กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอนในปี 2553 แต่อัตราการเติบโตของระบบจัดเก็บข้อมูลและความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบจัดเก็บข้อมูลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ฝ่ายไอทีจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการกับการเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลของข้อมูลภายในองค์กร จะเห็นได้ว่าในขณะนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกำลังดำเนินงานของตนด้วยเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานได้ ด้วยเหตุนี้ การลงทุนและทุนดำเนินการจึงต้องสามารถใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดและต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนมากขึ้น แทนการเพิ่มจำนวนระบบจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้จัดลำดับความสำคัญด้านการลงทุนที่สำคัญยิ่งบางอย่างสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในปี 2553 ดังนี้
ดาต้า เซ็นเตอร์ เสมือนจริง (Data Center Virtualization): ระบบเสมือนจริงเป็นตัวช่วยที่สำคัญของศูนย์ข้อมูลที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ในอนาคต แม้ว่าระบบศูนย์ข้อมูลเสมือนจริงจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็อาจมีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมจะน้อยลง แต่ก็อาจมีค่าผันแปรที่สูงขึ้น หรือแม้จะมีเซิร์ฟเวอร์เพียงไม่กี่เครื่อง แต่เซิร์ฟเวอร์แต่ละเครื่องจะมีความสำคัญอย่างยิ่งและต้องการทรัพยากรระบบจัดเก็บข้อมูลสูงกว่าที่เคยเป็นมา ขณะที่แอพพลิเคชั่นต่างๆ สามารถจัดสรรได้อย่างไดนามิกตามต้องการ โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนก็จะต้องสามารถดำเนินการดังกล่าวได้เช่นกัน ศูนย์ข้อมูลแม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่ประสิทธิภาพโดยรวมอาจยังไม่ดีพอ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือมีวิธีปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้ ในราคาที่สามารถจ่ายได้ รวมทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับศูนย์ข้อมูลได้อีกด้วย
เนื่องจากปริมาณงานที่มากขึ้นถูกทำให้เป็นระบบเสมือนจริงบนหน่วยประมวลผลแบบมัลติคอร์ และแบนด์วิธเครือข่ายเพิ่มเป็น 8 กิกะบิตต่อวินาทีบน FC และ 10 กิกะบิตต่อวินาทีบน Ethernet ทำให้โครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญจำเป็นต้องมีความจุและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่โครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลซึ่งสนับสนุนสภาพแวดล้อมแบบเสมือนจริงจะต้องสามารถเพิ่มขนาด (scale up) และกระจายโหลดการทำงาน (scale out) ได้ตามความต้องการด้านประสิทธิภาพและความจุ ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบเพิ่มขนาดได้นั้น สามารถเพิ่มกำลังการประมวลผล พอร์ตเชื่อมต่อ แคช และแกนหมุนของดิสก์ให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพด้านการแบ่งข้อมูลจัดเก็บแบบ Wide Striping สำหรับตอบสนองความต้องการที่สูงสุดของระบบเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริงขนาดใหญ่ ขณะที่การกระจายโหลดการทำงานนั้น สามารถลดต้นทุนให้น้อยลงและลดการหยุดทำงานของระบบเมื่อมีการเพิ่มความจุหรืออัปเกรดเป็นเทคโนโลยีใหม่ ในปี 2552 เราได้เห็นแนวโน้มของระบบจัดเก็บข้อมูลแบบโมดูลที่มีต้นทุนลดลงด้วยการกระจายโหลดการทำงานผ่านทางเทคโนโลยีสวิตช์ อย่าง Ethernet หรือ RapidIO อีกทั้งยังพบด้วยว่าข้อด้อยของระบบจัดเก็บข้อมูลแบบโมดูลที่กระจายโหลดการทำงานคือการที่ไม่สามารถเพิ่มขนาดได้ ในปี 2553 เราคาดว่าจะเกิดความต้องการระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีความสามารถทั้งด้านการปรับเพิ่มขนาดได้และการกระจายโหลดการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเครือข่าย หน่วยประมวลผล และระบบปฏิบัติการเสมือนจริงที่เร็วขึ้น เช่น VMware และ Hyper V
ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ (Cloud Storage): การประมวลผลแบบคลาวด์มักจะถูกใช้เป็นภาพพจน์เชิงเปรียบเทียบของอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์จะปกปิดความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานไอทีและทำให้สามารถเข้าถึงความจุของระบบจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบของบริการ "โตเท่าใดจ่ายเท่านั้น" (a pay as you grow) ได้ ระบบคลาวด์ดังกล่าวจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2553 โดยที่ผู้สร้างระบบคลาวด์ในองค์กรและผู้ให้บริการระบบคลาวด์สาธารณะจะให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องไปที่ด้านความยืดหยุ่น ความน่าเชื่อถือ การแบ่งปันทรัพยากรสำหรับผู้ใช้จำนวนมาก (multi -tenancy) และความปลอดภัย กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของผู้ให้บริการระบบคลาวด์ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการดอทคอมในยุคก่อนหน้านี้ คือความสามารถด้านการใช้ทรัพยากรของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความสามารถในการจัดการกับการขยายตัวของระบบจัดเก็บข้อมูลต่อผู้ใช้ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริงและความสามารถในการปรับเพิ่มขนาดและกระจายโหลดการทำงานแบบไดนามิกจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการนำระบบคลาวนด์มาใช้งาน โดยเราคาดว่าการนำระบบจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์มาใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากความสามารถหลักๆ เช่น ความปลอดภัย การแบ่งปันทรัพยากรสำหรับผู้ใช้จำนวนมาก และโมเดลการชำระค่าบริการ
ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบแบ่งระดับชั้นอัตโนมัติ (Automated Tiered Storage): เนื่องจากความแตกต่างด้านราคาและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งการเปิดตัวของแฟลชไดรฟ์และดิสก์แบบ TB SATA การนำระบบการแบ่งระดับชั้นมาใช้งานจึงได้รับความสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ การจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลแบบแบ่งระดับชั้นอัตโนมัติยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของพนักงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการย้ายและคัดลอกข้อมูล รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายสำหรับดิสก์ไดรฟ์ราคาแพงให้เหลือน้อยที่สุด ตลอดจนสามารถใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลราคาต่ำกว่าสำหรับข้อมูลและสำเนาที่ไม่ได้ใช้งาน และสามารถปรับใช้ระบบ จัดเก็บข้อมูลระดับชั้นที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด องค์กรด้านไอทีจำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่ระบบการจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลแบบแบ่งระดับชั้นอัตโนมัติตามนโยบายด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจขณะที่ยังคงต้องรักษาวัตถุประสงค์ของระดับการให้บริการสำหรับธุรกิจไว้ให้ได้ด้วย การรวมการจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลแบบแบ่งระดับชั้นอัตโนมัติเข้ากับระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริงและการจัดสรรพื้นที่จัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ (thin provisioning) แบบไดนามิก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านเงินทุนและการดำเนินงานได้อย่างมาก
บริการที่มีการจัดการ (Managed Service): การจัดการโครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลต้องการพนักงานที่มีประสบการณ์และมีค่าตัวสูง ในแต่ละครั้ง จะต้องมีทีมงานดังกล่าวอยู่พร้อมภายในองค์กรเพื่อจัดการฟังก์ชันการทำงานประจำเหล่านี้ แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เนื่องจากการจัดเตรียมแอพพลิเคชั่นใหม่หรือการรายงานประสิทธิภาพของ SAN สำหรับองค์กรไอทีปัจจุบัน กำลังได้รับการจัดการผ่านบริการที่มีการจัดการจากระยะไกล เมื่อความต้องการนี้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าข้อเสนอของบริการใหม่ๆ จะได้รับการนำมาใช้เนื่องจากเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งทักษะความชำนาญด้านระบบจัดเก็บข้อมูลที่สามารถตอบสนองได้ในเวลาจริงตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ตลอดจนสามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์ภายใต้เงื่อนไขของการมีพนักงานในจำนวนจำกัดและอาจมีทักษะไม่เพียงพอ การใช้บริการดังกล่าวยังสามารถป้องกันไม่ให้มีการดึงพนักงานที่มีประสบการณ์ออกมาจากโครงการที่สร้างรายได้ซึ่งเป็นงานสำคัญที่ต้องได้รับการบริหารจัดการ
ไอทีแบบยั่งยืน (Sustainable IT): ภารกิจด้านไอทีได้รับการกำหนดแนวทางไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการกำหนดให้กับภาระงานที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจขาลง แต่ผู้บริหารและผู้จัดการควรระมัดระวังที่จะใช้สิ่งนี้เป็นข้อแก้ตัวในการให้คำมั่นกับทีมบริหารระดับบนเกี่ยวกับแนวทางของความยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติด้านไอทีอย่างยั่งยืนให้โอกาสสำคัญในการสร้างมูลค่าและข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน ในปี 2553 จะพบว่ามีการใช้เหตุผลในการตัดสินเกี่ยวกับโครงการไอทีสีเขียวมากขึ้น โดยผู้จัดการด้านไอทีจะพบกับการแข่งขันภายในเกี่ยวกับการลงทุนที่มีจำกัด และจะพบว่าโครงการไอทีสีเขียวต่างๆ กำลังได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆ ขององค์กร นอกจากนี้ยังจะเกิดบทบาทใหม่ขึ้นภายในองค์กรไอทีด้วย นั่นคือ ผู้จัดการด้านไอทีแบบยั่งยืน ซึ่งจะเข้ามารับหน้าที่ในการกำหนดและจัดการโครงการไอทีสีเขียว นอกจากนี้ ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลยังมีแนวโน้มที่จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการการตรวจสอบการวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ผู้จัดการด้านไอทีจำนวนมากจะแน่ใจได้ถึงกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า สำหรับในระดับเทคนิคแล้ว สิ่งนี้จะส่งผลต่อการให้ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นต่อเซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบศูนย์ข้อมูลเสมือนจริง รวมทั้งระบบคลาวด์ด้วย
ระบบความปลอดภัย (Security): ผู้จัดการด้านไอทีต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างการลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขของปริมาณงานที่ทำ ความพร้อมใช้งาน ความสามารถในการปรับขนาดได้ ต้นทุน และความซับซ้อนต่างๆ โดยองค์กรแต่ละแห่งจะต้องทำการตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งตามสถานการณ์เฉพาะ (เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ปรับใช้ ข้อกำหนดด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และการคาดหวังอย่างรอบคอบ) และตามความสำคัญของข้อมูล การวางแผนของผู้จัดการด้านไอทีต่อการลงทุนในระบบจัดเก็บข้อมูลหรือใช้บริการจากบริษัทอื่นในปี 2553 นั้น จะต้องพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญหลักๆ ที่รวมถึงการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว การกำจัด/ทำลาย และความปลอดภัย
การผนวกรวม Ethernet ในศูนย์ข้อมูล (FCOE/DCIB): อุตสาหกรรมกำลังเคลื่อนไปสู่โมเดลเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานแบบไดนามิกที่มีเซิร์ฟเวอร์ซึ่งใช้ประโยชน์ได้สูงสุดโดยสามารถเรียกใช้ VM จำนวนมากต่อเซิร์ฟเวอร์ และใช้การเชื่อมโยงแบนด์วิธสูงสำหรับสื่อสารกับระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริงและเครือข่ายเสมือนจริง เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีนี้จะมีศักยภาพในการ
- ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง โดยผ่านการใช้ประโยชน์จากเซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล และเครือข่ายสูงขึ้น และการผนวกรวมช่องทางสื่อสารทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน (ซึ่งหมายถึงการเดินสายน้อยลงและรวม HBA และ NIC เข้าด้วยกัน)
- ลดต้นทุนการดำเนินงานลงผ่านการใช้ประโยชน์พื้นที่ศูนย์ข้อมูลให้มากขึ้น
- ลดการใช้ไฟฟ้าลง
การนำ FCoE มาใช้กับสวิตช์ที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากราคาของโครงสร้างพื้นฐานระดับ 10 Gbps และราคาของ CNA ลดลง เราคาดว่าจะมีการนำการเชื่อมต่อสวิตช์มาใช้ในฝั่งระบบจัดเก็บข้อมูลด้วย เนื่องจากมีการสร้างมาตรฐานเพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมในการกำหนดเส้นทางเชื่อมต่อแบบหลายเส้นทางและการลดความแออัดของเครือข่าย นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจำนวนมากในโครงสร้างพื้นฐาน Fibre Chanel (FC) เพื่อเปลี่ยนไปเป็น 8 Gbps FC เนื่องจากการเปลี่ยนระบบเป็น 8 Gbps FC จะส่งผลให้เกิดการหยุดทำงานของระบบน้อยกว่าการเปลี่ยนระบบไปเป็น 10 Gbps FCoE ดังนั้น เราจึงคาดว่าการนำ FCoE มาใช้ในฝั่งระบบจัดเก็บข้อมูลน่าจะใช้เวลาอีกนานถึงจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย
ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อใช้ไดรฟ์แบบแฟลชหรือ SSD: แม้ว่าไดรฟ์แบบแฟลชจะได้รับการพิจารณาว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าเมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แบบเดิม แต่ไดรฟ์แบบแฟลชก็มีข้อได้เปรียบด้านประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเวลาในการคอยการหมุนของแผ่นดิสก์นั้นจะต่ำมากและมี I/O ที่รวดเร็วมาก ตลอดจนประสิทธิภาพด้านพลังงานที่เหนือกว่า เราคาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีแบบแฟลชเพิ่มสูงขึ้นโดยจะถูกรวมเข้ากับพอร์ตโฟลิโอของโซลูชั่นต่างๆ ตามความต้องการและความตื่นตัวของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้นำมาใช้งานควรคำนึงถึงความปลอดภัยเพิ่มเติมในด้านการเข้ารหัสลับข้อมูลที่ระดับไดรฟ์ SSD ก่อนที่จะเลือกมาใช้งานด้วย
การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลเนื้อหาแบบถาวร: บริษัท ไอดีซี ประมาณการว่าข้อมูลเนื้อหาจะเป็นส่วนข้อมูลที่มีการเติบโตเร็วที่สุดด้วยอัตราการเติบโตสะสมต่อปีที่ระดับ 121% ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเป็นข้อมูลที่เกิดการเก็บสะสมเป็นเวลาหลายปี นอกจากข้อมูลเนื้อหาแล้ว ข้อมูลแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้างในศูนย์ข้อมูลที่มีจำนวนมากถึง 60-80% อาจเป็นข้อมูลเก่าที่สามารถย้ายไปยังที่เก็บถาวรเพื่อลดชุดการทำงานของข้อมูลที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการในแต่ละวันได้ แม้ว่าข้อมูลเนื้อหาจะเป็นชนิดข้อมูลที่ขยายตัวเร็วที่สุดแต่ก็สามารถจัดการได้โดยง่ายเพราะมีลักษณะที่คงที่ เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวเข้าในแพลตฟอร์มการเก็บถาวรแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสำรองข้อมูลตราบเท่าที่คุณมีสำเนาอย่างน้อยสองสำเนาอยู่ และวงจรชีวิตของข้อมูลดังกล่าวจะถูกจัดการโดยอัตโนมัติ เมื่อข้อมูลถูกนำเข้าสู่ระบบก็จะสามารถจัดทำดัชนีเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้โดยตรง บีบอัด ลดความซ้ำซ้อน และเก็บไว้ที่ดิสก์ ความจุสูงที่มีราคาไม่แพง อีกทั้งยังสามารถเข้ารหัสลับเพื่อให้แน่ใจได้ถึงความเป็นส่วนตัวได้ด้วย เนื่องจากเนื้อหาเป็นชนิดข้อมูลที่ขยายตัวเร็วที่สุด แพลตฟอร์มสำหรับเนื้อหาจึงต้องสามารถปรับขนาดได้ที่ระดับหลายสิบเพตาไบต์และสามารถสนับสนุนรูปแบบข้อมูลได้หลายรูปแบบ โดยเราคาดว่าจะเกิดความต้องการมากขึ้นในด้านแพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลเนื้อหาแบบถาวร (Content Archive Platform) เพื่อจะตอบสนองความต้องการดังกล่าว
การนำการจัดสรรพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะไดนามิกมาใช้งานมากขึ้น: เครื่องมือที่ดีที่สุดในการลดต้นทุนการดำเนินงานก็คือ การจัดสรรพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีลักษณะแบบไดนามิก จะเห็นได้ว่าการจัดสรรพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะสามารถ
- กำจัดการเปล่าประโยชน์ของพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรไว้แต่ไม่ได้ใช้งาน
- ลดต้นทุนการย้ายและคัดลอกไดรฟ์ข้อมูลขนาดใหญ่ (FAT volumes) ด้วยการกำจัดพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน
- เรียกคืนความจุได้มากถึง 40% หรือกว่านั้นจากพื้นที่ของไดร์ฟข้อมูลที่มีอยู่
- ลดการจัดเตรียมระบบจัดเก็บข้อมูลจากหลายชั่วโมงเหลือเป็นระดับนาที
- ทำให้การแบ่งข้อมูลจัดเก็บแบบ Wide Striping ง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานด้วยการกระจาย I/O ไปยังแกนหมุนของดิสก์ให้มากขึ้น
ด้วยข้อดีเหล่านี้ทั้งหมด ทำให้เราคาดว่าการจัดสรรพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและมีลักษณะไดนามิกนั้น จะมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ในการลงทุนสำหรับลูกค้าด้วยความสามารถ เช่น zero page reclaim (การส่งคืนความจุของระบบจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ได้ใช้งาน) การปรับสมดุลแบบไดนามิกของพูลระบบจัดเก็บข้อมูลตามความจุที่เพิ่ม การสนับสนุนระบบจัดเก็บข้อมูลแบบหลายผู้ค้า และยังสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย