กทม. อบรมอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2010 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. อบรมอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพที่แท้จริง นำไปสู่การดำเนินการตามนโยบาย “ทั้งชีวิต..เราดูแล” ในด้านการพัฒนาคุณภาพชุมชนให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นางเพียงใจ วิศรุตรัตน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการอบรมอาสาสมัครการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.1) เขตเมือง โดยมีนายสิทธิรัตน์ ถ้ำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม คณะผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และอาสาสมัครการจัดเก็บข้อมูล ร่วมงาน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) กรุงเทพมหานครได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนดำเนินงานพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพที่แท้จริงของชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยในปีพ.ศ. 2542 มีชุมชนจำนวน 1,353 ชุมชน และปีพ.ศ. 2545 มีชุมชนจำนวน 1,676 ชุมชน ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 1,988 ชุมชน ทำให้ต้องมีการสำรวจข้อมูลใหม่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นกรุงเทพมหานครโดยสำนักพัฒนาสังคมจึงได้จัดทำโครงการการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.1) เขตเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสภาพปัญหาชุมชน โดยใช้เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาสนับสนุนโครงการในการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครได้อย่างเป็นรูปธรรม และตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งการดำเนินการจะมีการจัดอบรมอาสาสมัครการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 600 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน โดยรุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 10 ก.พ. 53 และรุ่นที่ 2 วันที่ 11 ก.พ. 53 รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกของการพัฒนาชุมชนและสังคมทุกระดับ จึงต้องทำให้ประชาชนได้เห็นถึงคุณค่าของการรวบรวม ค้นหา ตรวจสอบ วิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูลชุมชนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานครที่มีภารกิจในด้านการพัฒนาคุณภาพชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามนโยบาย “ทั้งชีวิต..เราดูแล” จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานของคุณภาพชีวิตเพื่อใช้ในการวางแผนดำเนินงานพัฒนาชุมชน ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสภาพที่แท้จริงของชุมชนแต่ละพื้นที่ได้อย่างอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ