บริษัทจดทะเบียนทำกำไรงวด 9 เดือนสามแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2006 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ตลท.
บจ.มีกำไรงวด 9 เดือนรวมกัน 371,004 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายรวมสูงถึงกว่า 4 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุด โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 รองลงมาได้แก่กลุ่มทรัพยากร ซึ่งมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ส่วนบริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ PTT SCC PTTEP TOP และ BBL กำไรรวมกันกว่า 150,000 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 499 บริษัท หรือร้อยละ 96 ของบริษัทจดทะเบียน ทั้งหมด 521 บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จำนวน 8 กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วโดยมีกำไรรวมกัน 371,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,496 ล้านบาท จากปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิรวม 367,508 ล้านบาท
“สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ที่ส่งงบการเงินงวด 9 เดือนแรกของปี 2549 มีจำนวน 461 บริษัท (จากทั้งหมด 483 บริษัท) มีบริษัทที่มีกำไร 377 บริษัทเป็นผลกำไรสุทธิรวม 369,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,293 ล้านบาท จากปีก่อนซึ่งมีกำไร 366,376 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทจดทะเบียนจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยจะที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2549 ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นแต่บริษัทจดทะเบียนโดยรวมสามารถทำยอดขายรวมได้สูงถึง 4,000,617 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21” นางภัทรียากล่าว
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดรวมกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มทรัพยากร มีกำไรสุทธิรวม 151,527 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจการเงิน มีกำไรสุทธิรวม 76,301 ล้านบาท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีกำไรสุทธิรวม 44,289 ล้านบาท
โดยบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิ 79,701 ล้านบาท บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีกำไรสุทธิ 24,776 ล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีกำไรสุทธิ 21,929 ล้านบาท บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 14,754 ล้านบาท และบมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 13,807 ล้านบาท
หากพิจารณาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุดพบว่ากลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ หมวดยานยนต์ และหมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร รวม 69 บริษัท มีกำไรสุทธิ 30,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เนื่องจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น
2. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ 20 บริษัท มีกำไรสุทธิ 151,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เนื่องจากราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
3. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และหมวดแฟชั่น รวม 41 บริษัท มีกำไรสุทธิ 4,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านบริษัทจดทะเบียนใน mai 38 บริษัทนำส่งงบการเงินครบทุกบริษัทมีบริษัทที่มีกำไร 34 บริษัท หรือร้อยละ 89 และมียอดขายงวด 9 เดือนรวม 21,402 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือนรวม 1,335 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 444 บริษัท ไม่รวมบริษัทที่อยู่ระหว่างแก้ไขการดำเนินงาน จำนวน 17 บริษัท (อยู่ในกลุ่ม Non-Compliance (NC) และกลุ่ม Non-Performing Group (NPG) แยกตามกลุ่ม อุตสาหกรรม 8 กลุ่ม ปรากฏว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ และหมวดบริการเฉพาะกิจ โดยมีกำไรสุทธิรวม 362,074 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance : NC) และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่แก้ไข การดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group : NPG) จำนวน 29 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 17 บริษัท
“บริษัทที่ขึ้นเครื่องหมาย NC ในหมวดธุรกิจปกติ นำส่งงบการเงิน 6 บริษัท มีกำไรสุทธิ 6,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4 เท่า เนื่องจากมีบริษัทที่มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ด้านบริษัทในกลุ่ม NPG นำส่งงบการเงินจำนวน 11 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3 ล้านบาท เนื่องจากกำไรขั้นต้น รวมทั้งกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายลดลง” นางภัทรียากล่าว
ทั้งนี้ สรุปสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในกลุ่มนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 ปรากฏว่ายังไม่มีบริษัทใดที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (NC) เพิ่มเติม ในขณะที่ บมจ.ศรีไทยฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ (SRI) ถูกย้ายเข้ากลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group : NPG)
สำหรับบริษัทที่พ้นเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนมี 12 บริษัท ได้แก่ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) บมจ.เอเวอร์แลนด์ (EVER) บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC) บมจ.พีเออี (ประเทศไทย) (PAE) บมจ.พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ (PE) บมจ.พรีเมียร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เทคโนโลยี (PE&T) บมจ.ปรีชากรุ๊ป (PRECHA) บมจ.สยามอุตสาหกรรม การเกษตรสัปปะรดและอื่นๆ (SAICO) บมจ.ไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ (THECO) บมจ.ไทยนามพลาสติกส์ (TNPC) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และบมจ.ไทยไวร์โพรดัคท์ (TWP)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ