นักวิจัย ม.อ.พบแคลเซียมในกะปิช่วยชะลอฟันสึกกร่อน เมื่อปรุงร่วมกับอาหารรสเปรี้ยว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2010 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ นักวิชาการ ม.อ. วิจัยพบแคลเซียมในกะปิ ช่วยชะลอการสึกกร่อนของเคลือบฟัน เมื่อใช้ในการปรุงร่วมกับอาหารรสเปรี้ยวที่อุณหภูมิสูง หลังกะปิทำปฎิกริยากับความร้อน เร่งให้เกิดแคลเซียมอิ่มตัว ลดการสลายตัวของแคลเซียมในเคลือบฟันไม่ให้สลายตัวออกมา พร้อมแนะอย่าแปรงฟันทันทีหลังทานของเปรี้ยว เสี่ยงฟันสึกกร่อนเร็ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พจนรรถ เบญจกุล ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากการตั้งข้อสังเกตการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ภาคใต้พบว่า อาหารของคนภาคใต้มีส่วนทำให้ฟันสึกกร่อนมากเมื่อเทียบกับในภาคอื่น เพราะพฤติกรรมการทานอาหารที่นิยมรสเปรี้ยว ส่งผลโดยตรงกับภาวะฟันสึกกร่อน จากข้อสังเกตดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยจึงได้นำแกงส้ม ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคใต้ มาทำการทดสอบ ปรากฏว่า แม้ว่ารสชาติของอาหารจะเปรี้ยวจัด แต่เมื่อปรุงด้วยความร้อนสูง กลับพบการสึกกร่อนของฟันลดลง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า วัตถุดิบที่นำมาปรุงในแกงส้มเมื่อได้รับความร้อนจากการปรุงอาหาร อาจจะมีส่วนช่วยในการลดการสึกกร่อนของฟันได้ จึงได้นำวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารมาทดสอบ จนพบว่า กะปิที่นำมาใช้ปรุงอาหาร เมื่อได้รับความร้อนสูง จะเกิดปฎิกริยาของสารแคลเซียมที่อยู่ในกะปิ ที่สามารถช่วยชะลอการสึกกร่อนของเคลือบฟันที่เกิดจากการทำปฏิกิริยากับกรดในอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของฟันสึกกร่อน “งานวิจัยชิ้นนี้ มาจากการตั้งข้อสังเกตของผู้ป่วยที่มารักษาฟันที่โรงพยาบาล ม.อ. แล้วพบว่า มีการสึกกร่อนของฟันมากกว่าคนในภาคอื่นๆ จึงตั้งสมมติฐานว่า น่าจะมาจากพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว โดยเฉพาะแกงส้มที่เป็นอาหารพื้นบ้าน จึงได้นำวัตถุดิบที่ใช้มาทดสอบในอุณหภูมิสูง จนทราบว่า กะปิจะปล่อยสารแคลเซียมเมื่อได้รับปฏิกิริยาความร้อน หากนำกะปิมาเป็นส่วนประกอบในอาหารรสเปรี้ยว เมื่อทำให้อาหารมีความร้อนสูงขึ้น ก็ยิ่งช่วยลดการสึกกร่อนของเคลือบฟันได้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พจนรรถ กล่าว ด้านนางจรรยา ชื่นอารมณ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวถึงขั้นตอนการทดสอบว่า ได้ใช้สารละลายที่มีส่วนผสมของน้ำมะขามเป็นตัวแทนของอาหารรสเปรี้ยวกับกะปิ โดยแบ่งสารละลายออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก มีน้ำมะขามอย่างเดียว ส่วนที่ 2 น้ำมะขามใส่กะปิครึ่งหนึ่งของที่ใช้ใส่ในแกงส้มปกติ ส่วนที่ 3 น้ำมะขามใส่กะปิเท่ากับที่ใช้ใส่ในแกงส้มปกติ และ ส่วนที่ 4 น้ำมะขามใส่กะปิสองเท่าของที่ใช้ใส่ในแกงส้มปกติ และได้นำฟันจริงแช่ลงในสารละลาย วันละ 15 นาที ทำซ้ำเป็นเวลา 29 วัน พบว่ามีการสึกที่ต่างกันคือ ในสารละลายส่วนแรก ฟันสึกกร่อน 122 ไมครอน ส่วนที่ 2 ฟันสึกกร่อน 99 ไมครอน ส่วนที่ 3 ฟันสึกกร่อน 79 ไมครอน และ ส่วนที่ 4 ฟันสึกกร่อนเพียง 46 ไมครอนเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณกะปิที่นำมาใช้ทดสอบมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดการสึกกร่อนของเคลือบฟันได้ ทั้งนี้ ผู้วิจัยยังได้แนะนำผู้ชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยวว่า ถ้าแปรงฟันทันทีหลังกินของเปรี้ยวจะเร่งให้เนื้อฟันยุ่ยเพราะการสัมผัสกับกรด จะทำให้สารเคลือบฟันหลุดออกไปง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น หลังจากทานของเปรี้ยวจึงควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาฟลูออไรด์ และรอให้เวลาผ่านไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงแปรงฟัน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ฟันสึกกร่อนเร็วเกินไป เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ