เมืองต่างๆ จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงยิ่งขึ้น

ข่าวเทคโนโลยี Friday January 15, 2010 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เมืองต่างๆ จะยังคงเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ติดต่อถึงกันได้ แต่ในอนาคต เมื่อโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ แสดงสัญญาณการระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะสามารถป้องกันไม่ให้โรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคระบาดอื่น ๆ มีโอกาสแพร่เข้าสู่โรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือระบบขนส่งสาธารณะได้ ปัจจุบัน กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศกำหนดให้การรายงานเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มีความสำคัญ ๆ กับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การรายงานเรื่องโรคระบาดที่ทำกันส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักทำโดยผ่านโทรสาร ตารางสเปรดชีต หรือโทรศัพท์ ขณะที่ระบบสาธารณสุขต้องการข้อมูลที่เกือบเรียลไทม์เพื่อตอบสนองต่อการเกิดโรคติดต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้วิธีรายงานข้อมูลในปัจจุบันยังถือว่าเชื่องช้าและขาดประสิทธิภาพมาก และในหลายๆ กรณีแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเลยก็ว่าได้ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เมืองต่างๆ ติดตามและต่อสู้กับโรคร้ายได้ดียิ่งขึ้น ในอนาคต เจ้าหน้าที่ของเมืองต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในการตรวจหาโรคระบาดที่เกิดขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ H1N1 เพื่อวางแผนเตรียมพร้อมการปฏิบัติงานในหลาย ๆ ด้าน โดยเทคโนโลยีจะช่วยให้รัฐบาล โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ หาแนวโน้มและรูปแบบของการระบาด เพื่อรองรับการตัดสินใจว่าบริเวณที่อยู่อาศัยแต่ละจุดจะมีแนวโน้มการติดเชื้อสูงสุด ณ เวลาใด และนำเอา “ข้อมูลเชิงลึกทางการแพทย์” นั้นไปใช้ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่จะสามารถวางแผนว่าต้องใช้แพทย์กี่คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และจำเป็นต้องสำรองยาไว้มากน้อยแค่ไหน หรือต้องจัดเตรียมบุคลากรและเครื่องมือมากน้อยเพียงใดสำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเข้าขั้นวิกฤต เป็นต้น การถือกำเนิด “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ” ปัจจุบัน ถึงแม้จะมีเครื่องมือในการตรวจสอบติดตามโรคติดต่อ แต่เรากำลังจะได้เห็น “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ” เกิดขึ้น โดยข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จะเชื่อมโยงประสานกันระหว่างโรงพยาบาล องค์กรเวชภัณฑ์ บริษัทที่มีการใช้แรงงาน ชุมชน และหน่วยงานราชการ เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ และช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ศักยภาพและความสามารถด้านการวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับนโยบายการปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลเฉพาะของผู้ป่วย เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ระบบที่ว่านี้จะสามารถคาดการณ์วิธีการระบาดของโรค ระดับของการดูแลรักษาที่จำเป็น และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต “การสร้างแบบจำลอง” ของโรคเพื่อขจัดการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับระบบการบอกพิกัดหรือระบบ GPS ในปัจจุบัน ที่ช่วยให้คุณค้นหาโรงภาพยนตร์หรือร้านหนังสือที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ ในอนาคตอันใกล้ “โปรแกรมสร้างแบบจำลอง” ของโรคติดต่อจะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนกลางจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ แผนที่เส้นทาง ที่ตั้งสนามบิน รูปแบบการเดินทาง หรือแม้กระทั่งเส้นทางการอพยพของนก เพื่อคาดการณ์การระบาดของโรคติดต่อในมนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่โรคที่เกิดจากอาหาร หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในเรื่องดังกล่าว คือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันทรงพลังเพื่อทำให้การวิเคราะห์นี้สามารถคาดการณ์ว่าโรคจะระบาดอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ หรือการระบาดจะเชื่อมโยงกับการระบาดใดในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งช่วยให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าประชากรกลุ่มใดจะมีความเสี่ยงมากที่สุด นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังจะสามารถทราบล่วงหน้าได้อีกว่า วิธีการที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ในช่วงระยะเวลาเท่าใด ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวนี้เอง ยังช่วยให้บริษัทยาสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการยาและวัคซีนในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย ข้อมูลวิเคราะห์ดังกล่าว ช่วยให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสาธารณสุขสามารถสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อกำหนดมาตรการสำหรับรับมือกับโรคระบาด ช่วยวิเคราะห์หาวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะที่ใช้กับกลุ่มคนในวัยต่างๆ ดูแนวโน้มว่าควรจะปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ หรือว่าเราควรจะควบคุมการเข้าออกของประชากรในช่วงเวลาใดภายในเมือง นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้แผนที่ดิจิตอลเพื่อติดตามโรคที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ไม่เปิดเผยชื่อที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย ในปัจจุบัน มีความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน ผ่านโครงการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ กลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ? ไอบีเอ็มร่วมมือกับโครงการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลก (Global Health and Security Initiative) ของ Nuclear Threat Initiative (NTI) และกลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ (Middle East Consortium on Infectious Disease Surveillance - MECIDS) พัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ และทำให้การวิเคราะห์การระบาดของโรคติดต่อทำได้ผ่านระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การควบคุมโรคสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ? ระบบพอร์ทัลบนเว็บ Public Health Information Affinity Domain (PHIAD) ที่มีความปลอดภัยได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในตะวันออกกลางเป็นแห่งแรก และขณะนี้องค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมงานในโครงการดังกล่าวพกำลังผลักดันให้มีการนำระบบนี้ไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากล ? เทคโนโลยีช่วยจัดหาเครื่องมือที่ช่วยรองรับการตัดสินใจอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้องค์กรสาธารณสุขสามารถรับมือการระบาดของโรคติดเชื้ออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์หรือระหว่างประเทศก็ตาม ล่าสุด ระบบ PHIAD จะใช้ข้อมูลที่เกือบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศทำได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของคนไข้ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาเดียวกัน ? ด้วยระบบ PHIAD นี้เอง นักวิจัยของไอบีเอ็มในศูนย์วิจัยที่อัลมาเดนและไฮฟา จะลดงานที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน โดยการสร้างแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถให้ความสำคัญกับงานสำคัญๆ เช่น การตรวจหาแนวโน้มทางด้านสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้น การระบุแนวโน้มการระบาดของโรคติดต่อ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน เป็นต้น ? มาตรการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลกของ NTI จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในตะวันออกกลาง รวมถึงอิสราเอล จอร์แดน และปาเลสไตน์ การร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้เกิดขึ้นและดำเนินอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดังกล่าวเมื่อมีการตรวจพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในอดีตเป็นครั้งแรก MECIDS ช่วยให้การสื่อสารและการประสานงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้ว ความร่วมมือในด้านดังกล่าวยังคงดำเนินและขยายตัวต่อไป ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในบริเวณดังกล่าว MECIDS มีส่วนร่วมในการพัฒนา PHIAD และจะเป็นผู้ปรับใช้เทคโนโลยีนี้เป็นกลุ่มแรก ? การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบมาตรฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย ซึ่งผสานรวมกับการรายงานด้านสาธารณสุขเข้ากับการสร้างบันทึกข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล จะทำให้สมาชิกสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเพื่อติดตามตรวจสอบและตอบสนองต่อแนวโน้มการระบาด นอกจากนั้น ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะถูกป้อนเข้าสู่ Spatio Temporal Epidemiological Modeler ซึ่งเป็นระบบการสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคที่ไอบีเอ็มได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถกำหนดกลยุทธ์การป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างแบบจำลองสำหรับการคาดการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University Health System) ? ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีภาวะขาดแคลนวัคซีน H1N1 เกิดขึ้น การค้นหาว่าคนกลุ่มใดต้องการวัคซีนมากที่สุด แม้แต่ภายในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนี้เอง ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาดุ๊คได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ของไอบีเอ็มเพื่อคัดกรองเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วย 20 ล้านคน และคัดเลือกผู้ป่วยโดยอ้างอิงจากประวัติการรักษาพยาบาลและการเจ็บป่วยเรื้อรัง และค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก หรือสตรีมีครรภ์ ให้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ? การใช้อีเมลที่รวบรวมในพอร์ทัลผู้ป่วยของมหาวิทยาลัยดุ๊ค ทำให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถแจ้งเตือนผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อวัคซีน H1N1 มีความพร้อมต่อการใช้งาน ? เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดตามฤดูกาล มหาวิทยาลัยดุ๊คได้ใช้พอร์ทัลผู้ป่วยในการติดต่อกับผู้ป่วยกว่า 250,000 คนด้วยอีเมลที่จัดทำขึ้นเฉพาะบุคคล เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัด เช่น การให้ข้อมูลในการพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นไข้หวัดหรือไม่ หรือการเผยแพร่ข้อพึงปฏิบัติในการรับมือกับไข้หวัด และการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับไข้หวัดอื่น ๆ เป็นต้น ? ช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยดุ๊คยังใช้พอร์ทัลดังกล่าวเพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนการนัดหมายถึงผู้ป่วยกว่า 2.5 ล้านครั้ง ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มาพบแพทย์ตามนัด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก การรับส่งข้อความช่วยชีวิตผู้คนจากการระบาดของโรคมาเลเรียในแอฟริกา ? แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคมาเลเรียมากกว่า 1 ล้านคนในแอฟริกา ขณะที่ภาครัฐและองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ ใช้จ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายยาต้านมาเลเรียที่มีประสิทธิภาพให้แก่ศูนย์สาธารณสุขท้องถิ่น แต่บ่อยครั้งความพยายามเหล่านี้ล้มเหลว มีผลทำให้สตรีมีครรภ์และเด็กเล็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจในแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเสียชีวิตจากโรคมาเลเรียมากที่สุดในโลก ? ปัจจุบัน การรับส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังช่วยชีวิตผู้คนจากการระบาดของโรคมาเลเรียผ่านโครงการใหม่ที่ชื่อว่า “SMS เพื่อชีวิต” (SMS for Life) ที่ริเริ่มโดยไอบีเอ็ม, โนวาร์ทิส และโวดาโฟน ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานกลุ่มความร่วมมือ Roll Back Malaria Partnership โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากการผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ การรับส่งข้อความ และเว็บไซต์ ในการติดตามและจัดการเกี่ยวกับการจัดหายาต้านมาเลเรีย เพื่อปรับปรุงการบริหารสต็อกยาเพื่อรักษาชีวิต โดยโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งข้อความ SMS และการจัดทำแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ถูกนำมาใช้เพื่อจัดส่ง ติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับ และจัดการกับระบบซัพพลายของยาในเขตตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ? เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานในหมู่บ้าน 135 แห่งในแทนซาเนีย ได้รับข้อความ SMS ที่แจ้งเตือนให้ตรวจสอบสต็อกยาต้านมาเลเรียที่เหลืออยู่ในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้หมายเลขโทรฟรีส่งข้อความตอบกลับเกี่ยวกับสต็อกยาปัจจุบันผ่าน SMS และจะมีการจัดส่งยาให้ ก่อนที่ยาในศูนย์สาธารณสุขท้องถิ่นจะหมด ผลปรากฏว่าระหว่างช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของโครงการนี้ จำนวนคลินิกสุขภาพที่ขาดแคลนยาลดลงถึง 75%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ