งหนังก็ได้สะท้อนเรื่องนี้ออกมา ก็คาดหวังว่า มันเป็นตัวกระตุ้นให้เรารู้สึกว่า ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตยังไง เรารู้จักตัวเองกันมั้ย แล้วเราควรจะดำเนินชีวิตแบบไหนอะไรอย่างนี้ครับ อย่างเรื่องปัญหาเรื่องลูกเก็บตัวขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง มันเหมือนจะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่จริงๆ มันใหญ่มากนะครับ บางทีการที่ครอบครัวมีการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่มันอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามขึ้นมา ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ได้บอกแง่มุมอะไรเหล่านี้เอาไว้เยอะเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือความสนุก เพราะว่าคนดูหนังอยากเห็นความสนุก อยากเข้าไปแล้วรู้สึกตื่นเต้นกับมันอยากได้ลุ้นกับมัน หนังเรื่องนี้ให้เต็มที่เลยครับ สุดท้ายเสน่ห์หรือความน่าสนใจโดยรวมของหนังอยู่ที่จุดไหนบ้าง ผมว่าหนังเรื่องนี้ความน่าสนใจอยู่ที่พล็อตเรื่องนะ มันเป็นหนังที่มีพล็อตแปลกประหลาด การเล่าเรื่องที่แปลกประหลาด เราได้คนเขียนบทที่ค่อนข้างเขียนบทเกี่ยวกับเรื่องลึกลับ การหักมุม เอกสิทธิ์เป็นคนเขียนบทที่โดดเด่นทางด้านนี้ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องนี้คือเรื่องราวมันน่าสนใจ แล้วที่สำคัญคือเราได้นักแสดงที่ถือว่าเป็นตัวแม่ของวงการหนังไทยเลยก็คือ “พี่นก สินจัย” มาดูการแสดงของเขาในอีกบทบาทหนึ่ง คุณอาจจะเคยเห็นแต่ภาพของแม่ที่อมทุกข์ หรืออะไรก็ตาม แต่ในเรื่องนี้นี่คุณจะได้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของแกเลยครับ รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆ ก็ให้การแสดงที่น่าสนใจไว้เช่นกัน ซึ่งโดยรวมๆ แล้ว ผมว่าเรื่องนี้จะเป็นของใหม่สำหรับวงการหนังไทยเหมือนกันนะครับ ก็อยากให้คนดูหนังแฟนหนังไทยได้มาดูหนังเรื่อง “ฮู อาร์ ยู” คุณอาจจะชื่นชอบนักแสดง ก็อยากให้มาดูพี่นกในบทบาทที่แปลกออกไป และก็ยังตอบโจทย์ได้สำหรับคนที่ชอบหนังที่เป็นแนวลึกลับ เป็นหนังแนวที่ดูแล้วได้อารมณ์ลุ้น อารมณ์หลอน แล้วก็ได้แง่คิดกลับไป เรื่องนี้ก็จะมีให้แน่ๆ ครับ
แท็ก ภาพยนตร์   WHO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ