ปภ. คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 มีแนวโน้มรุนแรงในรอบ 5 ปี

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2010 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคาดการณ์ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยจะเกิดในพื้นที่ตอนบนของประเทศก่อน จากนั้นจะขยายพื้นที่ไปยังภาคอื่นๆ แต่พื้นที่ในเขตชลประทานจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรในบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะเริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ แต่ไม่รุนแรงมากนัก และสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตอนบนของภาค แต่พื้นที่ในเขตชลประทานยังไม่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งมากนัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรในบางพื้นที่ สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกเริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตอนบนของภาคก่อน และจะขยายพื้นที่ลงมาตอนล่างเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาคใต้จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก ส่วนการติดตามเฝ้าระวังปรากฎการณ์เอลนีโญ่ พบว่า จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวม ของประเทศมีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่แล้งซ้ำซาก จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณฝนรวมในฤดูร้อนจะต่ำกว่าค่าปกติ ทั้งนี้ สภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซากเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยจัดเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และนครปฐม งดเว้นการทำนาปรังครั้งที่ 2 และให้เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซ่อมแซมร่องน้ำ คูคลอง เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ และรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้การจัดสรรน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างทั่วถึง ส่วนภาคอุตสาหกรรม ให้วางแผนการใช้น้ำในการประกอบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุน จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีขาดแคลนน้ำ สุดท้ายนี้ หากประชาชนร่วมกัน ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า จะช่วยลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูร้อนนี้ได้ในระดับหนึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ