ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ “ธ. เกียรตินาคิน” ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2010 14:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่เป็นที่ยอมรับ ความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ การขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อย และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสถานะการเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่มีจำนวนสาขาน้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดระดมเงินฝากภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกันเงินฝากฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และหลักทรัพย์อาจจำกัดความสามารถในการขยายธุรกิจและการทำกำไรของธนาคารในอนาคต ซึ่งลักษณะของธนาคารขนาดเล็กที่มีโครงสร้างหลักทรัพย์และเงินฝากที่ไม่ค่อยกระจายตัวจะเป็นอุปสรรคที่จำกัดการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจและการทำกำไรในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารที่จะควบคุมคุณภาพสินเชื่อและดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่ผันผวนในอนาคต อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยและความเสี่ยงที่เกิดจากฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่ไม่แน่นอนอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ประกันเงินฝาก ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารเกียรตินาคินจัดอยู่ในธนาคารพาณิชย์ลำดับที่ 11 เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 1.5% และเงินฝาก 1.3% ธุรกิจหลักของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจการบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องและสินทรัพย์รอการขาย ธนาคารสามารถบริหารธุรกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีด้วยความชำนาญภายใต้คุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ เนื่องจากการมีนโยบายให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ธนาคารจึงได้กำหนดแนวทางการอนุมัติสินเชื่อและเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เข้มงวด เป็นผลให้สินเชื่อของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เติบโตเพียง 4.6% จากมูลค่า 80,812 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 เป็น 84,594 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 68% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 23% ที่เหลือ 9% เป็นสินเชื่อประเภทอื่น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่มีการเติบโต โดยมีมูลค่าเท่ากับ 57,549 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 57,139 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 11.5% จาก 17,343 ล้านบาทเป็น 19,349 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ตัดหนี้สูญในระหว่างปี 2549 จนถึงเดือนกันยายน 2552 เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจึงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้น (ชั้นปกติ ชั้นสงสัย และชั้นสงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมลดลงอย่างมากจากระดับ 14.5% ในปี 2549 เป็น 12.3% ในปี 2550 8.7% ในปี 2551 และ 7.0% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อัตราส่วนดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 7.1% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่งเล็กน้อย คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้รับผลกระทบจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วน 21% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน และยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 10.9% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งดีกว่าระดับ 11.9% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง ธนาคารมีสัดส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่ากับ 131% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 156% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 การมีนโยบายปล่อยสินเชื่อแก่ กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ทำให้ธนาคารต้องดำรงเงินกองทุนและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 0.66 เท่า ซึ่งดีกว่าระดับเฉลี่ยที่ 0.79 เท่าของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารเกียรตินาคินสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นและคงระดับผลตอบแทนจำนวนมากจากสินทรัพย์ในธุรกิจหลักของธนาคารในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ด้วย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิเท่ากับ 1,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% จาก 1,532 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมลดลงเล็กน้อยเป็น 34% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 จาก 35% ในช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 44% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยเป็น 1.45% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 จาก 1.58% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ในขณะที่ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 9.92% จาก 9.08% ในด้านการระดมทุนนั้น กลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนบัญชีรายย่อยด้วยฐานเงินฝากต่อบัญชีที่มีจำนวนน้อยลงส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ของเงินฝากทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 จาก 0.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยสะท้อนจากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.64% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากธนาคารเน้นสินเชื่อความเสี่ยงสูงที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย การดำรงเงินกองทุนและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้รองรับความเสียหายที่คาดไม่ถึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ