สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่าย สานต่อโครงการ Productivity Facilitator มุ่งเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Friday February 19, 2010 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีเปิดและลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator) ปี 2553 ระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กับ 20 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเกียรติจากนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดโครงการ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator)” ภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตามนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพ (Productivity) ตั้งแต่ปี 2551 สำหรับปีงบประมาณ 2553 โดยสถาบันได้คัดเลือกองค์กรจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมยางแปรรูปและอื่นๆ รวม 20 องค์กร จาก 90 องค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต และยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภาพสูงขึ้น และมีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมปฏิบัติงานในยุคโลกาภิวัตน์อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และสนับสนุนการเพิ่มความรู้ ความสามารถด้านการบริหารจัดการให้แก่ผู้บริหารในสถานประกอบการ และสนับสนุนกิจกรรมสร้างเครือข่ายในภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานประกอบการ” นายจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า “นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ฝึกฝนทักษะ และสื่อสารกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงองค์กรภายในเอง แทนการพึ่งพาที่ปรึกษาจากภายนอกเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญของความเข้มแข็งที่ยั่งยืนขององค์กร คือ การมีบุคลากรที่มีความรู้ในการปรับปรุงพัฒนา และสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กร” “โดยโครงการนี้จะประกอบด้วยกิจกรรมหลักของโครงการ 3 ส่วน คือ 1. การฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแนะนำ โดยทีมวิทยากรที่ปรึกษาจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และหน่วยงานร่วม ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2. การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์รณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในรูปแบบต่างๆ และ 3. การจัดงานสัมมนาและนิทรรศการวิชาการ เพื่อเผยแพร่ผลงานและถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลงานการสร้างสรรค์สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อเพื่อการเรียนรู้ภายในองค์กร และการประกวดรางวัลผู้บริหารองค์กร นักส่งเสริม และทีมงานส่งเสริมดีเด่นอีกด้วย” นายจำลักษณ์ กล่าว ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เผยถึงผลการดำเนินโครงการในปี 2552 ว่า “ผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผลการปรับปรุงและส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ ของทั้ง 20 องค์กร ดังนี้ สามารถลดต้นทุน และมีโอกาสสร้างรายได้ถึง 119,500,000 บาท / ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพในองค์กร สูงถึง 60% จากจำนวนพนักงานในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 5,600 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร เฉลี่ยสูงถึง 89% องค์กรมีแผนการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง 100% รวมทั้งมีการขยายผลโครงการ ไปสู่กลุ่ม / สาขาของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ มีระดับความพึงพอใจของพนักงาน ต่อผลการทำกิจกรรมเฉลี่ยสูงถึง 87% อีกทั้ง พนักงานยังเห็นคุณค่าของตนเอง เกิดความภูมิใจในความสำเร็จจากผลงานการมีส่วนร่วมในการปรับปรุง มีความรู้สึกผูกพันและรักองค์กรมากขึ้น เพราะได้รับการยอมรับยกย่องชมเชยจากการมีส่วนร่วมคิดร่วมปรับปรุง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ” นอกจากพิธีเปิดโครงการ และพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ยังมีการสัมมนาในหัวข้อ “บทบาทผู้นำองค์กรกับการเพิ่มผลิตภาพ” เพื่อให้ผู้บริหารขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการทราบถึงบทบาท กรอบระยะเวลาและกิจกรรมภายใต้โครงการ พร้อมการบรรยายในหัวข้อ “Happy Workplace เพื่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน” โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน (สสส.), หัวข้อ “โครงการส่งเสริมการออมและการบริหารเงินส่วนบุคคล” โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพหลักทรัพย์ และฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ พร้อมด้วยคุณจิราพร คูสุวรรณ ที่ปรึกษา และหัวข้อ “ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพขององค์กร” โดย คุณนันทพร อังอติชาติ ผู้จัดการส่วนวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ รายชื่อ 20 องค์กรที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2553 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 1. บริษัท ดูอิท จำกัด 2. บริษัท ไทยซัมมิท มิทซูบะ อีเล็คทริค แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด 3. บริษัท ไทยรุ่งยูเนียน คาร์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท โปรดักส์ดีเวลลอปเมนท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด 6. บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 1. บริษัท บิทไว้ส์(ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ยูไนเต็ดเทคโนโลยีดีเวลลอปเมนต์ จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 1. บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด 2. บริษัท มาลีบางกอก จำกัด 3. บริษัท อาหารสากล จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เบทาโกร โฟรเซ่นฟู้ดส์ ( ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมยางแปรรูปและอื่นๆ 1. บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด 2. บริษัท พิณ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3. บริษัท นูทริกซ์ 4. บริษัท ไทย-เยอรมัน สเปเชียลตี้กลาส จำกัด 5. บริษัท ดาสโก้ จำกัด 6. บริษัท พังงาทิมเบอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด 7. บริษัท ยูเนียนเปเปอร์คารตอนส์ จำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2619-5500 แผนกประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ