ปิดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตัน 180 วัน

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2010 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามทางแยกคลองตัน และดูสภาพการจราจรบริเวณทางแยกหลังปิดการจราจรวันแรก เนื่องจากสะพานข้ามแยกคลองตันเปิดใช้งานมากกว่า 18 ปี (ถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2535) ทำให้เกิดการชำรุด เสียหาย และเป็นอันตรายต่อประชาชน ปิดฝั่งละ 45 วัน เริ่มฝั่งขาออกก่อน เบ็ดเสร็จ 180 วัน กรุงเทพมหานครกำหนดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตัน และสะพานข้ามคลองแสนแสบ ระยะเวลารวม 180 วัน โดยปิดการจราจร ฝั่งขาออกเมืองเส้นทางจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าถนนพัฒนาการก่อน 45 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 0.01 น. วันนี้ (16 ม.ค. 53 หรือหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 ม.ค. 53) ถึงวันที่ 1 มี.ค. 53 ส่วนด้านขาเข้าเมืองยังคงเปิดให้ใช้การบริการได้ตามปกติ จากนั้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 1 มี.ค. 53 น. (เวลา 0.01 น. ของวันที่ 2 มี.ค. 2553) จะสลับฝั่งการให้บริการ เปลี่ยนไปปิดการจราจรฝั่งเข้าเมืองจนถึงเที่ยงคืนวันที่ 15 เม.ย. 53 สำหรับวันที่ 16 เม.ย. 53 จะทำการปิดสะพานข้ามคลองแสนแสบในฝั่งขาออก อีก 45 วัน และสลับฝั่งไปปิดสะพานข้ามคลองแสนแสบฝั่งขาเข้าอีก 45 วัน จนถึงวันที่ 14 ก.ค. 53 ทั้งนี้เบื้องต้นกำหนดปิดสะพานฝั่งละ 45 วัน แต่เนื่องจากสะพานข้ามคลองตันมีระยะทางค่อนข้างยาว ประกอบกับสะพานสองฝั่งมีความยาวไม่เท่ากัน ระยะเวลาอาจยืดหยุ่นได้แต่ไม่เกินฝั่งละ 60 วัน โดยเส้นทางฝั่งเข้าเมือง (จากถนนพัฒนาการมุ่งหน้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่) ยาวประมาณ 1,040 ม. ส่วนฝั่งขาออกเมือง (จากถนนเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าถนนพัฒนาการ) ยาวประมาณ 1,220 ม. สำหรับสะพานข้ามคลองแสนแสบอีก 2 สะพานที่อยู่ด้านข้าง ความยาวประมาณ 200 ม. สำหรับงานที่ทำการปรับปรุงประกอบด้วย การปรับปรุงผิวจราจรบนสะพาน ปรับปรุงรอยต่อเผื่อขยาย ปรับปรุงวัสดุกันซึมรอยต่อแผ่นพื้น คสล. ปรับปรุงแผ่นยางรองสะพาน ปรับปรุงราวสะพาน งานระบบจราจรสงเคราะห์ ปรับปรุงซ่อมแซมพื้นโครงสร้างเชิงลาด Bridge Approach ปรับปรุงผิวจราจรเชิงลาดสะพานช่วง Transition ปรับปรุงช่องรับน้ำบนสะพาน งานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และปรับปรุงซ่อมแซมผิวคอนกรีต ปรับช่องทางฝั่งขาเข้าเป็นขาออกเมืองทั้ง 2 ช่อง ช่วงเวลา 17.00—20.00 น. ปัจจุบันปริมาณการจราจรที่ผ่านแยกคลองตันทั้งหมด ประมาณ 98,000 คันต่อวัน ประกอบด้วย ในแนว ถ.พัฒนาการ — เพชรบุรีตัดใหม่ ประมาณ 58,000 คัน แบ่งเป็น ชั่วโมงเร่งด่วนเช้า เวลา 07.00—09.00 น. ประมาณ 11,600 คัน ชั่วโมงเร่งด่วนเย็น เวลา 16.00—19.00 น. ประมาณ 14,400 คัน และนอกนอกช่วงเวลาเร่งด่วน ประมาณ 32,000 คัน และปริมาณการจราจรในแนว ถ.สุขุมวิท 71 — ถ.รามคำแหง ประมาณ 40,000 คัน แบ่งเป็น ชั่วโมงเร่งด่วนเช้า เวลา 07.00—09.00 น. ประมาณ 7,200 คัน ชั่วโมงเร่งด่วนเย็น เวลา 16.00—19.00 น. ประมาณ 9,200 คัน และนอกนอกช่วงเวลาเร่งด่วน ประมาณ 23,000 คัน การระบายรถในช่วงที่มีการปิดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตันฝั่งขาออก ตำรวจจราจรจะเปิดช่องทางพิเศษโดยปรับเส้นทางฝั่งเข้าเมืองให้เป็นเส้นทางสำหรับรถออกจากเมืองทั้ง 2 ช่องทาง ในช่วงเวลา 17.00—20.00 น. พร้อมทั้งจัดตำรวจจราจรกลางจำนวน 15 นาย ประจำบริเวณเชิงสะพานทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติงานสนับสนุนตำรวจจราจรในพื้นที่จำนวน 60 นาย คอยอำนวยความสะดวก และแนะนำเส้นทางเลี่ยงการจราจรบริเวณบริเวณแยกคลองตันแก่ประชาชนด้วย เส้นทางเลี่ยงการจราจรขาเข้า-ออกเมือง ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางโดย ขาเข้าเมือง จาก ถ.พัฒนาการ ให้เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้าสามแยก ถ.รามคำแหง 24 มุ่งสู่ ถ.รามคำแหงได้ หรือ จาก ถ.พัฒนาการ เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายเข้า ซ.ศูนย์วิจัย ออกสู่ ถ.เพชรบุรี มุ่งหน้าเอกมัยและแยกพร้อมพงษ์ได้ หรือจากแยกศูนย์วิจัยตรงไปสู่แยกอโศกมนตรีและแยก อ.ส.ม.ท. ได้ หรือจาก ถ.พัฒนาการ เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม แล้วเลี้ยวขวาสู่ ถ.เพชรบุรี สำหรับขาออกเมือง จาก ถ.เพชรบุรี ให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม มุ่งหน้าสู่ ถ.พระราม 9 ได้ หรือ จาก ถ.เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม เลี้ยวขวาเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายออก ถ.รามคำแหง หรือ จาก ถ.เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม เลี้ยวขวาเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวขวาออก ซ.พัฒนาการ 25 แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ ถ.พัฒนาการ ขาออกได้ สะพานคลองตันเปิดใช้งานมากกว่า 18 ปี สะพานคลองตันถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ในแนวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ — พัฒนาการ ตัดกับถนนสุขุมวิท 71 (ถ.ปรีดีพนมยงค์) — รามคำแหง จัดเป็นสะพานยุคแรกที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับสะพานบางกะปิ สะพานรัชโยธิน สะพานท่าพระ สะพานควาย (ถูกรื้อแล้ว) สะพานบางพลัด สะพานสามเหลี่ยมดินแดง สะพานจตุจักร สะพานลาดพร้าว(ถูกรื้อแล้ว) สะพานลำสาลี และสะพานอรุณอัมรินทร์ (ถูกรื้อแล้ว) สะพานคลองตันทั้ง 2 ทิศทางมีความยาวไม่เท่ากัน ด้านทิศทางเข้าเมือง (จากถนนพัฒนาการมุ่งหน้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่) ยาวประมาณ 1,040 ม. ส่วนฝั่งขาออกเมือง (จากถนนเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าถนนพัฒนาการ) ยาวประมาณ 1,220 ม. นอกจากนี้ยังมีสะพานข้ามคลองแสนแสบอีก 2 สะพานด้านข้าง ความยาวประมาณ 200 ม. สะพานข้ามคลองแสนแสบมีลักษณะเป็นรูปตัว S ความเร็วที่ใช้บนสะพานอยู่ที่ประมาณ 35 ก.ม./ชม. แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่จะใช้ความเร็วเกิน ซึ่งสภาพของสะพานค่อนข้างอันตรายเนื่องจากพื้นผิวสะพานลอกร่อน การยึดเกาะพื้นถนนของรถมีน้อยมาก ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางหลีกเลี่ยง เส้นทางลัด และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ที่ www.bangkok.go.th www.traffice.com และ http://bkkbridge.homeip.net สอบถามรายละเอียดพร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางและผลกระทบการจราจรได้ที่สายด่วน กทม. 1555 และ 1197

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ