ผลการศึกษาของ EIU สนับสนุนการจัดการแบบบูรณาการของดีเอชแอล

ข่าวทั่วไป Wednesday January 4, 2006 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
ผลการศึกษาของ EIU สนับสนุนการจัดการแบบบูรณาการของดีเอชแอลในปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ขณะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการเตรียมพร้อม เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นฟูบูรณะเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ
ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก เปิดเผยรายละเอียดผลการศึกษา ที่ร่วมมือกับ หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit: EIU) จัดทำเพื่อศึกษาเรื่องการจัดการด้านลอจิสติกส์ในพื้นที่ประสบภัยระหว่างปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
การศึกษาในหัวข้อ “การจัดการเพื่อตอบสนองกับเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ประสบภัย” (Disaster-response management: going the last mile) เป็นการศึกษาด้านปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ให้กับพื้นที่ประสบภัยสึนามิทั้งในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ตลอดจนบทเรียนที่ได้รับและการนำแนวทางจากทั้งภาครัฐบาล หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและบริษัทต่างๆ มาปรับปรุงด้านลอจิสติกส์ในพื้นที่ประสบภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในระยะยาว
การศึกษานี้เป็นหนึ่งในแนวทางของการจัดการแบบบูรณาการของดีเอชแอลเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นที่จะให้ความช่วยเหลือชุมชนที่อาศัยอยู่ใน 41 ประเทศ และอาณาเขตในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่ง ดีเอชแอลดำเนินธุรกิจอยู่ และเป็นประเทศที่มีโอกาสทางการเติบโตน้อย เนื่องจากประสบปัญหาของภัยพิบัติ ความยากจน พื้นที่ห่างไกลชุมชน หรือขาดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติการเพื่อตอบสนองกรณีภัยพิบัตินี้ เป็นหนึ่งในสามแนวทางหลักของบริษัทเพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก
มร. สก็อต ไพรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “จากโครงการการจัดการภัยพิบัติดังกล่าว ทำให้เราสามารถที่จะนำความเชี่ยวชาญทางด้านลอจิสติกส์มาใช้เพื่อการบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และจากผลการวิจัยของ EIU นี้ เรายังมุ่งที่จะปรับปรุงการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติในระยะยาว ดีเอชแอลสนับสนุนความพยายามในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินในทั่วภูมิภาค และเป็นผู้นำในด้านการฟื้นฟู และสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่หลังจากเกิดภัยพิบัติอีกด้วย”
ดีเอชแอลเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของทีมงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินประจำสนามบิน (Airport Emergency Team หรือเรียกโดยย่อว่า AET) โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มโดยเครือข่ายเกี่ยวกับภัยพิบัติ (Disaster Resource Network หรือ DRN) ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่มุ่งขจัดปัญหาคอขวดที่มักเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสิ่งของบรรเทาสาธารณภัยภายในสนามบินซึ่งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการขนส่งและกระจายสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย
ดีเอชแอล และ AET ได้พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์และการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไร้การติดขัดในประเทศโคลอมโบ ตามด้วยเหตุการณ์สึนามิในเดือนธันวาคมในปี พ.ศ. 2547 AET ยังทำงานร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศของประเทศปากีสถานที่ฐานทัพชากาลา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในเอเชียใต้เมื่อเร็วๆ นี้
มร. ไพรซ์ยังกล่าวต่อว่า “ปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อกรณีภัยพิบัติของดีเอชแอลนี้เป็นมากกว่าการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภับพิบัติทางธรรมชาติทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เราตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และเข้าใจว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวของผลกระทบของภัยธรรมชาติในหลายๆ ชุมชนที่เราทำงานอยู่นั้นเป็นประเด็นสำคัญสืบเนื่องต่อไป การฟื้นฟูและการเตรียมพร้อมนั้นจะต้องดำเนินควบคู่กันเพื่อการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบต่างๆ และมุ่งสร้างวิธีจัดการสถานการณ์อันยากลำบากของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน”
ดีเอชแอลเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่เข้าให้ความช่วยเหลือเมื่อคลื่นสึนามิถล่มเอเชีย แปซิฟิกเมื่อปีที่ผ่านมา ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากที่คลื่นลูกแรกถล่ม ดีเอชแอลได้ให้บริการขนส่งโดยไม่คิดมูลค่า นับตั้งแต่สิ่งของบรรเทาทุกข์ อาสาสมัคร ตลอดจนเงินบริจาค ดีเอชแอลยังมีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เช่น มัลดีฟ อินโดนีเซีย และประเทศไทย
ความช่วยเหลือของดีเอชแอลรวมไปถึง เงินบริจาคจากพนักงานมูลค่ากว่า 500,000 ยูโร และเงินบริจาคจากดอยช์ โพสท์ เวิร์ลด์ เน็ต 1 ล้านยูโร เพิ่มเติมจากเงินจำนวน 2.2 ล้านยูโรที่ได้จากการประมูลที่ ดอยช์ โพสท์ เวิร์ลด์ เน็ต และอีเบย์ร่วมจัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนทั่วโลกร่วมบริจาค
ข้อมูลเพิ่มเติมดีเอชแอล
ดีเอชแอล ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่นซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจาก ผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ไม่ว่าจะเป็นบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการทั่วทุกมุมโลก และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศได้อย่างลึกซึ้ง โดยในปี พ.ศ. 2547 ดีเอชแอลมียอดรายได้ทั้งสิ้น 33 พันล้านเหรียญยูโร หรือเกือบ 1.65 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศ และอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก โดยมีบุคลากรกว่า 285,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ครบวงจรที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า โดยมีดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต เป็นผู้ถือหุ้นของดีเอชแอล 100%
ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจร ด้วยศักยภาพของสามหน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล ดานซาส แอร์ แอนด์ โอเชี่ยน และดีเอชแอล โซลูชั่น ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงาน 1,200 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายศูนย์บริการและศูนย์รับส่งด่วน 20 แห่งที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ http://www.dhl.co.th
ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
ปิยลัคน์ หรือ บงกชบริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดโทรศัพท์ 0-2345-5602 หรือ 5608 โทรสาร 0-2285-5531อีเมล์ piyalak.pitayapibulphong@dhl.com bongkod.paebunyong@dhl.com ดุจเดือน หรือ อรนุชฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทยโทรศัพท์ 0-2627-3501 ต่อ 114 หรือ 191 โทรสาร 0-2627-3510อีเมล์ drussamee@th.hillandknowlton.com onuntaratn@th.hillandknowlton.com
เอกสารแนบท้ายข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อสรุปสำคัญจากรายงานการวิจัยของ EIU เรื่อง “การจัดการเพื่อตอบสนองกับเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ประสบภัย” (Disaster-response management: going the last mile)
การสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรเอกชนบริจาคเงินแทนสิ่งของ เพราะเงินนั้นมีข้อได้เปรียบตรงไม่ต้องผ่านด่านศุลกากร การซื้อสิ่งของจากแหล่งท้องถิ่นเองยังช่วยอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
ตามกฏแล้วนั้นสิ่งของช่วยเหลือต่างๆ ไม่ควรที่จะถูกส่งไปตรงยังพื้นที่ประสบภัยหลัก โดยหน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ และ/หรือการประสานงานกับหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในการให้ความช่วยเหลือด้านงานบรรเทาสาธารณภัย โดยสนามบินต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ จะต้องเน้นไปที่การจัดการขนส่งสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่มีการร้องขอ หรือประสานงานจากหน่วยบรรเทาสาธารณภัยที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
การจัดการด้านลอจิสติกส์เพื่อเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมนั้นยากกว่าการจัดการด้านเดียวกันในเชิงธุรกิจ เนื่องจากการจัดการอย่างแรกนั้นต้องใช้ระบบการจัดการด้านลอจิสติกส์จำนวนมาก ในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามการจัดการด้านลอจิสติกส์เมื่อเกิดภัยพิบัตินั้น บ่อยครั้งที่มักจะต้องดำเนินการในสถานการณ์ที่โครงสร้างของระบบคมนาคม และการขนส่งถูกทำลายเสียหาย
หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ และผู้บริจาคอื่นๆ ควรตระหนักว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศนั้นเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องการประสานงานในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเขตแดนของประเทศนั้นๆ และควรจะขออนุญาตทางการที่ต้องติดต่อประสานงานด้วย บางครั้งแรงกดดันจากนานาชาติอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความลำบากใจ หากว่าอาสาสมัคร หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ และบริษัทต่างๆ ควรดูบทบาทผู้นำขององค์การสหประชาชาติเป็นแนวทางในการดำเนินงาน
เมื่อความช่วยเหลือ หรือทีมอาสาสมัครเดินทางไปถึงประเทศนั้นๆ แล้ว นับเป็นความจำเป็นที่ทีมงานจะต้องข้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนในท้องที่นั้น ๆ ในขณะมีกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัย โดยสิ่งนี้จะช่วยให้ทราบถึงความสามารถในการปฏิบัติงาน และข้อจำกัดในท้องถิ่นนั้น ๆ ตลอดจนการมีส่วนสำคัญในงานบรรเทาสาธารณภัยที่มีการให้ความช่วยเหลือในทันที และงานบูรณะซ่อมแซมในระยะยาว
บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์นั้นเหมาะที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไรในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการต่างๆ ของบริษัทที่ช่วยรับผิดชอบต่อสังคมแพร่หลายออกไปมากเท่าใด ก็จะทำให้บริษัทอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี บริษัทต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของทางการนั้นควรจะแจ้งเงื่อนไขของความช่วยเหลือที่จะให้ตั้งแต่เริ่มแรก (ไม่ว่าจะเป็นประเภทของความช่วยเหลือ หรือมูลค่า) และควรจะระบุว่าพวกเขาเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเท่านั้น เพราะว่าหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและรัฐบาลต่างๆ มักคิดว่าบริษัทต่างๆ จะคิดค่าบริการ หรือสงสัยในเหตุผลแอบแฝงในการให้ความช่วยเหลือ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ