TCELS ผนึกรามาฯแถลงผลสำเร็จนักวิทย์ไทยค้นพบยีนแพ้ยาต้านเอดส์ครั้งแรกของโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2010 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--TCELS TCELS ผนึกรามาธิบดี แถลงความสำเร็จการใช้เทคโนโลยี สกัดดีเอ็นเอ ตรวจวินิจฉัยยีนแพ้ยาและยีนก่อผลข้างเคียงจากการใช้ ยาต้านไวรัสเอดส์ “ สตาวูดีน ” ในผู้ป่วยแต่ละราย เป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงครั้งแรกในโลก เผยใช้ต้นทุนตรวจไม่ถึง 1,000 บาท แต่ผลสุดคุ้ม สามารถตรวจหายีนแพ้ยาได้หลายร้อยตัวในคราวเดียว ลดเสี่ยงอันตรายแพ้ยา ชี้รอบ5 ปี พบคนไทยมียีนแพ้ยา 4 ตัว คือยาต้านอาการชัก ยาลดกรดยูริกและยาต้านไวรัส 2 ตัว พร้อมแบ่งปันประสบการณ์แพทย์ผู้สนใจทั่วประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ( TCELS) หน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดแถลงข่าว ความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยยีนแพ้ยาและยีนที่ก่อผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วยไทยแต่ละราย โดยมี พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการ OKMD นายสุริยัน ปานเพ็ง รักษาการผู้อำนวยการ TCELS รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ และคณะผู้วิจัยจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวว่า OKMD นอกจากจะเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศยุคใหม่แล้ว OKMD ยังมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยการสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ด้านการรักษาโรคต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยการพัฒนายาและวัคซีนใหม่ ๆ พัฒนาห้องแล็ปให้ทันสมัย ลดเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของรัฐและภาคครัวเรือน ทั้งนี้ TCELS เป็นหน่วยงานเดียวภายใต้ OKMD ที่มุ่งเน้นจัดการองค์ความรู้และเติมเต็มธุรกิจชีววิทยาสาตร์ตลอดจนเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวว่า นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ซึ่ง TCELS ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิจัยรหัสพันธุกรรมในมนุษย์ สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Center for Genomic Medicine, Riken) ในการศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาในคนไทยภาคต่างๆ มากกว่า 1,000 คน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้ยารักษาผู้ป่วยไทยแต่ละราย ลดความเสี่ยงต่อการแพ้ยา และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยายาบาลได้อย่างมหาศาลต่อปี รศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว คณะนักวิทยาศาสตร์ไทยจากโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ นำโดย รศ.นพ.สมนึก สังฆานุภาพ หัวหน้าโครงการฯ ได้ใช้เทคนิคการตรวจแบบลิควิด ชิฟ เพื่อวิจัยโครงการตรวจหายีนที่ทำเกิดอาการแพ้ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยโรคเอดส์ของไทย คือยา สตาวูดีน( stavudine หรือ d4T ) ผลการวิจัยของไทยประสบผลสำเร็จ โดยพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอัลลีนของยีน เอชแอลเอ- บี *4001 ( HLA-B*4001 Allele) ที่กินยาต้านไวรัสสตาวูดีน จะมีความเสี่ยงสูงที่เกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการแพ้ยาชนิดนี้ นับว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกในโลก “สำหรับยาสตาวูดีนนี้ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นหนึ่งในตัวยาต้านไวรัส สูตรรวมที่ไทยใช้รักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ซึ่งมีประมาณ 180,000 คน ด้วย ซึ่งยาดังกล่าวก่อให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาว แก้ไขไม่ได้ รวมทั้งเกิดอาการผิดปกติของระบบประสาทด้วย และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำแก่ประเทศต่างๆให้หยุดการให้ยาดังกล่าว ซึ่งการค้นพบครั้งนี้เท่ากับสามารถใช้ยาดังกล่าวได้ต่อไป เพราะเป็นยาที่ดีและต้นทุนต่ำ” รศ.ดร.วสันต์ กล่าว ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ กล่าวว่า ผลความสำเร็จงานวิจัยครั้งนี้ ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ ละได้นำเสนอในการประชุมเภสัชพันธุศาสตร์นานาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ขณะนี้กำลังทำการวิจัยขั้นสุดท้ายในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มที่สองทั่วประเทศ จำนวน 2,000คน เพื่อยืนยันว่ายีนเอชแอลเอ- บี*4001 อัลลีล ว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติ เพียงอัลลีลเดียวหรือมียีนอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้หากผลการตรวจดีเอ็นเอของผู้ป่วย พบว่ามีอัลลีลที่สัมพันธ์กับการแพ้ยา ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการแพ้ยาสูงถึงร้อยละ 60 ถึง 100 อาจก่อให้เกิดการพิการ ทุพลลภาพ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจพบยีนแพ้ยาของผู้ป่วยแต่ละราย จะเป็นผลดีต่อวงการแพทย์มาก ที่จะพิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้ยากับบุคคลผู้นั้น ผู้ป่วยจะมีความปลอดภัยจากการใช้ยามากขึ้น หากโครงการวิจัยครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ จะเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของวงการแพทย์ไทย ในการพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอันตรายการแพ้ยา รวมทั้งการรักษาโรคอื่นๆ ตามมาด้วย เทคโนโลยีการตรวจที่เรียกว่าลิควิด ชิฟ ( liquid chip หรือ bead array ) ที่ทีมวิจัยได้ใช้ทำการศึกษาในครั้งนี้นั้น สามารถตรวจความหลากหลายของอัลลีล ( Allele)ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ที่มีชื่อว่า เอชแอลเอ — บี( HLA-B) ซึ่งมีมากกว่า 1,400 อัลลีล อยู่ด้วยกันเป็นคู่ๆ บนดีเอ็นเอของแต่ละบุคคล โดยใช้ตัวอย่างเลือดผู้ป่วยเพียง 3-5 ซี.ซี.และสกัดเอาดีเอ็นเอมาตรวจ สามารถตรวจหาอัลลีนได้ถึง 100 รูปแบบในคราวเดียว (All-In-One) ต้นทุนตรวจต่ำกว่า 1,000 บาท โดยไม่รวมค่า อุปกรณ์การตรวจและค่าบริหารจัดการ ซึ่งวิธีการนี้ประหยัดกว่าวิธีการหายีนแพ้ยาด้วยวิธีการถอดรหัสพันธุกรรม หรือตรวจด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ( Real-Time PCR) ซึ่งสามารถ ตรวจอัลลีนเอชแอลเอ — บีได้ครั้งละอัลลีลเดียวเท่านั้น สำหรับผลงานการวิจัยอัลลีนในผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ภายในประเทศ ซึ่งค้นพบโดยทีมผู้วิจัยเดียวกันนี้ พบมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการแพ้ยา 4 ชนิด ซึ่งได้รายงานในวารสารวิชาการนานาชาติในเบื้องต้นไปแล้ว ได้แก่ 1. ยากันชัก ที่มีชื่อว่ายาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก ตรวจพบมีอัลลีนเอชแอลเอ-บี*1502 ( HLA-B*1502) ในผู้ป่วยร้อยละ85 ,2. ยา อลูพูรินอล (allopurinol) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ เพื่อลดกรดยูริค พบอัลลีนเอชแอลเอ- บี*5801 (HLA-B*5801) ในผู้ป่วยทุกรายหรือคิดเป็นร้อยละ 100 , 3. ยาอบาคาเวียร์ (abacavir) เป็นยาต้านเอชไอวี พบอัลลีนเอชแอลเอ-บี*5701 ( HLA-B*5701) พบในผู้ป่วยร้อยละ100 , 4. ยาเนวิราปีน (nevirapine) เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี ใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ พบอัลลีนเอชแอลเอ- บี *3505 ( HLA-B*3505 ) พบในผู้ป่วยร้อยละ 60-80 ดังนั้นหากแพทย์ท่านใดที่สนใจการตรวจแพ้ยาแบบตรวจคราวเดียวได้หลายตัวหรือออลอินวัน ( All-In-One) สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2201-1407 จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองหายีนส์การแพ้ยา ก่อนใช้ยาหรือตรวจเพื่อยืนยันบุคคลผู้นั้นมีอาการแพ้ยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026445499 tcels

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ