8 ภาคีองค์กรเครือข่ายร่วมสนับสนุน “มุมนมแม่” สืบสานพระปณิธาน...สังคมการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่”

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2010 13:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นรากฐานของชีวิตเด็ก อันจะนำไปสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อพัฒนาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นอนาคตของประเทศ โดยองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และควรให้ลูกได้รับนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึง 2 ปี โดยศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยผลการสำรวจสถานะสุขภาพเด็กไทย ในเดือนธันวาคม 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ขององค์การ UNICEF พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 3 เดือนแรกมีเพียงร้อยละ 7.6 และลดลงเหลือร้อยละ 5.4 ในเด็กอายุ 0-5 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ประเทศไทยมีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดน้อยกว่ากัมพูชาที่สูงถึงร้อยละ 60 และเวียดนามร้อยละ 19 แต่จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยเกิดขึ้นนับตั้งแต่การมีพระประสูติกาลของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ หรือ “พระองค์ที” ในวันที่ 29 เมษายน 2548 และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้ประทานพระกษีรธาราแด่พระองค์ที ภาพพระจริยวัตรที่งดงามในการเลี้ยงดูพระโอรสด้วยพระกษีรธาราได้รับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ และได้ทรงเป็นต้นแบบให้กับแม่ยุคใหม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2552 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประเมินสัมฤทธิผลโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ในพื้นที่ขยายผลการดำเนินงานจำนวน 39 จังหวัด พบว่า สมาชิกโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เพิ่มขึ้นจากข้อมูลเดิมที่องค์การ UNICEF สำรวจไว้คือร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 29.6 เพื่อสนองพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในการจัดทำมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว กระทรวง แรงงาน, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมอนามัย, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย และ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงร่วมกัน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “มุมนมแม่” ขึ้นในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถ บีบ เก็บ ตุน น้ำนมตามเวลาที่กำหนดระหว่างเวลาปฏิบัติงานเพื่อนำกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ดื่มนมแม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งเด็ก พนักงาน ครอบครัว และสถานประกอบกิจการ ทั้งยังส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานในสถานประกอบกิจการ และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยทั้ง 8 องค์กรจะประสานความร่วมมือ และร่วมกันสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ตามบทบาทและภารกิจของตนเอง โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีบทบาทและหน้าที่ในการประกาศนโยบายการจัดสวัสดิการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ และจัดทำเกณฑ์มาตรฐานมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการและคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการจัดตั้งมุมนมแม่เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากรมอนามัยว่าจะให้การสนับสนุนด้วยการเผยแพร่นโยบายและข้อมูลข่าวสารการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ และส่งเสริมด้านวิชาการการไปพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากรุงเทพมหานครจะสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ด้วยการเผยแพร่นโยบายและข้อมูลข่าวสารการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชน ส่งเสริมงานด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานนมแม่ Mr. Tomoo Hozumi ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย เผยว่าองค์การยูนิเซฟ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองการลาคลอด ตลอดจนการส่งเสริมการใช้มาตรการอื่นๆ ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองหญิงผู้เป็นมารดา ข้อบทที่ 10 มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (C ILO183, Maternity Protection Convention, 2000) Dr. Maureen Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่าองค์การอนามัยโลก จะสนับสนุนด้วยการผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นรูปธรรม และปรับทิศทางงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้และเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ทางวิชาการ และร่วมจัดทำเกณฑ์มาตรฐานมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนให้เกิดกระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ และประสานความร่วมมือการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย นางปกรณ์ อมรชีวิน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ประโยชน์และมีคุณค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้ ที่สามารถมองเห็นได้ก็คือลูกจ้างหญิงและครอบครัวหากมีความตั้งใจในการเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกทานในเดือนหนึ่งๆ จะประหยัดเงินไปได้ 2-3 พันบาท สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือ คุณภาพชีวิตของประชากรในรุ่นถัดไปจากนี้ เด็กไทยจะเป็นเด็กที่มีความอบอุ่น มีอารมณ์เยือกเย็น มีจิตใจที่เมตตา มีวินัย รู้หลักของการคิด มีเหตุผลต่อสิ่งต่างๆ ดียิ่งขึ้น และมีความผูกพันต่อครอบครัว “นับตั้งแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จเยี่ยมตามโรงงานต่างๆ ทำให้โครงการมุมนมแม่ได้รับความสนใจมากขึ้น มีคนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่มีมุมนมแม่ทั้งหมด 266 แห่ง และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 175 แห่งในปี 2553 โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้มีการจัดสวัสดิการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถบีบ เก็บ ตุนน้ำนมตามเวลาที่กำหนดระหว่างเวลาปฏิบัติงานเพื่อนำกลับไปให้ลูกที่บ้าน โดยภารกิจของแต่ละองค์กรจะมีความสอดคล้องในการประสานความร่วมมือและส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน” นางอัมพรกล่าว พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช ผู้จัดการโครงการการสร้างรากฐานชีวิตและสังคมด้วยนมแม่ เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ระบุถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่า มีมหาศาลเพราะน้ำนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด ช่วยในเรื่องพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อารมณ์ ช่วยส่งเสริมและทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีรายงานการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปพบว่า ทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงถึง 2-5 จุด แต่จากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย โดยองค์การยูนิเซฟ ในปี 2549 พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของเราอยู่ในระดับต่ำมาก นอกจากนี้ผลสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กไทยยังพบว่าเด็กแรกเกิด- 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 67 ในปี 2550 ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรจับมือร่วมกันในการที่ช่วยเด็กไทยเติบโต แข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นเรื่องของคุณภาพและสุขภาพของเด็กไทย ถ้าเราไม่สามารถสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ เราจะไม่มีโอกาสได้แรงงานที่มีฝีมือในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีมุมนมแม่อยู่ในสถานประกอบการซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เพียงผู้บริหารมีความจริงใจ ตั้งใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก เพียงแค่จัดสถานที่ให้เหมาะสม มีสถานที่มิดชิดเป็นส่วนตัว สะอาด ถูกสุขอนามัย มีตู้เย็น อ่างล้างมือ เก้าอี้นั่ง น้ำดื่ม สำหรับให้แม่ไปใช้บริการ แค่นี้ก็เกิดเป็นมุมนมแม่ได้ ที่สำคัญที่สุด คือการอนุญาตให้แม่ใช้เวลางานประมาณ ครึ่งชั่วโมง วันละ 2 ครั้งมาบีบ เก็บน้ำนม” พญ.ยุพยงกล่าว พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงาน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการระหว่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และภาคีองค์กรจะจัดให้มีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2553 เวลา 09.00 — 12.00 น. ณ ห้องประชุม ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ