สปส.แนะ ขั้นตอนพาลูกจ้างต่างด้าวขึ้นทะเบียนประกันสังคม

ข่าวทั่วไป Friday May 26, 2006 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สำนักงานประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคม แนะนายจ้างที่มีลูกจ้างต่างด้าวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นำขึ้นทะเบียนประกันสังคมภายใน 30 วันเพื่อรับสิทธิคุ้มครองทางชีวิตและสังคม รวม 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า "ตามที่กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดระบบและกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติลาว และกัมพูชา ด้วยการพิสูจน์สัญชาติและให้ได้รับเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง ตลอดจนได้รับอนุญาตทำงานในอาชีพกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน ทำให้สถานะของแรงงานต่างด้าว เปลี่ยนเป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ยกเว้นลูกจ้างของกิจการเพราะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย รวมทั้งลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล "
"ในส่วนของนายจ้างมีหน้าที่ต้องดำเนินการดังนี้คือ ให้แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างคนต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนพร้อมเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนพร้อมหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียน คือ ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หนังสือเดินทาง (Passport) หรือ เอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง"
เลขาธิการกล่าวต่อไปอีกว่า "หากลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าวไม่มีหลักฐานดังกล่าว หรือมีหลักฐานไม่ครบให้ถือว่าหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนไม่ครบถ้วน และไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวอาชีพผู้รับใช้ในบ้าน แม้ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทางตลอดจนได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน หากเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย (ลูกจ้างที่ทำงานรับใช้ส่วนตัวในบ้าน) ไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ทั้งนี้ นายจ้างสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดและขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ณ ท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 "
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th สายด่วน 1506

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ